โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

ความหมาย โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

Atopic Dermatitis หรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นอาการของผิวหนังอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ ทำให้ผิวแห้ง แดง มีผื่นตามบริเวณต่าง ๆ และมีอาการคันอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไป Atopic Dermatitis เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบในเด็กมากกว่าวัยอื่น ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยตรง แต่อาจรักษาได้โดยบรรเทาอาการและป้องกันอาการลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

atopic dermatitis

อาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

Atopic Dermatitis มักเกิดขึ้นในวัยเด็กช่วงอายุก่อน 5 ปี และอาจคงอยู่ไปเรื่อย ๆ จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ โดยอาการหลักของ Atopic Dermatitis ที่พบได้ทั่วไป คือ คันตามผิวหนัง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผื่นแดงตามมา โดยอาจมีผิวหนังแห้ง ลอก และเป็นขุยร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรัง แบบเป็น ๆ หาย ๆ หรืออาการอาจหายไปหลายปีก่อนกลับมาเป็นอีกครั้ง ทั้งนี้ ความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ ขนาดของบริเวณที่เกิดอาการ และการเกาบริเวณที่ติดเชื้อ

นอกจากนี้ ผู้ป่วย Atopic Dermatitis อาจแสดงอาการ ดังต่อไปนี้

  • สีผิวเปลี่ยนแปลง อาจมีสีเข้มขึ้นหรืออ่อนลงกว่าปกติ
  • ผิวบอบบาง และบวมเมื่อถูกเกา
  • ผิวแตก หรือเป็นสะเก็ดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
  • คันตามผิวหนัง โดยเฉพาะเวลากลางคืน
  • ผิวเป็นปื้นสีแดง หรือสีน้ำตาลอ่อนปนเทาที่มักปรากฏบริเวณมือ เท้า ข้อเท้า ข้อมือ คอ อกช่วงบน ข้อพับ เปลือกตา ใบหน้าและศีรษะ
  • ผิวหนังมีตุ่มพอง หรือมีแผลพุพองขนาดเล็กที่มีรอยแดงและการติดเชื้อรอบแผล ซึ่งอาจแตกและมีของเหลวไหลออกมาได้เมื่อถูกเกา
  • มีของเหลวไหลออกจากหู หรือมีเลือดไหลออกจากหู

ส่วนอาการของ Atopic Dermatitis ที่แตกต่างกันไปตามช่วงวัย อาจมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ทารก

    ผื่นผิวหนังของทารกมักปรากฏบนแก้มเป็นที่แรก รวมถึงบริเวณแขนและขาที่พ้นเสื้อผ้าซึ่งทำให้เกิดการเสียดสีหรือสัมผัสสารที่ทำให้ระคายเคือง และอาจปรากฏในบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมได้เช่นกันหากผ้าอ้อมเปียกชื้นหรือสกปรกจากการใส่ไว้เป็นเวลานานจนเกินไป อาจทำให้ทารกระคายเคืองและเกิดเป็นผื่นผ้าอ้อมตามมา โดยทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี มักมีผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกระจายอยู่หลายจุดทั่วร่างกาย รวมทั้งอาจมีผิวที่แห้ง แดง ลอก เป็นสะเก็ด และรอยแดงจากการข่วนตัวเองด้วย

  • เด็กวัยหัดเดินและวัยก่อนเข้าเรียน

    เมื่อเด็กเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น ผื่นผิวหนังและรอยเกาอาจเริ่มปรากฏขึ้นเฉพาะส่วน ผื่นอาจเริ่มแข็ง หนา หยาบ และทำให้รู้สึกไม่สบายตัว โดยผื่นผิวหนังดังกล่าวมักเกิดขึ้นบริเวณข้อต่อกระดูก เช่น ข้อมือ ข้อศอก หัวเข่า ข้อเท้า รวมถึงอวัยวะเพศ เมื่อเด็กโตขึ้น ผื่นอาจเปลี่ยนมาปรากฏบริเวณข้อพับของข้อต่อนั้น ๆ แทน ซึ่งผื่นผิวหนังจะยิ่งแห้ง หนา และแข็งขึ้นหากถูกถูหรือเกา

  • เด็กวัยเรียน

    เมื่อเริ่มโตขึ้น ผื่นผิวหนังมักปรากฏบริเวณข้อศอกและหัวเข่า รวมถึงบริเวณอื่น ๆ ที่บอบบาง เช่น เปลือกตา ใบหู ศีรษะ และช่วงคอ ซึ่งผื่นจะหนาขึ้น รวมถึงมีรอยเกาบริเวณลำคอหรือข้อพับของแขนและขา ผู้ป่วยบางรายอาจมีตุ่มพองบริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ และเท้าร่วมด้วย ในบางครั้งผื่นผิวหนังอาจเป็นวงกลมคล้ายเหรียญขนาดเล็กทั่วร่างกาย จนอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคกลากได้ อย่างไรก็ตาม ผื่นผิวหนังที่เกิดขึ้นในช่วงวัยเรียนอาจหายได้เองเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แม้ผิวจะบอบบางลงก็ตาม

  • ผู้ใหญ่

    ผื่นผิวหนังที่ปรากฏในวัยนี้มีหลายรูปแบบ อาจปรากฏเฉพาะส่วน เช่น มือ เปลือกตา ข้อพับ หัวนม หรือเกิดขึ้นทุกส่วนพร้อมกัน และมักเป็นผื่นแห้ง หนา และแข็งกว่าผื่นผิวหนังในเด็ก โดยเฉพาะบริเวณมือที่อาจมีตุ่มพองร่วมด้วย ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ใหญ่อาจเป็นสาเหตุหลักของผื่นแพ้สัมผัสซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อมือที่เป็นผื่นผิวหนังสัมผัสกับน้ำหรือผงซักฟอก

สาเหตุของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ผื่นแดงหรือผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของยีนที่มีผลต่อผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังไม่ได้รับการป้องกันที่เหมาะสม และผิวอาจบอบบางลงจนเสี่ยงติดเชื้อจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สารก่ออาการระคายเคือง และสารก่ออาการแพ้

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของ Atopic Dermatitis ได้อย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน โดยอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมที่มีในตัวผู้ป่วยเอง หรือคนในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด และอาการแพ้อากาศ ร่วมกับภาวะทางภูมิต้านทานโรคในร่างกายผู้ป่วยเอง หรือร่างกายอาจขาดโปรตีนที่ช่วยให้ผิวหนังกักเก็บน้ำ จนทำให้ผิวหนังแห้ง แดง คัน ระคายเคือง และก่อให้เกิดโรค Atopic Dermatitis ได้

นอกจากนี้ อาการคันและผื่นแดงอาจถูกกระตุ้นให้ทวีความรุนแรงขึ้นได้จากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • น้ำหอมและสีในโลชั่นหรือสบู่
  • สารก่ออาการแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร เชื้อรา หรือขนสัตว์
  • วัสดุที่หยาบ เช่น ผ้าขนสัตว์
  • สารที่ทำให้ระคายเคือง
  • อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหน้าหนาวที่มีอากาศแห้งและเย็น
  • สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกะทันหัน เช่น อาบน้ำร้อนเสร็จแล้วตากแอร์ทันทีอาจทำให้คันและระคายเคืองผิวหนังได้
  • ผิวแห้งที่อาจเกิดจากการอาบน้ำหรือว่ายน้ำบ่อยเกินไป
  • อาหารบางชนิด เช่น ไข่ ถั่วลิสง นม เป็นต้น
  • ป่วยเป็นไข้หวัด
  • ความเครียด

การวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โดยส่วนใหญ่โรค Atopic Dermatitis วินิจฉัยได้จากประวัติทางการแพทย์ และแพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • ตรวจร่างกาย หรือสังเกตผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยอาการหรือหาสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ผิวแห้งและคัน
  • ทดสอบการแพ้ทางผิวหนัง แพทย์อาจใช้สารก่ออาการแพ้กระตุ้นบริเวณท้องแขนหรือแผ่นหลังก่อน หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ เพื่อทดสอบอาการแพ้ทางผิวหนังตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ตัดชิ้นเนื้อตรวจ โดยนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือเซลล์ในร่างกายไปส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจหาโรค

วิธีข้างต้นเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยผู้ป่วยภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคภูมิแพ้ที่เกี่ยวกับการหายใจ และโรคหืด รวมถึงผู้ที่มีผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่รักษาได้ยาก และผู้ที่มีผื่นแดงเฉพาะจุดจากการสัมผัสสารเคมีบางชนิด

การรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

การรักษา Atopic Dermatitis อาจใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี เพราะผู้ป่วยอาจต้องลองรักษาหลายวิธี เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมกับตนที่สุด เมื่อจบกระบวนการรักษาแล้ว อาการต่าง ๆ อาจหายไปแล้วกลับมาเป็นอีกครั้ง หรือบางรายอาการอาจคงอยู่อย่างถาวร

ส่วนระยะเวลาการรักษาจะแตกต่างกันไปตามการวินิจฉัยของแพทย์ หากอาการไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยอาจรักษาด้วยยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งจากแพทย์ เช่น

  • ยาบรรเทาอาการคันชนิดทา เช่น ครีมยาไฮโดรคอร์ติโซนที่มีตัวยาไฮโดรคอร์ติโซนอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์
  • ยาแก้แพ้หรือยาบรรเทาอาการคันชนิดรับประทาน เช่น ยาเซทิริซีน และยาเฟกโซเฟนาดีน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการคันด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ตามวิธีดังต่อไปนี้

