Beclomethasone
Beclomethasone (เบโคลเมทาโซน) เป็นยาสเตียรอยด์ที่ใช้ในการรักษาและป้องกันโรคหืด โดยตัวยาจะป้องกันเซลล์จากการถูกกระตุ้นแล้วปล่อยสารที่ทำให้เกิดอาการหืด และยับยั้งสารเคมีในร่างกายที่ทำให้เกิดการอักเสบ จึงช่วยลดอาการอักเสบ บวม และระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ ยังช่วยรักษาอาการคัดจมูก จาม อาการอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากการอักเสบของจมูกเนื่องจากภูมิแพ้ บางกรณีอาจนำมาใช้รักษาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งนี้ ยา Beclomethasone มีทั้งชนิดพ่นทางปาก จมูก สูดดม และรูปแบบอื่น ๆ เช่น ยารับประทานหรือยาทา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ใช้ตามโรคและความเหมาะสม
เกี่ยวกับยา Beclomethasone
กลุ่มยา | คอร์ติโคสเตียรอยด์ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาและป้องกันโรคหืด อาการคัดจมูก |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาพ่น ยารับประทาน ยาทาภายนอก |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ให้นมบุตร |
Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ แต่ยาพ่นทางปาก ยาเม็ด และยาทายังไม่มีการระบุหมวดหมู่สำหรับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ แต่หากกำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตรในขณะที่ใช้ยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ |
คำเตือนในการใช้ยา Beclomethasone
ยาเบโคลเมทาโซนมีข้อควรทราบก่อนการใช้ ดังนี้
- ห้ามใช้ยาขณะโรคหืดกำเริบ
- แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงได้
- แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบถึงยา วิตามิน อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาในร่างกาย
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาหากผู้ป่วยมีประวัติการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ ภาวะปอดติดเชื้อขั้นรุนแรง โรคกระดูกพรุน ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง การติดเชื้อเริมบริเวณดวงตา ต้อกระจก ต้อหิน หรือมีภาวะความดันในตาสูง
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยมีอาการของวัณโรคและยังไม่ได้รับการรักษา
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์บุตร
- ยาเบโคลเมทาโซนใช้เวลาในการออกฤทธิ์และควบคุมอาการที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งยาจะออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดภายใน 3-4 สัปดาห์ หากหลังใช้ยา แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
- แพทย์อาจปรับปริมาณการใช้ยาในกรณีที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด มีอาการป่วยอื่น ๆ มีภาวะเครียด หรือหลังมีอาการหืดกำเริบ
- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากระบบการหายใจของผู้ป่วยมีปัญหาที่รุนแรงขึ้นหลังการใช้ยา ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล หรือจำเป็นต้องใช้ยาบ่อยกว่าปกติ
- ผู้ที่อยู่ในระหว่างการใช้ยาเบโคลเมทาโซนชนิดพ่นทางปากควรล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยติดเชื้อต่าง ๆ มีไข้ โรคหวัด โดยเฉพาะโรคอีสุกอีใสและโรคหัด เนื่องจากมีโอกาสที่จะติดเชื้อและอาจส่งผลให้เกิดอันตรายรุนแรงถึงชีวิต หากผู้ที่กำลังใช้ยาเคยมีประวัติการป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสหรือโรคหัดมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์
- ปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน เนื่องจากการใช้วัคซีนร่วมกับยา Beclomethasone ชนิดพ่นทางปากอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อหรือวัคซีนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
- ควรตรวจเช็คความดันในตาหากใช้ยา Beclomethasone ชนิดพ่นทางปากติดต่อกันเป็นเวลานาน
- หากระหว่างการใช้ยาเบโคลเมทาโซน ผู้ป่วยมีรอยด่างสีขาวในปาก จมูก หรือลำคอ รู้สึกเจ็บขณะรับประทานหรือกลืนอาหาร ควรแจ้งแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อราในช่องปากและลำคอ
- ขณะใช้ยา Beclomethasone ผู้ป่วยควรพกข้อมูลประจำตัวทางการแพทย์และเบอร์ติดต่อญาติไว้กับตนเอง เนื่องจากอาจจำเป็นจะต้องใช้ยาปริมาณมากกว่าปกติในกรณีฉุกเฉิน
- หลังการใช้ยาพ่น Beclomethasone อาจเกิดอาการหายใจเสียงดังและหายใจลำบากกระทันหัน ให้ผู้ป่วยใช้ยาบรรเทาอาการ (Fast-acting Asthma Medication) และเข้าพบแพทย์ทันที ห้ามใช้ยาพ่นซ้ำจนกว่าจะมีคำสั่งจากแพทย์
- หากเปลี่ยนรูปแบบการใช้ยาจากชนิดพ่นทางปากไปเป็นชนิดอื่น อาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า วิงเวียน ท้องเสีย อาเจียน ไม่สามารถตัดสินใจได้ และมีน้ำตาลในเลือดต่ำ อาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นผลรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เมื่อเกิดอาการดังกล่าวควรเข้าพบแพทย์ทันที
- การใช้ยาเบโคลเมทาโซนในเด็กอาจทำให้เด็กเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ
- ห้ามแยกขวดยาและหัวพ่นออกจากกัน
- การใช้ยา Beclomethasone ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
ปริมาณการใช้ยา Beclomethasone
ปริมาณและระยะเวลาการใช้ยาเบโคลเมทาโซนขึ้นอยู่การรักษา ความรุนแรงของอาการ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา รวมไปถึงการควบคุมอาการในปัจจุบันและความเสี่ยงที่อาการจะกำเริบในอนาคตด้วย โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
ควบคุมอาการของโรคหืด
ชนิดพ่นทางปาก
ตัวอย่างการใช้ Beclomethasone ชนิดพ่นทางปาก เพื่อควบคุมอาการของโรคหืด
เด็กอายุ 4-11 ปี เริ่มต้นการใช้ยาปริมาณ 40 ไมโครกรัม 2 ครั้งต่อวัน โดยใช้ยาในเวลาห่างกันอย่างน้อย 12 ชั่วโมง หลังจากการใช้ยา 2 อาทิตย์ แพทย์อาจเพิ่มปริมาณการใช้ยาขึ้นเพื่อควบคุมอาการ และจะปรับปริมาณลงหากผู้ป่วยมีอาการคงที่เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยปริมาณสูงสุดในการใช้ยาไม่เกิน 80 ไมโครกรัม 2 ครั้งต่อวัน
เด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไป และผู้ใหญ่ ผู้ที่ไม่เคยใช้ยาพ่นในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ให้เริ่มต้นใช้ยาปริมาณ 40-80 ไมโครกรัม 2 ครั้งต่อวัน โดยใช้ยาในเวลาห่างกันอย่างน้อย 12 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่เปลี่ยนจากการใช้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์มาใช้ยา Beclomethasone ปริมาณการใช้ยาเริ่มต้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ยาชนิดก่อน แต่โดยทั่วไปจะใช้ในปริมาณ 40-320 ไมโครกรัม 2 ครั้งต่อวัน หลังจากการใช้ยา 2 อาทิตย์ แพทย์อาจปรับปริมาณยาขึ้นเพื่อควบคุมอาการ และจะปรับปริมาณลงหากผู้ป่วยมีอาการคงที่เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยปริมาณสูงสุดในการใช้ยาไม่เกิน 320 ไมโครกรัม 2 ครั้งต่อวัน
