ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)

ความหมาย ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)

Atrial Fibrillation หรือ AF (ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว) คือ ภาวะที่มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติจากการสูบฉีดเลือดของหัวใจ โดยผู้ที่มีภาวะนี้จะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่า 100 ครั้งต่อนาที คนทั่วไปจะมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ระหว่าง 60-100 ครั้งต่อนาทีในขณะที่ไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ 

Atrial Fibrillation

Atrial Fibrillation เป็นอาการที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้ เนื่องจากหากหัวใจสูบฉีดผิดปกติ จะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้สะดวก หรือเกิดลิ่มเลือดขึ้นภายในหลอดเลือด จนทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าวอาจรักษาให้หายได้ แต่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากไม่รุนแรงก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้ แต่หากรุนแรงและเรื้อรังก็อาจต้องใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ เพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจแทน

อาการของภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว

ภาวะดังกล่าวหากไม่รุนแรงมากนักจะไม่แสดงอาการให้เห็น แต่จะรู้ถึงความผิดปกติได้จากการตรวจสุขภาพ แต่หากค่อนรุนแรง อาจเกิดอาการเหล่านี้ ได้แก่

  • อาการใจสั่น
  • อาการอ่อนแรง เหนื่อยง่าย
  • ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง
  • อ่อนเพลีย
  • วิงเวียนศีรษะ มีอาการมึนงง
  • หายใจถี่ หรือหายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก

อาการที่เกิดขึ้นแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่

  • เกิดขึ้นครั้งแรก เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ตรวจพบครั้งแรก โดยไม่เคยเกิดอาการนี้มาก่อน
  • เกิดเป็นครั้งคราว หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพริ้วชนิดอัตราหัวใจเต้นเร็วชั่วขณะ (Paroxysmal) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ โดยอาจกินเวลาไม่กี่นาที ไปจนถึงหลายชั่วโมงแล้วหายกลับเป็นปกติโดยไม่ต้องรักษา
  • เกิดอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยที่มีอาการอย่างต่อเนื่อง จะมีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติไปจากเดิมและไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ เว้นแต่จะได้รับการรักษาด้วยการกระตุ้นไฟฟ้า หรือการใช้ยา จึงจะกลับมาเป็นปกติได้
  • เกิดอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ หากภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกันนานกว่า 12 เดือน จะถูกจัดเป็นผู้ป่วยที่มีกลุ่มนี้ ซึ่งต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • เกิดขึ้นถาวร ผู้ป่วยในกลุ่มดังกล่าวจะมีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติอย่างถาวร และไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำได้เพียงรับการรักษาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

ทั้งนี้ภาวะ Atrial Fibrillation จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจลดลง และทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือ หัวใจวายได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยรู้สึกว่าการเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือมีอาการเจ็บหน้าอกควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที

สาเหตุของภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพริ้ว คือการที่ระบบไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติอันอาจเกิดมาจากโครงสร้างของหัวใจที่มีปัญหา หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจ 2 ห้องบน ที่มีการบีบรัดอย่างไม่สมดุลกัน และเกิดการสั่นสะเทือนของผนังห้องหัวใจในที่สุด โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่

  • ประวัติครอบครัว ในครอบครัวที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมจนก่อให้เกิดภาวะ Atrial Fibrillation มักทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติ
  • อายุ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าวมากขึ้น
  • การใช้ยา มีการสันนิษฐานว่าการใช้สเตียรอยด์ในการรักษาโรคหอบหืด หรือเกิดการอักเสบ อาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้มากขึ้น
  • โรคหัวใจ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหัวใจอยู่ก่อนแล้วมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้สูงเมื่อเทียบกับคนทั่วไป เนื่องจากหัวใจทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ จนอาจกระทบต่อระบบไฟฟ้าหัวใจได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหัวใจแบบกลุ่มอาการซิคไซนัส (Sick Sinus Syndrome) ก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มอาการดังกล่าวเกิดจากระบบไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ ไม่เพียงเท่านั้นการผ่าตัดหัวใจเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ก็ยังก่อให้เกิดอาการดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน
  • ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับหัวใจก็อาจส่งผลให้เกิด Atrial Fibrillation ได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคปอด ไทรอยด์เป็นพิษ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคอ้วนลงพุง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และการติดเชื้อไวรัส เป็นต้น

นอกจากนี้ พฤติกรรมและวิธีการใช้ชีวิตยังเป็นสิ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของหัวใจดังกล่าวได้ โดยเฉพาะการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การเสพยาเสพติด หรือการมีน้ำหนักตัวมากผิดปกติ อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะนี้ได้ และหากผู้ป่วยมีความเครียดร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการหรือ ทำให้อาการยิ่งรุนแรงมากขึ้น

การวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว

ในเบื้องต้น การตรวจชีพจรช่วยให้ผู้ป่วยทราบได้ว่าตนเองมีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติหรือไม่ โดยตรวจได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • นั่งพักอย่างน้อย 5 นาที และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนวัดชีพจร
  • จับมือซ้ายหงายขึ้น งอข้อศอกเล็กน้อย
  • วางนิ้วชี้และนิ้วนางซ้ายลงบนข้อมือบริเวณฐานนิ้วโป้ง
  • เริ่มวัดชีพจรโดยวัดจำนวนชีพจรเทียบกับเวลา 30 วินาที จากนั้นนำจำนวนชีพจรที่ได้มาคูณ 2 ก็จะได้อัตราการเต้นของหัวใจต่อนาที

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการปกติ ในขณะพักอัตราการเต้นหัวใจอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที แต่ถ้าหากสูงกว่านั้นก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าผู้ป่วยมีการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะเริ่มตรวจวินิจฉัยด้วยการซักประวัติเกี่ยวกับการรักษาและอาการเจ็บป่วยที่เคยเป็น จากนั้นจะตรวจสุขภาพ และสังเกตอาการความผิดปกติ จากนั้นแพทย์จะสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ได้แก่

  • การตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า เป็นวิธีการตรวจที่แพทย์ส่วนใหญ่ใช้ในการระบุ Atrial Fibrillation โดยแพทย์จะนำแผ่นสติกเกอร์ หรือจุกยางที่ใช้ในการนำคลื่นไฟฟ้าติดที่บริเวณหน้าอกและแขนแล้วหนีบด้วยแผ่นโลหะไฟฟ้า จากนั้นก็จะส่งคลื่นสัญญาณไฟฟ้าผ่านหัวใจและแสดงผลให้เห็นว่าหัวใจทำงานผิดปกติหรือไม่
  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ในกรณีที่แพทย์ต้องการผลการตรวจที่ละเอียดมากขึ้น แพทย์อาจให้ผู้ใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดที่ผู้ป่วยสามารถพกพาได้ เครื่องจะมีลักษณะเป็นกระเป๋าคาดที่เอว หรือที่ไหล่ ซึ่งค่อยช่วยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นแพทย์จะนำผลที่ได้มาวิเคราะห์หาความผิดปกติอีกครั้งหนึ่ง
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่องแบบพกพา (Event Recorder) ผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดปกติเป็นครั้งคราว แพทย์จะแนะนำให้ใส่อุปกรณ์ตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้าแบบเครื่องพกพาเพื่อติดตามการทำงานของหัวใจระยะหยึ่ง โดยเครื่องดังกล่าวจะถูกใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น จากนั้นผลที่ได้จะถูกเก็บไว้เพื่อให้แพทย์นำมาวิเคราะห์
  • การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) เป็นวิธีการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงสะท้อนเพื่อจำลองภาพของหัวใจ ทั้งนี้ หากหัวใจเต้นผิดปกติ ภาพที่แสดงออกมาก็จะทำให้เห็นความผิดปกติได้ โดยอุปกรณ์ที่ใช้จะถูกออกแบบมาเพื่อตรวจการความผิดปกติทางด้านโครงสร้างและกลไกการทำงานของหัวใจ ปกติแล้วการตรวจจะใช้เครื่องอัลตราซาวด์หัวใจแบบทั่วไป แต่ในบางกรณีแพทย์อาจใช้วิธีการสอดอุปกรณ์ที่มีลักณะเหมือนท่อที่ยืดหยุ่นได้ลงไปในหลอดอาหารเพื่อช่วยในการสะท้อนของคลื่นชัดเจนขึ้น ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถมองเห็นได้ว่ามีลิ่มเลือดอุดตันภายในหัวใจหรือไม่
  • การตรวจเลือด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะการเต้นของหัวใจที่เร็วเกินไป และแพทย์สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ปัญหาที่ระบบไทรอยด์ การตรวจเลือดจะช่วยระบุได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
  • การทดสอบสมรรถภาพของหัวใจ (Stress Test) เป็นการตรวจที่ช่วยให้แพทย์เห็นถึงการทำงานของหัวใจว่าผิดปกติหรือไม่ โดยแพทย์จะตรวจในขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย ทำให้แพทย์สันนิษฐานถึงความเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติได้มากขึ้น
  • การเอกซเรย์ทรวงอก การเอกซเรย์จะช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติที่ปอดและหัวใจได้ ซึ่งแพทย์มักใช้วิธีนี้เมื่อแพทย์สันนิษฐานว่าอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติน่าจะเกิดจากเหตุผลอื่นได้มากกว่า

จากนั้นเมื่อแพทย์ได้ผลการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะนำไปประกอบกับข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อสรุปผลการตรวจและวางแผนการรักษาต่อไป

การรักษาภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว

ในการรักษาความผิดปกตินี้ แพทย์จะมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนและควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติมากที่สุด โดนแผนในการรักษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น อายุ ความพร้อมของสุขภาพ ชนิดของ Atrial Fibrillation ที่ผู้ป่วยเป็น อาการที่เป็น และสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการ โดยในเบื้องต้น แพทย์จะต้องทราบสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติเสียก่อน เนื่องจากบางสาเหตุหากได้รับการรักษาก็จะทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังควรดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และควบคุมการรับประทานอาหาร เช่น