  • ใช้สารให้ความชุ่มชื้นผิวเพื่อทำให้ผิวไม่แห้งจนเกินไป อาจใช้ปิโตรเลียมเจล ครีม หรือโลชั่น วันละ 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะหลังอาบน้ำเสร็จ และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ สี กลิ่น และสารเคมีอื่น ๆ
  • ใช้ครีมอาบน้ำหรือน้ำยาทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิวแทนการใช้สบู่
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น และพยายามให้ผิวสัมผัสน้ำน้อยที่สุด
  • ใส่เสื้อผ้าที่นุ่มสบาย เนื้อผ้าไม่หยาบ และไม่รัดรูปจนเกินไป เพื่อลดการระคายเคือง
  • ปิดบริเวณที่เป็นผื่นด้วยผ้าพันแผล ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ และสวมถุงมือก่อนนอน เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการเกา
  • ผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดจะทำให้อาการแย่ลง
  • ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศภายในที่พักอาศัย

หากรักษาด้วยตนเองตามวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ทุเลาลง ผู้ป่วยอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาอื่น ๆ เช่น การรักษาด้วยแสงซึ่งเป็นการใช้แสง UV และแสงอาทิตย์ในการรักษาโรค การทำแผลแบบเปียก โดยการใช้ครีมสเตียรอยด์และผ้าพันแผลแบบเปียกปิดรอบบริเวณผื่นไว้ และการรักษาด้วยยา ดังต่อไปนี้

  • ยาต้านแคลซินูริน เช่น ยาทาพิเมโครลิมัส ยาทาทาโครลิมัส เป็นต้น
  • ยาทาขี้ผึ้งคริสะโบโรล
  • ยาต้านฮิสตามีน
  • ยาปฏิชีวนะ เพื่อกำจัดแบคทีเรียจากผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่ติดเชื้อ
  • ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน เพื่อควบคุมการอักเสบของผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
  • ยาเมโธเทรกเซท
  • ยาไซโคลสปอริน
  • ยาอะซาไธโอพรีน
  • ยา Dupilumab ยาฉีดชีวภาพ

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ผู้ป่วยโรค Atopic Dermatitis มักเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคหืด และโรคภูมิแพ้อากาศ ซึ่งหากเป็น Atopic Dermatitis แล้วไม่รีบรักษาบรรเทาอาการ หรือไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • อาการทางผิวหนัง เช่น อาการคันเรื้อรังและผิวลอกเป็นสะเก็ด หรือโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่อาจส่งผลให้ผิวหนังเปลี่ยนสี แห้ง แข็ง มีลักษณะเป็นปื้น หากยิ่งเกาจะยิ่งคัน แต่หากเกาบ่อยครั้งก็อาจทำให้ผิวหนังแตกได้ เสี่ยงเกิดผิวหนังติดเชื้อจากแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสมากขึ้น เช่น ไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเริม เป็นต้น
  • เป็นผื่น ผู้ป่วยอาจเป็นผื่นแพ้สัมผัส หรือผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานสัมผัสกับสบู่ ผงซักฟอก ยาฆ่าเชื้อ และต้องมือเปียกอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ อาการคันอาจกำเริบหนักในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหานอนไม่หลับ หลังรักษาผื่นภูมิแพ้ผิวหนังแล้ว อาจเกิดรอยแผลเป็นถาวรได้เช่นกัน

การป้องกันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

Atopic Dermatitis มีวิธีป้องกัน ดังนี้

  • กำหนดเวลาอาบน้ำไม่ให้นานจนเกินไป ควรอาบน้ำเพียง 10-15 นาที
  • ใช้น้ำยาซักผ้าขาวในสัดส่วน ½ ถ้วย ต่อน้ำสะอาด 151 ลิตร ผสมกันแล้วนำไปอาบน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของ Atopic Dermatitis
  • ใช้สบู่ธรรมดาที่อ่อนโยนต่อผิว เพราะสบู่ขจัดกลิ่นหรือขจัดแบคทีเรียอาจทำให้ผิวแห้งเกินไป
  • หลังอาบน้ำ ค่อย ๆ เช็ดตัวให้แห้ง โดยใช้ผ้าขนหนูซับเบา ๆ บนผิว ก่อนใช้ครีมทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
  • ใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นผิว เช่น ปิโตรเลียมเจล วันละ 2-3 ครั้ง
  • หลีกเลี่ยงสารก่ออาการแพ้ต่าง ๆ ที่อาจทำให้อาการแย่ลง
  • ห้ามถูหรือขัดผิวหนังแรง ๆ และไม่ปล่อยให้ผิวหนังแห้งนานจนเกินไป
  • ห้เด็กแรกเกิดดื่มนมแม่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกัน เพราะเด็กที่บริโภคนมแม่ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป อาจเสี่ยงเป็นโรคนี้น้อยลง แต่หากไม่สามารถให้เด็กดื่มนมแม่ได้นานเท่าระยะเวลาดังกล่าว ควรให้เด็กบริโภคนมผงที่มีโปรตีนนมวัวทดแทน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรค