อเลนโดรเนต (Alendronate)
Alendronate (อเลนโดรเนต) คือ ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต ใช้รักษาและป้องกันภาวะกระดูกพรุนในผู้ใหญ่ โดยยาจะชะลอการสูญเสียมวลกระดูก และอาจใช้รักษาโรคพาเจท (Paget's Disease) ซึ่งเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการฟื้นฟูของกระดูก ทำให้กระดูกไม่แข็งแรงหรือผิดรูป และอาจใช้รักษาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Alendronate
กลุ่มยา | ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต |
ประเภทยา |
ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาและป้องกันภาวะกระดูกพรุน |
กลุ่มผู้ป่วย |
ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
คำเตือนในการใช้ยา Alendronate
- ผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้หรือยาชนิดอื่น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยานี้
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหาร ฟัน กระเพาะอาหารและทางเดินอาหาร โรคตับ หรือมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
- หากจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังรับประทานยาชนิดนี้ รวมไปถึงยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อมาใช้เอง หรือสมุนไพรอื่น ๆ
- สตรีมีครรภ์ ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร หรือผู้ที่วางแผนจะมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยานี้
- ไม่ควรให้เด็กรับประทานยา Alendronate เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เป็นไข้ มีอาการคล้ายหวัด อาเจียน เป็นต้น
- หากกำลังรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยานี้ เพราะยาแบบเม็ดฟู่มีโซเดียมในปริมาณมาก
- แม้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่การรับประทานยา Alendronate ติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิดภาวะกระดูกขากรรไกรตายได้ ซึ่งจะมีอาการชาหรือปวดบริเวณขากรรไกร เหงือกบวมแดง ฟันผุ หรือแผลจากการรักษาทางทันตกรรมจะหายช้าลง โดยผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับฟัน มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นโรคโลหิตจาง โรคมะเร็ง กำลังรักษาด้วยเคมีบำบัด การฉายรังสี หรือการใช้สเตียรอยด์ จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกขากรรไกรตายมากขึ้น
ปริมาณในการใช้ยา Alendronate
ปริมาณในการใช้ยาชนิดนี้จะแตกต่างกันไปตามโรคที่ใช้รักษาและดุลยพินิจของแพทย์ โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
รักษาโรคกระดูกพรุน
- รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือ 70 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง
- หากโรคกระดูกพรุนเป็นผลมาจากการใช้ยากลูโคคอร์ติคอยด์ ให้รับประทานยานี้ปริมาณ 5 มิลลิกรัม วันละครั้ง
- สำหรับเพศหญิงที่หมดประจำเดือนและไม่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน ให้รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง
ป้องกันโรคกระดูกพรุน
รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือ 35 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง
รักษาโรคพาเจท
รับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง โดยรับประทานต่อเนื่องนาน 6 เดือน
การใช้ยา Alendronate
- ปฎิบัติตามวิธีใช้และรับประทานยาในปริมาณที่กำหนดบนฉลากยาหรือตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หากใช้ยาชนิดอื่นอยู่หรือเคยใช้ยาชนิดอื่นมาก่อน เช่น ยาแก้ปวด ยาในกลุ่มเอ็นเสด เป็นต้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
- หากเป็นยาเม็ด ควรรับประทานกับน้ำเปล่าโดยกลืนทั้งเม็ด ไม่กัดหรือเคี้ยวยา
- หากเป็นยาแบบเม็ดฟู่ ควรละลายยาลงในแก้วน้ำทิ้งไว้ 5 นาทีแล้วดื่มให้หมดแก้ว อาจดื่มน้ำเปล่าตามเล็กน้อย และไม่ควรแกะยาออกจากฟอยล์หากยังไม่รับประทาน
- หากรับประทานยาไปแล้วยังไม่ครบ 2 ชั่วโมง ห้ามรับประทานอาหารบางชนิด เช่น น้ำแร่ โซดา ชา กาแฟ ธาตุเหล็ก วิตามิน แคลเซียม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแคลเซียม เป็นต้น เพราะทำให้ร่างกายดูดซึมยาได้น้อยลง
- ห้ามรับประทานยาช่วงก่อนนอนหรือก่อนจะเช้า เพราะร่างกายอาจไม่ดูดซึมยาและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้
- ไม่ควรนอนหรือเอนตัวลงทันทีหลังจากรับประทานยา แต่ควรรอประมาณ 30 นาที เพราะยาชนิดนี้อาจมีผลกระทบกับหลอดอาหาร
- ห้ามรับประทานยาชนิดนี้ร่วมกับยาชนิดอื่น แต่ควรรับประทานยาชนิดอื่นหลังจากรับประทานยานี้ไปแล้วอย่างน้อย 30 นาที
- ไม่รับประทานยาของผู้อื่นและไม่ให้ผู้อื่นใช้ยาของตน
- ควรรับประทานยาในช่วงเช้าขณะที่ท้องว่างในเวลาเดิมทุกวัน เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา
- ระยะเวลาในการรับประทานยาขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
- ไม่ควรสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ และควรเลิกพฤติกรรมดังกล่าวหากสามารถทำได้
- ไม่ควรลด เพิ่มปริมาณ หรือหยุดใช้ยาด้วยตัวเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- หากลืมรับประทานยาแบบรายวัน ให้ข้ามการรับประทานยาในวันนั้นไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาในวันถัดไป
- หากลืมรับประทานยาแบบรายอาทิตย์ ให้รับประทานยาในเช้าวันถัดไป หลังจากนั้นให้รับประทานยาตามกำหนดการเดิม
- การรับประทานยาอาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการรักษาเท่านั้น ผู้ป่วยอาจต้องควบคุมอาหาร รับการตรวจร่างกาย หรือรับประทานยาชนิดอื่นร่วมด้วย ดังนั้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ
- เก็บยาในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน ความชื้น เด็กและสัตว์เลี้ยง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Alendronate
การรับประทานยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยมีตัวอย่างผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น อาการเจ็บหน้าอก แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องผูก ท้องร่วง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก หรือปวดตามข้อต่อ เป็นต้น
ทั้งนี้ หากอาการข้างเคียงต่าง ๆ ไม่ดีขึ้น ผ่านไปนานแล้วอาการยังไม่หายไป หรือเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ เช่น มีผื่นขึ้นตามตัว คัน ไอ หายใจลำบาก หน้าบวม ปากบวม คอบวม เป็นต้น
- มีอาการของภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เช่น กล้ามเนื้อกระตุกหรือหดตัว มีอาการชาหรือเสียวซ่าบริเวณปาก นิ้วมือ หรือนิ้วเท้า เป็นต้น
- เจ็บหน้าอก แสบร้อนกลางอกหรือช่องท้องส่วนบนอย่างรุนแรง ไอแบบมีเลือดปน
- รู้สึกปวดขณะกลืนอาหาร กลืนลำบาก
- ปวดหัว ปวดหู ปวดบวมหรือมีอาการบริเวณกราม
- ปวดบริเวณซี่โครง
- ปวดต้นขาหรือเอวแบบผิดปกติ
นอกจากนี้ หากเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรไปปรึกษาแพทย์เช่นกัน