  • ลดการบริโภคน้ำตาล เกลือ และไขมัน
  • ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ไอ หรือยาแก้ไข้หวัดหากไม่จำเป็น เพราะจะยิ่งทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น

โดยในระหว่างการรักษาภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพริ้ว วิธีที่แพทย์มักใช้ในการรักษาได้แก่

การใช้ยา ยาที่แพทย์ใช้ในการรักษาจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

  • ยาควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น ยาเบต้าเตอร์บล็อกเกอร์ ยาแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ยาไดจอกซิน แต่ถึงแม้ยาเหล่านี้จะช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจได้ แต่ก็มีผลข้างเคียง เช่น ยาเบต้าบล็อกเกอร์ อาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย มือเท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ ฝันร้าย และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ส่วนยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์บางชนิด อย่าง ยาเวราพามิล อาจทำให้ท้องผูก ความดันโลหิตต่ำ ข้อเท้าบวม หรือรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายได้
  • ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ เช่น ยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ และยาโพสแทสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ โดยการใช้ยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ อาทิ ยากลุ่มโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ อย่างยาฟลีเคไนด์ ก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และโรคที่เกี่ยวกับจังหวะการเต้นของหัวใจ และยาอะมิโอดาโรน ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยาโพสแทสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ อาจเกิดผลข้างเคียงเช่น แพ้แสง ปัญหาเกี่ยวกับปอด การทำงานของตับ หรือต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เป็นต้น
  • ยาละลายลิ่มเลือด ในกรณีที่ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดปกติติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดได้ จึงทำให้แพทย์ต้องสั่งใช้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากลิ่มเลือดอุดตัน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โดยยาที่แพทย์มักใช้ ได้แก่ ยาวาฟาริน ยาเฮพาริน ยาอะพิซาแบน ยาดาบิกาทรานแต่แพทย์จะไม่นิยมใช้ยาแอสไพรินเพื่อละลายลิ่มเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะ Atrial Fibrillation

การรักษาด้วยวิธีกระตุ้นไฟฟ้า เป็นการรักษาโดยใช้คลื่นไฟฟ้าในปริมาณที่แพทย์ควบคุม เพื่อกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติ วิธีการรักษาจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ทว่าการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด ดังนั้น แพทย์จึงอาจสั่งใช้ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดก่อนเข้ารับการรักษาอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ และหลังจากเข้าการรักษาแล้วก็จำเป็นที่จะต้องใช้ยาต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์เพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง หากการรักษาประสบความสำเร็จ แพทย์อาจพิจารณาให้หยุดใช้ยาได้ แต่หากเป็นผู้ป่วยที่ความเสี่ยงสูง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาต่อเนื่อง และติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ความเสี่ยงกลับมาเพิ่มสูงขึ้น

การผ่าตัด ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการ วิธีการรักษาที่ใช้ได้แก่ การสอดสายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Catheter Ablation) เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจบริเวณที่ส่งสัญญาณผิดปกติ โดยการรักษาจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง และจะต้องใช้ยาสลบในการรักษาด้วย

หลังจากการรักษาผู้ป่วยจะฟื้นตัวรวดเร็ว แต่ควรหลีกเลี่ยงการขับรถหลังจากผ่าตัดอย่างน้อย 2 วัน และห้ามยกของหนักอย่างน้อย 2 สัปดาห์

การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ในกรณีที่ที่การรักษาวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจเพื่อช่วยให้การเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ อุปกรณ์นี้ดังกล่าวมีขนาดเล็ก โดยจะถูกฝังไว้ที่หน้าอกบริเวณกระดูกไหปลาร้า วิธีการรักษานี้มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุมาก ๆ เนื่องจากการรักษาด้วยยาอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว

ผู้ป่วยภาวะดังกล่าวหากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงมากขึ้น โดยภาวะแทรกซ้อนที่มักพบได้แก่

  • โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่มักพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะ Atrial Fibrillation เนื่องจากเมื่อหัวใจห้องบนไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เต็มที่ ก็จะทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้น และเมื่อลิ่มเลือดเข้าสู่กระแสเลือดก็อาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด และหากลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ก็อาจจะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ สมองก็จะขาดเลือดหากรุนแรงอาจทำให้เนื้อเยื่อสมองตายได้
  • หัวใจวาย ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพริ้วติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จะส่งผลให้หัวใจทำงานได้น้อยลง ในรายที่อาการรุนแรงมาก ๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การป้องกันภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว

Atrial Fibrillation เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังควรควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพราะจะยิ่งส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิด Atrial Fibrillation ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่แพทย์จะรับมือได้อย่างทันท่วงที