ความหมาย โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
Atherosclerosis หรือ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง เป็นโรคที่หลอดเลือดแดงอักเสบจนทำให้หลอดเลือดแดงแข็งหรือตีบตัน ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงไม่เพียงพอ เป็นโรคที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปจากไขมันหรือแคลเซียมที่ก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ในหลอดเลือด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น มีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ สูบบุหรี่ รวมถึงดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก โดยผู้สูงอายุอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้มากกว่าวัยอื่น ๆ
อาการของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่พบอาการใด ๆ แต่เมื่อไขมันก่อตัวขึ้นจนหลอดเลือดแดงแข็งและไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ได้ จะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามบริเวณที่มีหลอดเลือดแดงแข็ง ดังต่อไปนี้
- หลอดเลือดแดงแข็งที่แขนและขา เลือดไปเลี้ยงแขน ขา และกระดูกเชิงกรานไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดอาการปวดและชาบริเวณแขนและขา อาจทำให้เป็นตะคริวบ่อยครั้ง มือและเท้าเย็น หากหลอดเลือดตีบมากอาจทำให้มือและเท้ามีสีเขียวคล้ำและอาจเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงได้
- หลอดเลือดแดงแข็งที่ไต อาจทำให้เนื้อเยื่อไตขาดเลือดและส่งผลต่อการทำงานของไต ทำให้เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ เท้าบวม ปัสสาวะผิดปกติ ซึ่งน้ำปัสสาวะอาจมากหรือน้อยผิดปกติร่วมกับมีความดันโลหิตสูง
- หลอดเลือดแดงแข็งที่หัวใจ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ โดยอาการเจ็บหน้าอกจะรุนแรงขึ้นเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ และจะทุเลาลงเมื่อหยุดพัก นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บร้าวมาที่คอ กระดูกกราม ไหล่ และแขน โดยเฉพาะฝั่งซ้ายของร่างกาย มีเหงื่อออกมาก หายใจหอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ คล้ายจะเป็นลม หรือหมดสติได้
- หลอดเลือดแดงแข็งที่คอและสมอง หลอดเลือดแดงบริเวณลำคอมีหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง หากเกิดหลอดเลือดแดงแข็งที่คอจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน ส่งผลให้มีอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน ปวดศีรษะอย่างมากในทันที วิงเวียน สับสน ปากเบี้ยว พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ ตามองไม่เห็นชั่วคราว 1 ข้าง ซึ่งเป็นอาการของโรคเส้นเลือดสมองตีบชั่วคราว หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกชาบริเวณใบหน้า แขน และขา สูญเสียการทรงตัว เป็นอัมพาต และหายใจไม่ได้
หากพบอาการที่บ่งบอกว่าเลือดไหลเวียนได้ไม่ดี เช่น เจ็บหน้าอก รู้สึกปวดหรือมีอาการชาที่ขา รวมถึงอาการอื่น ๆ ข้างต้น หรือสงสัยในอาการป่วยของตนเอง ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากวินิจฉัยและรักษาโรคได้เร็วก็อาจช่วยลดความรุนแรงของโรค ป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้
สาเหตุของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค Atherosclerosis แต่โรคนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อผนังด้านในของหลอดเลือดแดงได้รับความเสียหายจนทำให้เซลล์เม็ดเลือดหรือสารอื่น ๆ เช่น ไขมัน หรือแคลเซียม ก่อตัวขึ้นและทำให้หลอดเลือดแดงตีบ แข็ง หรืออุดตัน ทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อรวมถึงอวัยวะบริเวณใกล้เคียงไม่เพียงพอ และส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะนั้น ๆ โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรค Atherosclerosis ได้แก่
- อายุ ผู้ที่มีอายุมากจะเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้มากกว่า โดยเฉพาะเพศชายอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
- พันธุกรรม มีพ่อ พี่ชาย หรือน้องชายเป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 55 ปี หรือมีแม่ พี่สาว หรือน้องสาวเป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 65 ปี
- ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะมีไขมันชนิดที่ไม่ดีในปริมาณมาก และมีไขมันชนิดที่ดีในปริมาณน้อย รวมถึงผู้ที่อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน
- ความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และหากเป็นโรคเบาหวานหรือโรคไตเรื้อรังร่วมด้วยจะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้หากมีค่าความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 130/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
