Asbestosis

ความหมาย Asbestosis

Asbestosis (โรคปอดจากแร่ใยหิน, โรคแอสเบสโตซิส) เป็นโรคปอดเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากการสูดดมแร่ใยหินติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปีจนเกิดการสะสมภายในปอด ส่งผลให้ปอดเกิดผังผืดหนาหรือรอยแผล ทำให้ผู้ป่วยมักมีปัญหาในการหายใจ มีอาการไอ และรู้สึกอ่อนเพลียอย่างรุนแรง โดยอาการของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยุ่กับความรุนแรงโรค 

Asbestosis ยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ในปัจจุบัน บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตในบางราย เช่น โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น แพทย์จึงเน้นการบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคนี้มักจะพบในกลุ่มที่เป็นผู้ทำงานในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2510 เนื่องจากเป็นช่วงที่ยังไม่มีมาตรการควบคุมแร่ใยหิน แต่หากมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดแล้ว จะส่งผลให้โอกาสการเกิดโรคดังกล่าวลดลงอย่างมาก

Asbestosis

อาการของโรคปอดจากแร่ใยหิน

ผู้ที่ป่วยด้วยโรค Asbestosis มักจะแสดงอาการประมาณ 10-40 ปี หลังจากสูดดมแร่ใยหิน ซึ่งอาการแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของโรค เช่น

  • ไอแห้งเรื้อรัง
  • หายใจไม่อิ่ม
  • รู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอก
  • หายใจมีเสียงดังผิดปกติ (Crackling Sound)
  • เบื่ออาหารและน้ำหนักลด
  • มีอาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง เหนื่อยง่าย หรือมีปัญหาในการออกกำลังกาย
  • ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าโต อาจจะพบลักษณะนิ้วปุ้ม (Clubbing Finger)

หากเคยมีประวัติในการสูดดมหรือสัมผัสกับแร่ใยหินมาก่อน พร้อมกับมีอาการหายใจไม่อิ่มเพิ่มมากขึ้นหรือมีอาการในลักษณะข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เพราะอาการของโรคในช่วงแรกส่วนใหญ่มักไม่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ 

สาเหตุของโรคปอดจากแร่ใยหิน

การสูดแร่ใยหินหรือฝุ่นในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดโรค Asbestosis เนื่องจากการสะสมและฝังตัวของอนุภาคขนาดเล็กบริเวณถุงลมจนเกิดแผลเป็นภายในปอด ปอดจึงเกิดการอักเสบเรื้อรังจนไม่สามารถขยายตัวได้อย่างปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ โดยระดับความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สัมผัสแร่ใยหิน ปริมาณและชนิดของแร่ใยหินที่เข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อาการของโรคดังกล่าวลุกลามอย่างรวดเร็ว  

ทั้งนี้ แร่ใยหินมักเป็นส่วนประกอบของแผ่นคลัตช์และผ้าเบรครถยนต์ สีโป๊ว ปูนซีเมนต์ ปูนฉาบผนัง ฉนวนกันความร้อน เทปพันท่อ หลังคาชิงเกิ้ลรูฟ และกระเบื้องยาง จึงทำให้กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เป็นผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ผู้ที่ทำงานในสายงานอุตสาหกรรมการผลิต ผู้ที่เคยทำงานในเหมือง อุตสาหกรรมเครื่องจักร การติดตั้ง การผลิต และการทำลายชิ้นส่วนต่าง ๆ ในช่วงเวลาก่อนประมาณปี พ.ศ. 2510 เนื่องจากอาจสูดแร่ธาตุดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายขณะทำงาน นอกจากนี้ ผู้ที่อาศัยรวมกับผู้ที่ทำงานในสายงานดังกล่าวหรืออาศัยอยู่ใกล้กับเหมืองเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

การวินิจฉัยโรคปอดจากแร่ใยหิน

เนื่องจากอาการของโรค Asbestosis คล้ายคลึงกับโรคในระบบทางเดินหายใจ แพทย์จะใช้หลายวิธีในการตรวจและนำผลมาประเมินร่วมกันเพื่อวินิจฉัยโรค โดยจะเริ่มจากการสอบถามประวัติด้านการแพทย์ อาชีพและความเสี่ยงในการสัมผัสกับแร่ใยหิน รวมไปถึงฟังเสียงการทำงานของปอด หลังจากนั้น แพทย์จะตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น

