Amitriptyline (อะมิทริปไทลีน)

Amitriptyline (อะมิทริปไทลีน)

Amitriptyline (อะมิทริปไทลีน) เป็นยาใช้รักษาอาการจากโรคซึมเศร้า โดยจัดเป็นยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressant) ทำงานโดยปรับปริมาณสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลกันซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้าให้กลับมาเป็นปกติ นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้ยานี้ในการรักษาผู้ป่วยภาวะปลายประสาทอักเสบ อาการปวดประสาท และป้องกันอาการปวดไมเกรนด้วย

Amitriptyline

เกี่ยวกับยา Amitriptyline

กลุ่มยา ยาต้านโรคซึมเศร้า (Antidepressant)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการจากโรคซึมเศร้า โรคปลายประสาทอักเสบ อาการปวดไมเกรน และอาการปัสสาวะรดที่นอนในเด็ก
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตรจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา และยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก สตรีที่ให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน
รูปแบบของยา ยาเม็ด

คำเตือนการใช้ยา Amitriptyline

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการบริโภค ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • ผู้ที่มีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ควรรับประทานยานี้
  • ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ ต้อหิน โรคเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ เบาหวาน โรคไบโพลาร์ โรคทางจิต โรคหลอดเลือดในสมอง โรคลมชัก ควรสอบถามแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ผู้ที่เพิ่งใช้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์เอ็มเอโอ (MAO Inhibitors) เช่น ลีเนโซลิด (Linezolid) เซเลจิลีน (Selegiline) ต้องรอให้ครบ 14 วันก่อนจึงจะเริ่มใช้ยานี้ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากเคยใช้ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRI) เช่น ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ซิตาโลแพรม (Citalopram) ฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) เอสซิทาโลแพรม (Escitalopram) หรือพาร็อกซีทีน (Paroxetine) ภายใน 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา
  • ผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้มีอายุน้อยกว่า 24 ปี อาจเกิดความคิดฆ่าตัวตายเมื่อเริ่มใช้ยาต้านซึมเศร้า ญาติและคนใกล้ชิดควรเฝ้าดูแลเป็นพิเศษ
  • ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีรับประทานยา Amitriptyline
  • เก็บรักษายาในที่ปลอดจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด

ปริมาณการใช้ยา Amitriptyline

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับโรคและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

อาการปัสสาวะรดที่นอน

ปริมาณการใช้ยาในเด็กอายุ 6–10 ปี  รับประทานครั้งละ 10–20 มิลลิกรัม เด็กอายุ 11–16 ปี รับประทานครั้งละ 25–50 มิลลิกรัมก่อนนอน โดยไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3 เดือน

ภาวะซึมเศร้า

ปริมาณการใช้ยาในผู้ใหญ่ เริ่มจากการรับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มปริมาณครั้งละ 25 มิลลิกรัม รับประทานวันเว้นวัน ทั้งนี้ เพิ่มปริมาณยาขึ้นเรื่อย ๆ ได้ถึง 150 มิลลิกรัมต่อวันโดยอาจแบ่งรับประทานมากกว่าวันละหนึ่งครั้ง หรืออาจเริ่มจากการรับประทานครั้งละ 50–100 มิลลิกรัมก่อนนอน และเพิ่มปริมาณครั้งละ 25–50 มิลลิกรัม โดยอาจเพิ่มปริมาณยาขึ้นเรื่อย ๆ ได้ถึง 150 มิลลิกรัมต่อวัน 

ปริมาณการใช้ยาในผู้สูงอายุ รับประทานวันละ 10–25 มิลลิกรัมในตอนเย็น โดยอาจค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาได้ถึง 100–150 มิลลิกรัมต่อวัน ขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วย และควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังหากจำเป็นต้องใช้ยานี้ในปริมาณที่มากกว่า 100 มิลลิกรัม

อาการปวดประสาทและป้องกันไมเกรน

ปริมาณการใช้ยาในผู้ใหญ่ เริ่มจากการรับประทานครั้งละ 10–25 มิลลิกรัมในตอนเย็น โดยอาจค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาครั้งละ 10–25 มิลลิกรัม ทุก 3–7 วันเมื่อร่างกายผู้ป่วยรับได้