- โรคเบาหวาน เมื่อร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างเต็มที่จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และเป็นสาเหตุทำให้ผนังหลอดเลือดอักเสบได้
- ภาวะดื้ออินซูลิน เนื่องจากอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน หากเกิดภาวะดื้ออินซูลินอาจทำให้เกิดโรคเบาหวานซึ่งเสี่ยงเกิดหลอดเลือดอักเสบตามมาได้
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
- ระดับโปรตีน CRP ในเลือดสูง บ่งบอกถึงการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งเป็นความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและโรค Atherosclerosis
- ระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง โดยเฉพาะในเพศหญิงจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้
- ขาดการออกกำลังกาย อาจส่งผลให้มีไขมันคอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้
- อารมณ์และความเครียด เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด Atherosclerosis และภาวะหัวใจขาดเลือดได้
- การสูบบุหรี่ อาจสร้างความเสียหายต่อหลอดเลือดเพราะมีสารพิษที่ทำให้ผนังหลอดเลือดอักเสบ รวมถึงส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและความดันโลหิตสูงขึ้น และขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนจนทำให้ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อของร่างกายไม่เพียงพอ
- การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น รับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล โซเดียม และน้ำตาลในปริมาณสูง
- การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก อาจสร้างความเสียหายให้กับกล้ามเนื้อหัวใจ และกระตุ้นให้เกิดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ จนทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
แพทย์จะวินิจฉัย Atherosclerosis จากประวัติอาการป่วยและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจร่างกาย และตรวจหาอาการหรือสัญญาณที่บ่งบอกว่าหลอดเลือดแข็งหรือตีบตัน เช่น ชีพจรบริเวณหลอดเลือดที่มีปัญหาเต้นอ่อนกว่าปกติ ความดันโลหิตที่แขนและขาลดต่ำลง หรือใช้หูฟังของแพทย์ตรวจแล้วได้ยินเสียงฟู่ภายในหลอดเลือดแดง โดยแพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจระดับไขมันชนิดต่าง ๆ หรือระดับน้ำตาลในเลือดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคนี้
- การเอกซเรย์และการสแกน เช่น การเอกซเรย์ปอด การอัลตราซาวด์ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อแสดงภาพของหลอดเลือดที่มีปัญหา เป็นต้น
- การตรวจดอปเพลอร์อัลตราซาวด์ เป็นการวัดระดับความดันโลหิตที่บริเวณต่าง ๆ ของแขนและขา ซึ่งจะแสดงตำแหน่งของการอุดตันและความเร็วของเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในหลอดเลือดแดง
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือด และตำแหน่งที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด
- การตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย เป็นการเก็บข้อมูลการทำงานของหัวใจในระหว่างการออกกำลังกาย เพราะหัวใจสูบฉีดเร็วกว่าการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ
- การสวนหลอดเลือดหัวใจโดยการฉีดสี เป็นการตรวจหลอดเลือดด้วยการฉีดสารทึบแสงแล้วเอกซเรย์เพื่อให้เห็นหลอดเลือดหัวใจที่ตีบตันได้อย่างชัดเจน
การรักษาโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
การรักษาโรคนี้มีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการของโรค ลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด ลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดไขมันในหลอดเลือดแดง ขยายหลอดเลือดแดงที่ได้รับผลกระทบจากไขมัน และป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นจาก Atherosclerosis ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้
การใช้ยา
- ยาลดไขมัน เช่น ยาในกลุ่มสแตติน ซึ่งจะช่วยลดการก่อตัวของไขมันชนิดที่ไม่ดีในหลอดเลือดแดง และช่วยกระตุ้นให้คอเลสเตอรอลชนิดที่ดีให้ทำงานได้ดีขึ้น
- ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น ยาแอสไพริน เพื่อลดการก่อตัวของเกล็ดเลือดในหลอดเลือดแดงที่อาจเป็นสาเหตุของหลอดเลือดอุดตันในอนาคต
- ยาสลายลิ่มเลือด ในกรณีที่ลิ่มเลือดเป็นสาเหตุทำให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือดแดง
- ยาเบต้าบล็อกเกอร์ เช่น ยาอะซีบูโทลอล ยาอะทีโนลอล หรือยาโพรพราโนลอล ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความดันโลหิต บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก ลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจขาดเลือดและหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภท
- ยาเอซีอีอินฮิบิเตอร์ เช่น ยาเบนาซีพริล ยาแคปโตพริล หรือยาอีนาลาพริล ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิต เป็นประโยชน์ต่อหลอดเลือดหัวใจ และลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจขาดเลือด
- ยาแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ เช่น ยาแอมโลดิปีน ยาดิลไทอะเซม หรือยาฟีโลดิปีน เพื่อป้องกันแคลเซียมเข้าสู่เซลล์หัวใจและผนังหลอดเลือด ช่วยให้ความดันโลหิตลดลง และอาจใช้บรรเทาอาการเจ็บหน้าอกได้ด้วยเช่นกัน
- ยาขับปัสสาวะ เช่น ยาคลอโรไทอะไซด์ ยาบูมีทาไนด์ หรือยาอะมิโลไรด์ เพื่อกำจัดโซเดียมและของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย ซึ่งส่งผลให้ความดันของผนังหลอดเลือดลดลง
การผ่าตัด มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือเกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่อาจเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ ซึ่งการผ่าตัดสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- การผ่าตัดขยายหลอดเลือด โดยใช้ท่อ บอลลูน หรือลวดตาข่าย เพื่อขยายหลอดเลือดที่เกิดการตีบตัน ทำให้เลือดไหลเวียนได้ตามปกติ และบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะหัวใจขาดเลือด
- การทำบายพาส เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงหลอดเลือดที่แข็งหรือเกิดการอุดตัน เพื่อให้เลือดไหลเวียนเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก และป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือด
- การผ่าตัดเปิดหลอดเลือด เพื่อกำจัดตะกรันไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือดที่คอ ทำให้เลือดไหลเวียนไปที่สมองได้ตามปกติ และช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วย
การดูแลตนเอง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเองมากขึ้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เลิกสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือก่อให้เกิดโรคอ้วนได้ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
ภาวะแทรกซ้อนจะแตกต่างกันออกไปตามอวัยวะที่มีหลอดเลือดแดงแข็ง ดังต่อไปนี้
- หลอดเลือดแดงแข็งที่แขนและขา เมื่อเลือดไปเลี้ยงแขนและขาไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ซึ่งจะมีอาการปวดขาและในบางกรณีอาจทำให้เนื้อเยื่อเน่าตายได้
- หลอดเลือดแดงแข็งที่ไต หากเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงไตไม่เพียงพออาจทำให้ไตทำงานได้น้อยลง ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังและไตวายตามมาได้
- หลอดเลือดแดงแข็งที่คอและสมอง เมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพออาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตัน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สมองขาดเลือดชั่วคราวหรือเกิดโรคหลอดเลือดสมองจนทำให้เป็นอัมพาตและอาจเสียชีวิตได้
- หลอดเลือดแดงแข็งที่หัวใจ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจล้มเหลวจนอาจเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ โรค Atherosclerosis ยังอาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดโป่งพองที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ทั้งบริเวณสมอง หลอดเลือดใหญ่ ขา หรือม้าม ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
การป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันอาจช่วยป้องกันและชะลอการเกิดโรค Atherosclerosis ได้ โดยอาจปฏิบัติตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
- เลิกบุหรี่ เพราะบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดแดงเกิดความเสียหาย และการเลิกสูบบุหรี่ยังช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ได้ด้วยเช่นกัน
- ควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้ชายไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ดื่มมาตรฐาน และผู้หญิงไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 ดื่มมาตรฐาน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ใช้ออกซิเจนอย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยสร้างหลอดเลือดใหม่ ลดความดันโลหิต และลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ ผัก ผลไม้ ธัญพืช และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล โซเดียม และน้ำตาลสูง
- ควบคุมน้ำหนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น ทำงานอดิเรกที่สนใจ หรือนั่งสมาธิ เพื่อบรรเทาความเครียดซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค Atherosclerosis