Atenolol (อะทีโนลอล)
อะทีโนลอล (Atenolol) เป็นยาในกลุ่มเบต้าบล็อคเกอร์ (Beta-Blocker) ที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและการไหลเวียนของเลือด โดยยาจะใช้ในการรักษาอาการเจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูง รวมถึงใช้ในการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
ยาอะทีโนลอลจะออกฤทธิ์โดยการยับยั้งฮอร์โมนแคทีโคลามีน (Catecholamine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่อาจส่งผลให้หัวใจเต้นแรงและเร็ว การยับยั้งฮอร์โมนชนิดนี้อาจส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลง ซึ่งอาจจะช่วยให้อาการเจ็บหน้าอกลดลง ความดันโลหิตลดลง และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
เกี่ยวกับอะทีโนลอล
กลุ่มยา | เบต้าบล็อคเกอร์ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้ |
การใช้ยาในผู้ให้นมบุตร | ยาอะทีโนลอลสามารถดูดซึมผ่านน้ำนมแม่ได้ ผู้ที่ให้นมบุตรควรใช้ยาอย่างระมัดระวังและควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดเม็ด และยาฉีด |
คำเตือนในการใช้ยาอะทีโนลอล
ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้ง หากมีประวัติแพ้ยาอะทีโนลอลหรือยาชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ อาจมีข้อควรระวังบางอย่างที่ควรรู้ก่อนใช้ยาอะทีโนลอล ดังนี้
- ไม่ควรใช้ยาในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจบางชนิด เช่น หัวใจเต้นช้าผิดปกติ มีอาการหัวใจวายรุนแรง เป็นต้น
- ไม่ควรหยุดใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะการหยุดยาทันทีอาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้
- ควรแจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ให้ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการใช้ยา หากต้องเข้ารับการผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะใช้ยา เพราะอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนและง่วงซึมได้
- ไม่ควรใช้ยาในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
นอกจากนี้ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบทุกครั้ง หากมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น
- ภาวะหัวใจวาย
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- โรคปอด เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง
- โรคไทรอยด์เป็นพิษ
- โรคตับ โรคไต เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการขับยาออกจากร่างกายที่ช้ากว่าปกติ
- เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต (Pheochromocytoma)
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน เช่น โรคเรเนาด์ (Raynaud's Syndrome)
- โรคภูมิแพ้
ปริมาณการใช้ยาอะทีโนลอล
ยาอะทีโนลอลใช้ในการรักษาหลายอาการ ขนาดและปริมาณการใช้ยาจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีตัวอย่างและรายละเอียดการใช้ยาในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุดังต่อไปนี้
ความดันโลหิตสูง
ผู้ใหญ่ รับประทานขนาด 50 มิลลิกรัม สูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อวัน
อาการเจ็บหน้าอก
ผู้ใหญ่ รับประทานขนาด 50 มิลลิกรัม สูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
กล้ามเนื้อหัวใจตาย
ผู้ใหญ่ รับประทานขนาด 50 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน หรือขนาด 100 มิลลิกรัม 1 ครั้งต่อวัน เหมาะสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ยังมีการไหลเวียนของเลือดปกติอยู่ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต
การใช้ยาอะทีโนลอล
ยาอะทีโนลอลเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย ควรอ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ตามคำแนะนำดังนี้
- ไม่ควรใช้ยาในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
- ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ตามคำสั่งแพทย์เพื่อการเห็นผลที่ชัดเจน
- ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการใช้ยาในการรักษาความดันโลหิตสูง
- หากลืมรับประทานทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้สามารถรับประทานได้ทันที หากลืมรับประทานยาใกล้กับมื้ออาหารถัดไป ให้รับประทานยาในเวลาและขนาดตามปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนในมื้อที่ขาดหายไป
- ควรเก็บยาไว้ที่ที่อุณหภูมิห้อง หรือประมาณ 20–25 องศาเซลเซียส ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น ไม่ควรสัมผัสแสงโดยตรง รวมถึงปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้ยา และควรเก็บให้ไกลจากมือเด็ก
ปฏิกิริยาระหว่างยาอะทีโนลอลกับยาอื่น
ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบเกี่ยวกับประวัติการใช้สมุนไพร อาหารเสริม ยาที่กำลังใช้หรือเพิ่งหยุดใช้ เพราะยาบางชนิดอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น
- ยารักษาโรคหัวใจ เช่น ไดจอกซิน (Digoxin) ดิจิทาลิส (Digitalis)
- ยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen)
- ยาในกลุ่มเบต้าบล็อคเกอร์ เช่น ไบโซโปรลอล (Bisoprolol) คาร์วีดิลอล (Carvedilol) ลาเบทาลอล (Labetalol) เมโทโพรลอล (Metoprolol) เนบิโวลอล (Nebivolol) ทิโมลอล (Timolol)
- ยาที่เกี่ยวข้องกับหัวใจหรือความดันเลือด เช่น อะมิโอดาโดร (Amiodarone) โคลนิดีน (Clonidine) ดิลไทอะเซม (Diltiazem) ไดโซไพราไมด์ (Disopyramide)
- ยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาอะทีโนลอล
ยาอะทีโนลอลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในขณะใช้ยา เช่น
- ภาพซ้อน
- มือและเท้าเย็น
- รู้สึกสับสน
- วิงเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม เมื่อมีการเปลี่ยนอิริยาบถจากท่านั่งหรือท่านอน
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงหวีด
- เหงื่อออกมาก
- เหนื่อย อ่อนแรง
นอกจากนี้ ยังอาจมีผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น วิตกกังวล เจ็บหน้าอก หนาวสั่น ไอ เป็นลม หัวใจเต้นผิดปกติ ปวดขา ปวดเอว หรือปวดที่บริเวณข้างลำตัว ปัสสาวะเป็นเลือด หรือไม่ค่อยปัสสาวะ ความดันเลือดสูงขึ้น กระหายน้ำ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีอาการบวมที่ใบหน้า นิ้วมือ หรือขาตั้งแต่ใต้หัวเข่า