Aminophylline (อะมิโนฟิลลีน)
Aminophylline (อะมิโนฟิลลีน) เป็นยาสำหรับรักษาโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และภาวะหลอดลมหดเกร็ง ออกฤทธิ์โดยช่วยคลายและขยายทางเดินอากาศภายในปอด ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อาจนำมาใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
ยา Aminophylline มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Aminophylline
กลุ่มยา | ยารักษาโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และภาวะหลอดลมหดเกร็ง |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาภาวะหลอดลมหดเกร็ง |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ |
รูปแบบของยา | ยาฉีด ยารับประทาน |
คำเตือนในการใช้ยา Aminophylline
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือยามีประสิทธิภาพลดลง
- แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
- การใช้ยานี้อาจทำให้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการบางชนิดคลาดเคลื่อน ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้
- ระหว่างที่ใช้ยานี้้ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่ง
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องเฝ้าดูระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด
- ผู้ป่วยควรจำกัดการบริโภคคาเฟอีนและช็อกโกแลตในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะการรับประทานร่วมกันอาจทำให้เกิดอาการประหม่า สั่น และหัวใจเต้นเร็ว
- หากต้องการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- หากหยุดสูบบุหรี่ในระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนปริมาณการใช้ยา
- หากมีอาการป่วยใด ๆ หรืออาการแย่ลงระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรปรึกษาแพทย์
- เด็กและผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ และใช้ยาอย่างระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงมากกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้
ปริมาณการใช้ยา Aminophylline
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
ภาวะหลอดลมหดเกร็งรุนแรงระยะเฉียบพลัน
ผู้ใหญ่ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้ยาทีโอฟิลลีน ให้ฉีดยานี้เข้าทางหลอดเลือดดำในปริมาณเริ่มต้น 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 250-500 มิลลิกรัม โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดช้า ๆ หรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดเป็นเวลา 20-30 นาที ปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 25 มิลลิกรัม/นาที
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาทีโอฟิลลีน ปริมาณยาเริ่มต้นจะเลื่อนไปจนกว่าระดับของยาทีโอฟิลลีนจะอยู่ในปริมาณที่กำหนด หรือหากจำเป็น ให้ฉีดยาปริมาณ 3.1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกกรัม
เด็ก ฉีดยาปริมาณเริ่มต้นเท่ากันกับผู้ใหญ่
ปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ เด็กอายุ 6 เดือน-9 ปี ฉีดยาปริมาณ 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง เด็กอายุ 10-16 ปี ฉีดยาปริมาณ 0.8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง
ผู้สูงอายุ ปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ 0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง
ภาวะหลอดลมหดเกร็งเรื้อรัง
ผู้ใหญ่ รับประทานยา Aminophylline Hydrate ชนิดออกฤทธิ์นาน ปริมาณเริ่มต้น 225-450 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง และเพิ่มปริมาณยาตามความเหมาะสม
เด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม รับประทานยา Aminophylline Hydrate ชนิดออกฤทธิ์นาน ปริมาณเริ่มต้น 225 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เพิ่มปริมาณจนถึง 450 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังผ่านไป 1 สัปดาห์ ตามความเหมาะสม
ผู้สูงอายุ อาจต้องลดปริมาณยา
การใช้ยา Aminophylline
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
- หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที และหากลืมใช้ยาให้ปรึกษาแพทย์
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีเก็บยาและวิธีกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Aminophylline
การใช้ยา Aminophylline อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ประหม่า ตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์
หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Aminophylline ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง พุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำให้เกิดอาการสับสน ง่วงนอน กระหายน้ำมาก หิวมาก ปัสสาวะบ่อย ผิวแดง หัวใจเต้นแรง และลมหายใจมีกลิ่นหวานคล้ายผลไม้
- ระดับโพแทสเซียมในร่างกายต่ำ อาจมีอาการ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว หรือหัวใจเต้นผิดปกติ
- หายใจเร็ว
- เวียนศีรษะรุนแรง หมดสติ
- ประหม่าและตื่นเต้นง่ายมาก
- มีอาการสับสน
- ชัก สั่น
- อาเจียน ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง ท้องผูก
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง