ความหมาย โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata)
Alopecia Areata หรือโรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นโรคที่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายต่อมรากผมจนทำให้ผมร่วง โดยอาการอาจเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น คิ้ว ขนตา หนวดเครา หรือขนรักแร้ เป็นต้น โรคนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักเกิดกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี ซึ่งปริมาณผมหรือขนที่ร่วงและที่งอกขึ้นมาใหม่ของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นจะแตกต่างกันออกไป และในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่ก็มีการรักษาที่ช่วยให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ได้เร็วและป้องกันการหลุดร่วงในอนาคต
อาการของโรคผมร่วงเป็นหย่อม
ผู้ป่วยโรค Alopecia Areata จะมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ โดยทั่วไปบริเวณที่ผมร่วงจะมีลักษณะเป็นวงกลมเท่าเหรียญขนาดใหญ่ อาจมีอาการคันหรือมีผื่นแดงขึ้นบริเวณที่ผมร่วงด้วยแต่ก็พบได้น้อย หรืออาจมีขนร่วงตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ขนตา คิ้ว หนวดเครา หรือขนตามแขนขา เป็นต้น
ทั้งนี้ ขนและผมที่ร่วงนั้นจะงอกขึ้นใหม่ได้เองภายใน 3-4 เดือน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่งอกกลับขึ้นมาอีกเลย ทั้งนี้ อาการผมร่วงเป็นหย่อมอาจหายไปและกลับมาเป็นได้อีก ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและไม่สามารถคาดเดาการเกิดได้ นอกจากผมร่วงเป็นหย่อมแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการผมร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia Totalis) หรือเส้นขนตามร่างกายหลุดร่วงไปทั้งหมดด้วย (Alopecia Universalis)
นอกจากนี้ โรค Alopecia Areata อาจทำให้เกิดอาการที่เล็บได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ซึ่งเล็บจะมีความผิดปกติ เช่น เล็บขรุขระ เล็บเปราะ หรือมีจุดแดงบริเวณโคนเล็บ เป็นต้น
สาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อม
โรค Alopecia Areata อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยความผิดปกตินี้อาจสร้างความเสียหายต่อรูขุมขน จนทำให้รูขุมขนมีขนาดเล็กลงและไม่สามารถผลิตเส้นผมขึ้นมาได้ จึงเกิดเป็นอาการผมร่วง ซึ่งโรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกช่วงวัย
แม้สาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้ เช่น
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม อย่างกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
- มีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคนี้ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเบาหวานประเภทที่ 1 โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ โรคด่างขาว โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือภาวะลำไส้เป็นแผล (Ulcerative Colitis) เป็นต้น
- การเจ็บป่วยอื่น ๆ อย่างการติดเชื้อไวรัส
- การได้รับยาบางชนิด
- ความเครียด
การวินิจฉัยโรคผมร่วงเป็นหย่อม
แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการของโรคนี้ได้โดยตรวจดูหนังศีรษะตรงที่ผมร่วง และตัวอย่างเส้นผมในบริเวณที่เกิดอาการ รวมทั้งอาจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ด้วยวิธีการ ดังนี้
- ตรวจชิ้นเนื้อหนังศีรษะ โดยนำตัวอย่างผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการไปตรวจด้วยกล้องจุลทัศน์ เพื่อหาสาเหตุของอาการผมร่วง
- ตรวจเลือด แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ โดยวิธีนี้สามารถบอกได้ถึงปริมาณสารต่าง ๆ ที่อยู่ภายในเลือด เช่น ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ปริมาณโปรตีนที่บ่งชี้การอักเสบ และปริมาณธาตุเหล็ก เป็นต้น
การรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม
ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาโรค Alopecia Areata ได้ แต่เบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้รอผมงอกขึ้นมาใหม่เอง ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน เพราะปกติแล้วผมของผู้ป่วยจะงอกกลับขึ้นมาใหม่ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา อีกทั้งโรคนี้ไม่มีอันตรายต่อร่างกายของผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม มีบางวิธีที่ช่วยให้ผมที่ร่วงไปงอกกลับขึ้นมาใหม่เร็วกว่าวิธีตามธรรมชาติ ดังนี้
- การใช้สเตียรอยด์
สเตียรอยด์จะยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างความเสียหายแก่รูขุมขน และทำให้เส้นผมสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งการใช้สเตียรอยด์มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบฉีดซึ่งได้ผลดีในกรณีที่ผมร่วงเป็นบริเวณไม่กว้างนัก และแบบทาซึ่งเห็นผลช้า และอาจต้องใช้เวลา 3-6 เดือน โดยการใช้ยาชนิดนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ - การใช้ยาปลูกผม
การรักษาด้วยวิธีการนี้มีโอกาสสำเร็จน้อย โดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจึงจะเริ่มเห็นผล แต่หากใช้ยาปลูกผมมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ควรหยุดใช้ยาและใช้วิธีอื่นรักษาแทน - การทำภูมิคุ้มกันบำบัด
การทำภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นการให้สารที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ที่ผิวหนังลงบนบริเวณที่ผมร่วง เพื่อทำให้เกิดการอักเสบที่จะนำไปสู่การกระตุ้นให้ผมกลับมางอกขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง แต่วิธีการนี้มีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดโรคผิวหนังชนิดอื่นตามมาได้ - วิธีการอื่น ๆ
ผู้ป่วยอาจรับประทานอาหารเสริมจำพวกวิตามินหรือสมุนไพร รักษาโดยใช้น้ำมันหอมระเหยจากพืช หรือรับการฝังเข็ม ซึ่งอาจช่วยให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาทางเลือกเหล่านี้ยังไม่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์ว่าจะช่วยรักษาอาการผมร่วงหรือทำให้อาการดีขึ้นได้ ดังนั้น หากต้องการใช้การรักษาทางเลือกใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคผมร่วงเป็นหย่อม
โรค Alopecia Areata อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนี้
- อาการทางร่างกาย ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเป็นโรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ โรคด่างขาว หรือโรคโลหิตจาง เป็นต้น
- อาการทางจิตใจ ผู้ป่วยอาจเกิดความเครียด รู้สึกแปลกแยก หรืออาจเป็นโรคซึมเศร้าได้
การป้องกันโรคผมร่วงเป็นหย่อม
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดป้องกันโรค Alopecia Areata ได้ แต่สามารถรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นและทำให้ผมงอกกลับมาใหม่ให้เร็วที่สุด โดยผู้ป่วยควรดูแลตนเองและป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมา รวมทั้งคนทั่วไปก็อาจหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคนี้ เช่น
- ผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคได้
- เลือกรับประทานอาหารที่มีสารบำรุงเส้นผม เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และธาตุสังกะสี เป็นต้น
- ใส่วิก สวมหมวก หรือทาครีมกันแดดบริเวณหนังศีรษะที่เกิดอาการ เพื่อป้องกันแสงแดดทำอันตรายต่อหนังศีรษะ
- สวมแว่นกันแดดในกรณีที่โรคนี้ส่งผลให้ขนตาร่วง เพราะอาจมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาได้เนื่องจากไม่มีขนตาคอยป้องกัน