การประเมินด้วยภาพถ่ายทางรังสี

ภาพถ่ายทางรังสีจะช่วยให้เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณปอด แพทย์จึงอาจเอกซเรย์บริเวณหน้าอกของผู้ป่วย โดยภาพที่ได้จะแสดงให้เห็นรอยทึบสีขาวบริเวณเนื้อเยื่อปอดที่อาจมีมากกว่าปกติ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แร่ใยหินจะเกาะอยู่บริเวณปอดทั้งสองข้าง มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ CT Scan ที่จะแสดงให้เห็นภาพของกระดูกและเนื้อเยื่อภาพในปอดอย่างละเอียด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ตรวจหาอาการของโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก

การตรวจสมรรถภาพปอด

วิธีนี้จะช่วยวัดปริมาตรอากาศที่ปอดสามารถกักเก็บได้และอากาศที่เข้าออกภายในปอด โดยผู้ป่วยจะต้องหายใจเข้าออกผ่านเครื่องที่เรียกว่า สไปโรเมตรีย์ (Spirometer) เพื่อวัดปริมาตรออกซิเจนที่จะถูกส่งผ่านไปยังกระแสเลือด

การทดสอบจากเนื้อเยื่อและของเหลวภายในปอด

แพทย์จะนำตัวอย่างของเหลวและเนื้อเยื่อภายในปอด เพื่อนำไปทดสอบแร่ใยหินและเซลล์ผิดปกติชนิดอื่น ๆ ด้วยวิธีดังนี้

  • การส่องกล้องหลอดลม โดยแพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กผ่านจมูกหรือปากลงไปยังคอและเข้าสู่ปอดเพื่อให้มองเห็นถึงความผิดปกติภายในปอดผ่านกล้องขนาดเล็กที่ติดอยู่กับท่อ และสามารถเก็บตัวอย่างของเหลวหรือเนื้อเยื่อเพื่อนำไปทำการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็นได้
  • การเจาะน้ำในเยื่อหุ้มปอด หากผู้ป่วยมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ก่อนจะสอดเข็มผ่านผนังหน้าอกบริเวณช่องซี่โครง โดยอาจมีการทำอัลตราซาวด์เพื่อช่วยให้สามารถสอดเข็มในบริเวณที่ถูกต้อง จากนั้นจึงนำของเหลวส่วนเกินออกและส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น

การรักษาโรคปอดจากแร่ใยหิน

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาผลกระทบจากแร่ใยหินที่สะสมในถุงลมปอด แต่แพทย์จะมุ่งเน้นการรักษาที่ช่วยชะลออาการ บรรเทาความรุนแรงของโรค และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมา ได้แก่

  • การทำออกซิเจนบำบัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งออกซิเจนดังกล่าวจะถูกส่งจากเครื่องผ่านไปทางท่อขนาดเล็กที่ส่วนปลายใส่ในตำแหน่งที่พอดีกับรูจมูก หรืออาจเป็นการส่งผ่านท่อขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับหน้ากากที่คลุมปากและจมูกของผู้ป่วย
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด เป็นการให้ความรู้และวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อเสริมการทำงานของปอด โดยอาจเป็นเทคนิคการหายใจและการผ่อนคลาย การเพิ่มสมรรถภาพการทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลัง หรือการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพร่างกายทั้งหมด
  • การผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยมีความรุนแรง บางรายอาจจำเป็นจะต้องปลูกถ่ายปอดใหม่ เพื่อช่วยบรรเทาอาการในระยะยาวและรักษาชีวิตของผู้ป่วย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมควบคู่ไปด้วย เช่น งดการสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น ดื่มน้ำในปริมาณมาก รับประทานอาการที่มีประโยชน์และควบคุมปริมาณการรับประทานโซเดียม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่อากาศเป็นพิษ มีฝุ่นควันหรือบริเวณที่อากาศมีแร่ใยหินสะสมในปริมาณมาก รวมไปถึงเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบก็สามารถลดความเสียงต่อภาวะปอดอักเสบได้เช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคปอดจากแร่ใยหิน

ผู้ที่ปวยด้วยโรคปอดจากแร่ใยหินยังเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่มีความรุนแรงและอาจแพร่กระจายตัวไปที่ท้อง หน้าอก หรือปอด ส่วนผู้ป่วยที่ยังสูบบุหรี่อยู่จะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 

การป้องกันโรคปอดจากแร่ใยหิน

การป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค Asbestosis สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือสูดดมแร่ใยหินติดต่อกันเป็นเวลานาน หากเป็นผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแร่ธาตุ ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยป้องกันแร่ธาตุและหน้ากากที่ช่วยกรองอนุภาคในอากาศ เพื่อป้องกันการสูดใยแร่ธาตุหรือฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองสัมผัสกับแร่ใยหินเป็นว่าเวลา 7-10 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและทำการเอกซเรย์ปอดสม่ำเสมอ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและการรักษาได้อย่างรวดเร็ว