ความหมาย แอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis)
Anaphylaxis (แอแนฟิแล็กซิส) คือปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลันเมื่อร่างกายได้รับสารกระตุ้นบางอย่าง เช่น อาหารหรือยาบางชนิด แมลงกัดต่อย หรือสารอื่น ๆ เนื่องจากระบบภูมิต้านทานของบุคคลนั้นไวต่อสารกระตุ้นดังกล่าวมากกว่าคนปกติ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายพร้อมกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่ภาวะช็อกและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการของแอแนฟิแล็กซิส
Anaphylaxis เป็นอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่สุดและเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการที่เกิดขึ้นได้ มีดังนี้
- เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ มีอาการคัน ผิวหนังแดงหรือซีด
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
- คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย
- ความดันโลหิตลดต่ำลง
- ลิ้น ปาก หรือคอบวม หายใจติดขัดและอาจมีเสียงดังหวีด ๆ
- รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในลำคอ กลืนลำบาก
- แน่นหน้าอก ใจสั่น
- ชีพจรอ่อน หัวใจเต้นเร็ว
- ไอ จาม น้ำมูกไหล
- รู้สึกปวดคล้ายเข็มทิ่มตามมือ เท้า ปาก หรือหนังศีรษะ
- พูดไม่ชัด ตะกุกตะกัก
- บางรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจเสี่ยงต่อภาวะช็อก ซึ่งสังเกตได้จากอาการหายใจลำบาก ไม่มีแรง ชีพจรเต้นถี่และเบา มีอาการสับสน มึนงง หรือหมดสติ
อาการข้างต้นมักเกิดขึ้นพร้อมกันและกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ส่วนใหญ่จะเกิดหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ภายในไม่กี่นาที แต่บางครั้งอาจนานเป็นชั่วโมง หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis ควรพาไปพบแพทย์ทันที เพราะเป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แม้กระทั่งในรายที่แพทย์สั่งให้พกยาอิพิเนฟริน (Epinephrine)สำหรับฉีดลดอาการแพ้ และมีอาการดีขึ้นหลังฉีดยาแล้วก็ตาม
สาเหตุของแอแนฟิแล็กซิส
โดยทั่วไปร่างกายมีกลไกป้องกันสิ่งแปลกปลอมด้วยการสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี เพื่อช่วยกำจัดสารต่าง ๆ ที่คาดว่าเป็นอันตราย จากนั้นเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะตอบสนองด้วยการหลั่งสารฮิสตามีนและสารเคมีตัวอื่น ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้หรืออาการแพ้ตามมา แต่ระบบภูมิคุ้มกันของบางคนนั้นไวต่อสารเหล่านี้มากกว่าคนอื่น จึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรงแบบ Anaphylaxis นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สภาพร่างกายของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ทำให้มีอาการแพ้สิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันไปด้วย สิ่งกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis ที่พบได้ มีดังนี้
- แพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว อาหารทะเล นม ผลไม้ ธัญพืช เป็นต้น
- แพ้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแอสไพริน ยาแก้ปวด ยากลุ่มเอ็นเสด ยากันชัก รวมไปถึงสารหรือยาที่ฉีดเข้าทางเส้นเลือดก่อนการเอกซเรย์บางชนิด
- แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ผึ้ง ตัวต่อ แตน มดคันไฟ
- ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยางของพืช เช่น ถุงมือยาง ถุงยาง ลูกโป่ง เป็นต้น
- สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้น้อย เช่น แพ้เหงื่อจากการออกกำลังกาย อาการแพ้เมื่อออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อน หนาว หรือชื้น ละอองเกสรดอกไม้ สารกันบูดในอาหาร เป็นต้น
ปฏิกิริยาการแพ้แบบ Anaphylaxis ในเด็กมีสาเหตุมาจากการแพ้อาหารเป็นหลัก ส่วนในผู้ใหญ่มักเกิดจากการแพ้ยาและสาเหตุอื่น ๆ ต่างกันออกไป และมีบางรายที่แพทย์อาจตรวจไม่พบสาเหตุ ทั้งนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงเกิดปฏิกิริยาแพ้ชนิดนี้ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้คนในครอบครัวหรือตนเองเคยมีปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis ผู้ป่วยโรคหืดหอบ หรือโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว
การวินิจฉัยแอแนฟิแล็กซิส
แพทย์จะต้องวินิจฉัยและให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis โดยเร็ว เพราะการรักษาที่ล่าช้าอาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อกและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยในเบื้องต้นจะซักประวัติและตรวจดูอาการผิดปกติ แพทย์อาจสอบถามถึงรายละเอียดก่อนเกิดอาการแพ้ เช่น การสัมผัสสารที่อาจก่อการแพ้หรืออาหารที่กิน ความรุนแรงของอาการแพ้ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงประวัติการแพ้ยา อาหาร และสารอื่น ๆ เพื่อประเมินสาเหตุของอาการแพ้
ส่วนใหญ่การวินิจฉัยจะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยในขณะที่เกิดปฏิกิริยาแพ้เป็นหลัก แต่เพื่อยืนยันว่าอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากภาวะอื่นที่อาจคล้ายคลึงกัน แพทย์อาจใช้วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น
- การเจาะเลือดตรวจวัดระดับเอนไซม์ Tryptase ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ชั่วโมง หลังได้รับสารก่ออาการแพ้อย่างรุนแรง
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือการตรวจเลือดเพื่อระบุสิ่งกระตุ้นที่เป็นตัวทำให้เกิดอาการแพ้
การรักษาแอแนฟิแล็กซิส
