Amikacin (อะมิคาซิน)

Amikacin (อะมิคาซิน)

Amikacin (อะมิคาซิน) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) มีกลไกการออกฤทธิ์โดยช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาหรือป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบขั้นรุนแรง และการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะชนิดไม่ซับซ้อน หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Amikacin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

Amikacin

เกี่ยวกับยา Amikacin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันหรือรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด

คำเตือนในการใช้ยา Amikacin

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยมีประวัติแพ้ซัลไฟต์ เพราะยาชนิดนี้ในบางรูปแบบอาจมีซัลไฟต์เป็นส่วนประกอบ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือยามีประสิทธิภาพลดลง เช่น ยาแอมโฟเทอริซินบี ยาไซโดโฟเวียร์ ยาซิสพลาติน เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่ง
  • ห้ามใช้ยาติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
  • ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ให้ใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงสูง
  • ในการใช้ยานี้กับเด็กแรกเกิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาและใช้ยาอย่างระมัดระวัง
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้ เพราะยาอาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์และทารกที่ได้รับน้ำนมที่อาจปนเปื้อนตัวยาจากมารดา และหากตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

ปริมาณการใช้ยา Amikacin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะชนิดไม่ซับซ้อน
ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 7.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งใช้วันละ 2 ครั้ง โดยฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำช้า ๆ เป็นเวลา 2-3 นาที หรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 30-60 นาที

การติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบขั้นรุนแรง
ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งฉีดวันละ 1 หรือ 2 ครั้ง โดยฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำเป็นเวลา 2-3 นาที หรือหยดยาเข้าหลอดเลือดดำเป็นเวลา 30-60 นาที ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1.5 กรัม/วัน ใช้ยาเป็นระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน
เด็กแรกเกิด ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตามด้วยยาปริมาณ 7.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
ทารกคลอดก่อนกำหนด ฉีดยาปริมาณ 7.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
เด็กอายุ 4 สัปดาห์-12 ปี ฉีดยาปริมาณ 15-20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งฉีดวันละ 1 หรือ 2 ครั้ง โดยอาจฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำเป็นเวลา 3-5 นาที หรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง

การใช้ยา Amikacin

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรดื่มน้ำเปล่าให้มาก นอกจากแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำน้อย
  • ระหว่างใช้ยา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเลือดเป็นระยะ
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ควรปรึกษาแพทย์
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีเก็บยาและวิธีกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Amikacin

การใช้ยา Amikacin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร หรือมีอาการเจ็บ แดง ระคายเคืองบริเวณที่ฉีดยา หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Amikacin ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง พุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดังหวีด มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • ไตทำงานผิดปกติ ทำให้มีอาการ เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปริมาณของปัสสาวะเปลี่ยนแปลง ปัสสาวะปนเลือด น้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก เป็นต้น
  • สับสน
  • เวียนศีรษะหรือหมดสติ
  • การทรงตัวผิดปกติ
  • การได้ยินเปลี่ยนแปลง มีเสียงดังในหู สูญเสียการได้ยิน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีอาการแสบหรือชาตามร่างกายผิดปกติ
  • มีอาการกระตุก ชัก
  • อ่อนเพลียหรือเหนื่อยมาก
  • มีปัญหาในการหายใจ หายใจช้าผิดปกติ หรือหายใจไม่อิ่ม
  • มีอาการท้องเสียเนื่องจากติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile-Associated Diarrhea: CDAD) ซึ่งเกิดจากการใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป อาจทำให้มีอาการปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง ถ่ายเหลวมาก ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นเลือด

นอกจากนี้ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