ทั้งนี้ ปริมาณที่แนะนำในการรับประทานคือ 25–75 มิลลิกรัมต่อวันในตอนเย็น แพทย์อาจให้แบ่งรับประทานมากกว่าวันละครั้งหากผู้ป่วยต้องรับประทานมากกว่า 75 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาในขนาดที่สูงกว่า 100 มิลลิกรัม ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง

ปริมาณการใช้ยาในผู้สูงอายุ เริ่มจากการรับประทานครั้งละ 10–25 มิลลิกรัมในตอนเย็น และอาจค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นทีละน้อยตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย หากจำเป็นต้องใช้ยานี้ในปริมาณที่ 75 มิลลิกรัม ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง

การใช้ยา Amitriptyline

วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้

  • รับประทานตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
  • การรับประทานยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดอาการชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึมลง สับสน หมดสติ หรืออาการโคม่า และสามารถทำให้เสียชีวิตได้
  • สามารถรับประทานได้ทั้งระหว่างมื้ออาหารและขณะท้องว่าง
  • ยานี้อาจต้องใช้ระยะเวลานานถึง 4 สัปดาห์จึงจะเห็นผล ให้ผู้ป่วยใช้ยาต่อเนื่องจนครบกำหนด และแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • ห้ามหยุดรับประทานทันที ควรสอบถามแพทย์ถึงวิธีการหยุดยาอย่างปลอดภัย
  • ผู้ที่กำลังใช้ยานี้และต้องเข้ารับการผ่าตัดควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้า เพราะอาจต้องหยุดใช้ยานี้สักพัก
  • ผู้ที่กำลังใช้ยานี้ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขับรถ และทำงานที่ใช้เครื่องจักร เนื่องจากยานี้ทำให้ง่วงนอนและอาจทำให้เกิดอันตราย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด เพราะยานี้อาจทำให้ผิวไหม้แดดได้ง่าย ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไปก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยา Amitriptyline ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพราะยานี้อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด

ปฏิกิริยาระหว่าง Amitriptyline กับยาอื่น 

Amitriptyline เช่น ยาต้านเศร้า ยาแก้หวัดและภูมิแพ้ ยาแก้เมารถ ยารักษาโรคพาร์กินสัน หอบหืด ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder) โรคลำไส้แปรปรวน โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ

เนื่องจาก Amitriptyline อาจทำให้ง่วงนอน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาอื่นที่อาจทำให้ง่วงนอนเช่นกัน  เช่น ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และชัก รวมทั้งยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) เช่น ยาโคเดอีน (Codeine) มอร์ฟีน และยาออกซิโคโดน (Oxycodone)

ตัวอย่างยาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับ Amitriptyline หากกำลังจะเริ่มใช้ยาหรือใช้ยาใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Amitriptyline

อาการข้างเคียงจากยาที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ ปวดศีรษะ ท้องผูก ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน การรับรสผิดปกติ เจ็บช่องปาก ปากแห้ง อยากอาหาร น้ำหนักเพิ่ม คัดหน้าอก ผื่น คัน ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ความต้องการทางเพศน้อยลงหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ง่วงนอน และอ่อนเพลีย

หากมีอาการต่อไปนี้ให้ไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ และใบหน้าบวม หายใจลำบาก และเกิดลมพิษ
  • อาการบ่งบอกปัญหาที่ตับ เช่น ผิวหนังและตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม
  • เวียนศีรษะ หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม
  • หัวใจเต้นตุบ ๆ รู้สึกหวิวในอก รู้สึกใจสั่น
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก ลามไปยังขากรรไกรและหัวไหล่ คลื่นไส้ เหงื่อออกมาก
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน เป็นไข้ หนาวสั่น ชัก
  • ปวดตา รอบดวงตาบวมแดง และการมองเห็นเปลี่ยนไป 
  • เจ็บคอและช่องปาก เหงือกบวมแดง เจ็บเวลากลืนน้ำลาย
  • ปัสสาวะไม่ออกจนมีอาการปวดท้อง และท้องผูกอย่างรุนแรง
  • มีอาการฟกช้ำง่าย และมีเลือดออกผิดปกติ
  • มีอาการสับสน เกิดภาพหลอน มีพฤติกรรมหรือความคิดผิดปกติจากเดิม และมีความคิดทำร้ายตัวเอง