หากสงสัยว่าตนเองอาจเกิดปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ส่วนผู้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้หรือมีอาการแพ้รุนแรงควรใช้ยาภายใต้คำสั่งของแพทย์และรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการ ทั้งนี้ แนวทางในการรักษาหลังเกิดปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการรักษาโดยแพทย์
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เมื่อเริ่มมีอาการเข้าข่ายการแพ้แบบ Anaphylaxis ควรทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ผู้ป่วยที่หายใจลำบากแต่ยังรู้สึกตัวดี ควรพยุงให้นั่งบนเก้าอี้ หากมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม ควรให้นอนราบกับพื้นและยกเท้าสูง
- ตรวจดูชีพจรและการหายใจ หากผู้ป่วยหมดสติ ไม่มีการตอบสนอง หรือหยุดหายใจ ควรได้รับการปั๊มหัวใจแต่ต้องทำโดยผู้ที่ผ่านการฝึกฝนมาเท่านั้น หรือให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามอาการ
- สำหรับผู้ป่วยที่ทราบว่าตนเองมีอาการแพ้และมียาอิพิเนฟรินติดตัว ให้ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อผู้ป่วย
- รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
การรักษาโดยแพทย์
การรักษาหลักยังคงเป็นการใช้ยาอิพิเนฟริน ร่วมกับประเมินอาการของผู้ป่วยตามหลัก ABC ส่วนวิธีรักษาอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับอาการแพ้และการตอบสนองของผู้ป่วย
-
ขั้นแรก แพทย์จะให้ยาอิพิเนฟรินแก่ผู้ป่วย ซึ่งปกติจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นขา และประเมินอาการของผู้ป่วยตามหลัก ABC ดังนี้
- ประเมินทางเดินหายใจ (A: Airway) แพทย์จะตรวจทางเดินหายใจของผู้ป่วยให้โล่งโดยขจัดสิ่งที่อาจกีดขวางทางเดินหายใจ เช่น สิ่งแปลกปลอม อาหาร หรือน้ำที่อยู่ในปากออก รวมทั้งตรวจดูความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย บางกรณีอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจทันทีหากประเมินแล้วพบว่ามีภาวะทางเดินหายใจอุดตัน
- ประเมินการหายใจ (B: Breathing) เป็นการตรวจดูการหายใจของผู้ป่วยว่ามีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ บางรายอาจต้องได้รับออกซิเจนผ่านทางหน้ากากหรือเครื่องช่วยหายใจ
- ประเมินระบบไหลเวียนโลหิต (C: Circulation) อาจมีการให้สารน้ำหรือยาทางเส้นเลือด ตามอาการของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ระบบการไหลเวียนเลือดและความดันเลือดกลับคืนสภาพปกติ เช่น ยาแก้แพ้ น้ำเกลือ ยาไฮโดรคอร์ติโซน เป็นต้น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอาจได้รับยาสำหรับรักษาโรคนั้น ๆ ด้วย เช่น ยาพ่นขยายหลอดลมหรือยาซาลบูทามอลสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด
- ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและตรวจดูการทำงานของระบบต่าง ๆ เช่น วัดความดันโลหิต วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด เป็นต้น ทั้งนี้ ระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการตอบสนองของผู้ป่วย ผู้ป่วยเด็กมักต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าผู้ใหญ่ เพื่อเฝ้าดูอาการจนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย
- แผนการรักษาในระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาแพ้ซ้ำ แพทย์จะแนะนำให้เลี่ยงสิ่งกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรงกว่าครั้งแรก
ภาวะแทรกซ้อนของแอแนฟิแล็กซิส
Anaphylaxis เป็นอาการแพ้รุนแรงที่ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะหลายส่วน และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา เช่น
- สมองได้รับความเสียหาย
- ไตวาย
- ภาวะช็อกจากโรคหัวใจ (Cardiogenic Shock) ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ทัน
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง อาจเกิดความเสียหายต่อปอดหากไม่ได้รับออกซิเจนหลังเกิดอาการแพ้ทันที หรือในผู้ป่วยโรคเอ็มเอสอาจส่งผลให้มีอาการแย่ลง
- ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากหัวใจอาจหยุดเต้นและขาดอากาศหายใจ
การป้องกันแอแนฟิแล็กซิส
แนวทางป้องกันการเกิดปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis มีดังนี้
- กรณีที่เคยมีอาการแพ้ในระดับไม่รุนแรงมาก่อน ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ และเลี่ยงไม่รับประทานหรือสัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ ส่วนผู้ที่เสี่ยงมีอาการแพ้หรือต้องการทราบความเสี่ยงในการแพ้สารใด ๆ อาจป้องกันได้โดยเข้ารับการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
- ผู้ที่มีประวัติแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดก็ตาม ควรป้องกันตนเองจากสารนั้น ๆ เพื่อไม่ให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น หากแพ้แมลงกัดต่อยควรสวมเสื้อผ้าปกปิดผิวหนังให้มิดชิด และไม่ควรเดินเท้าเปล่าบนสนามหญ้า ส่วนผู้ที่แพ้อาหารควรอ่านฉลากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์หรือสอบถามคนขายก่อนซื้อมารับประทานเสมอ นอกจากนี้ ควรแจ้งหรือระบุประวัติการแพ้ของตนเองเมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วย
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือต้องใช้ยารักษาโรค ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อ่านฉลากยาอย่างถี่ถ้วน และตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้ทุกครั้ง หากพบความผิดปกติหรือมีอาการแย่ลงหลังรับประทานยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงควรพกสมุดหรือป้ายเล็ก ๆ ที่ระบุข้อมูลการแพ้ ซึ่งทางโรงพยาบาลจะออกให้ หรือบางคนอาจสวมข้อมือบันทึกข้อมูลทางสุขภาพของตนเอง นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพกยาอิพิเนฟรินแบบฉีดฉุกเฉินหรือยารูปแบบอื่นติดตัวไว้เสมอ