Baclofen (บาโคลเฟน)
Baclofen (บาโคลเฟน) เป็นยาคลายกล้ามเนื้อที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาจใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เช่น กายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งหรือกระตุก สำหรับผู้ที่มีกล้ามเนื้อแข็งตึงผิดปกติ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง รวมถึงผู้ป่วยโรคมัลติเพิล สเคลอโรซิส (Multiple Sclerosis) นอกจากนี้ ยังอาจใช้บรรเทาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Baclofen
กลุ่มยา | ยาคลายกล้ามเนื้อ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | บรรเทาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน และยาฉีด |
คำเตือนในการใช้ยา Baclofen
- ห้ามใช้ยานี้เมื่อต้องทำกิจกรรมที่อาศัยความตึงตัวของกล้ามเนื้อในการรักษาสมดุลหรือการเคลื่อนไหว
- ห้ามหยุดใช้ยากะทันหัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ชัก ประสาทหลอน เป็นต้น
- ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนหรือทำให้หายใจช้าลง เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ปวดชนิดเสพติด ยาแก้ไอ ยาคลายกล้ามเนื้อชนิดอื่น ยารักษาโรควิตกกังวล ยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาอาการชัก เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ไม่ควรใช้ยาหากแพ้ยาชนิดนี้
- ไม่ควรใช้ยา Baclofen กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ควรปรึกษาแพทย์หากต้องให้นมบุตรขณะใช้ยานี้ และอาจต้องงดให้นมบุตร เพราะยาจะถูกขับออกทางน้ำนม ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่
- การใช้ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดซีสต์ที่รังไข่ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
- การใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
- ควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะหรือทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวตลอดเวลา เพราะยานี้อาจส่งผลให้มีอาการง่วงซึมและวิงเวียน ประสิทธิภาพของการคิดและการกระทำลดลง
บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา เพราะโรคประจำตัวหรือภาวะต่าง ๆ อาจส่งผลต่อการใช้ยา
- ผู้ป่วยโรคไต
- ผู้ป่วยโรคลมชัก หรือผู้ที่มีอาการชักชนิดอื่น ๆ
- ผู้ที่เคยมีประวัติโรคหลอดเลือดสมองหรือลิ่มเลือด
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 เพราะยาอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจหรืออารมณ์
- ผู้ที่อยู่ในระหว่างการใช้ยา วิตามิน หรือสมุนไพรชนิดอื่น ๆ
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่ตั้งครรภ์ในระหว่างใช้ยา เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ เนื่องจากมีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายา Baclofen เป็นเหตุให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยและพิการแต่กำเนิด แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผลกระทบเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับมนุษย์หรือไม่
ปริมาณการใช้ยา Baclofen
ยา Baclofen ที่ใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งเรื้อรังอย่างรุนแรงมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ ยาฉีดเข้าทางช่องเยื่อหุ้มไขสันหลัง และยารับประทาน ซึ่งปริมาณยาที่ใช้จะแตกต่างกันไปตามอายุและอาการของผู้ป่วย โดยมีรายละเอียดการใช้ยาดังต่อไปนี้
ยาชนิดฉีดเข้าทางช่องเยื่อหุ้มไขสันหลัง
- ผู้ใหญ่ เริ่มต้นทดลองยาที่ปริมาณ 25 หรือ 50 ไมโครกรัม ค่อย ๆ ฉีดนานอย่างน้อย 1 นาที และอาจเพิ่มยาอีก 25 ไมโครกรัม โดยทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ไปจนถึง 100 ไมโครกรัม หรือจนกว่าจะมีการตอบสนองที่ดีหลังฉีดยาไปแล้ว 4-8 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีการตอบสนองไม่ควรรับยาจนครบ 100 ไมโครกรัม ส่วนผู้ที่มีการตอบสนองโดยยาออกฤทธิ์นานกว่า 8-12 ชั่วโมง สามารถหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แต่หากยาออกฤทธิ์น้อยกว่า 8-12 ชั่วโมง อาจให้ยาเป็น 2 เท่าของปริมาณยาที่เริ่มต้นทดลอง จากนั้นสามารถให้ยาในปริมาณคงที่วันละ 12-2,000 ไมโครกรัม สำหรับผู้มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งที่มีสาเหตุจากไขสันหลัง และ 22-1,400 ไมโครกรัม สำหรับผู้มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งที่มีสาเหตุจากสมอง
- เด็กอายุ 4-18 ปี เริ่มต้นทดลองยาที่ปริมาณ 25 หรือ 50 ไมโครกรัม อย่างน้อย 1 นาที และอาจเพิ่มยา 25 ไมโครกรัม ทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 100 ไมโครกรัม จากนั้นให้ยาในปริมาณคงที่วันละ 25-200 ไมโครกรัม
ยาชนิดรับประทาน
- ผู้ใหญ่ เริ่มต้นรับประทานยาวันละ 15 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานปริมาณ 5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน และเพิ่มปริมาณยาเป็น 10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน โดยเพิ่มปริมาณยาได้สูงสุดถึง 20 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากเพิ่มปริมาณยาสูงสุดแล้วไม่มีการตอบสนองภายใน 6 สัปดาห์ จึงค่อย ๆ หยุดใช้ยา
- เด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี รับประทานยาวันละ 0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ควรแบ่งรับประทานเป็น 4 ครั้ง/วัน และให้ยาในปริมาณคงที่วันละ 0.75-2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ปี สามารถรับประทานยาได้สูงสุดไม่เกินวันละ 40 มิลลิกรัม และเด็กที่อายุตั้งแต่ 8-18 ปี สามารถรับประทานยาได้สูงสุดไม่เกินวันละ 60 มิลลิกรัม
การใช้ยา Baclofen
- ควรอ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยาเกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
- หากลืมรับประทานยาตามกำหนด เมื่อนึกขึ้นได้ให้รับประทานยาทันที หากเป็นเวลาใกล้กับยาครั้งถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาและปริมาณปกติ ไม่ต้องเพิ่มยาเพื่อทดแทนมื้อที่ขาดไป
- หากใช้ยาเกินขนาดควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง มองเห็นภาพไม่ชัด อาเจียน ง่วงซึม หายใจช้า ชัก หรือมีอาการโคม่า
- ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้องให้พ้นมือเด็ก ห่างจากความร้อน ความชื้น และแสง รวมถึงปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้ยา
- ไม่รับประทานยาที่หมดอายุ และห้ามเก็บยาที่หมดอายุหรือไม่ได้ใช้เป็นเวลานาน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Baclofen
ยา Baclofen อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น ง่วงซึม วิงเวียน รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก อาเจียน ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ เป็นต้น และควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน หากพบอาการรุนแรงอื่น ๆ ดังนี้
- อาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง หายใจลำบาก มีอาการบวมที่ลิ้น ริมฝีปาก ใบหน้า หรือลำคอ
- หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจรวยริน
- ประสาทหลอน หรือรู้สึกสับสน
- ชัก