จมูกอักเสบจากภูมิแพ้
ชนิดพ่นทางจมูก
ตัวอย่างการใช้ Beclomethasone ชนิดพ่นทางจมูก เพื่อรักษาจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี แพทย์จะต้องเป็นผู้กำหนดปริมาณการใช้ยาให้เท่านั้น
เด็กอายุ 4-11 ปี พ่นยาเข้าจมูก 1 ครั้ง วันละ 1 รอบ
เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ พ่นยาเข้าจมูก 2 ครั้ง วันละ 1 รอบ โดยการฉีดแต่ละครั้งจะมีปริมาณยา 80 ไมโครกรัม
การใช้ยา Beclomethasone
เพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัยควรทำตาม ดังนี้
- ใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากหรือหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์กำหนด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- ห้ามเริ่ม หยุด หรือปรับปริมาณการใช้ยาด้วยตนเอง
- ไม่ควรหยุดการใช้ยาทันที เพราะอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการขาดยา
- ยาเบโคลเมทาโซนชนิดพ่นทางปากให้ใช้วิธีการสูดเข้าทางปากเท่านั้น ห้ามกลืน หลังการใช้ยาแล้วผู้ป่วยควรกลั้วปากด้วยน้ำเปล่าและบ้วนทิ้งเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา
- ห้ามเขย่ายาชนิดพ่นทางปากก่อนใช้ เนื่องจากยาอาจหกขณะเปิดใช้ได้
- หากยาเบโคลเมทาโซนชนิดพ่นทางปากเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำเปล่า ในกรณีที่ดวงตาเกิดอาการระคายเคืองควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ห้ามใช้ยาขณะสูบบุหรี่ ห้ามใช้ยาพ่นในพื้นที่ที่มีความร้อนสูงหรือใกล้กับเปลวไฟ เนื่องจากเครื่องมือพ่นอาจระเบิดได้
- หากผู้ป่วยเริ่มใช้ยาชนิดพ่นทางจมูกเป็นครั้งแรกหรือเริ่มใช้หลังจากหยุดการใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน ให้ผู้ป่วยใช้ยาขวดใหม่ โดยการใช้ยาพ่นครั้งแรกให้กดบริเวณด้านบนของขวดลงจนสุด 4 ครั้งหรือจนกว่าจะมีละอองออกมา โดยสเปรย์ 1 ขวดจะมีปริมาณยาสำหรับการใช้ 120 ครั้ง
- ก่อนการพ่นยาทางจมูกให้พัดจมูกเบา ๆ แหงนหน้าขึ้นเล็กน้อย นำหัวพ่นจ่อที่รูจมูกโดยตรงและปิดจมูก เมื่อพ่นยาแล้วให้สูดหายใจเข้าเบา ๆ กลั้นหายใจ 3-4 ที ปล่อยลมหายใจออกช้า ๆ ทางปาก ห้ามพัดจมูกหลังการพ่นยา
- เครื่องมือที่ใช้พ่นยารูปแบบที่มีการนับจำนวนคงเหลือของยาที่ใช้พ่น ให้หมั่นตรวจดูจำนวนคงเหลือของยาเพื่อสามารถใช้ยาได้อย่างต่อเนื่อง
- หลังการใช้ยาควรเช็ดบริเวณหัวพ่นด้วยทิชชู่หรือผ้าสะอาดให้แห้ง และห้ามล้างหัวพ่นโดยเด็ดขาด
- หมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอขณะใช้ยา
- หากลืมใช้ยา ให้ผู้ป่วยใช้ทันทีที่นึกได้ หากใกล้เวลาที่ใช้ยาครั้งถัดไปให้ข้ามไปใช้ตามปกติ ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าเพื่อทดแทน
- เก็บรักษายาอย่างมิดชิดในอุณหภูมิห้อง ห่างจากความชื้นและความร้อน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Beclomethasone
ยาเบโคลเมทาโซนมักก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ เจ็บคอ คัดจมูก ไอ เจ็บหลัง เจ็บขณะพูดหรือไม่สามารถพูดได้ตามปกติ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นและหายไปเองเนื่องจากร่างกายสามารถปรับตัวเข้ากับยาได้ในระหว่างการรักษา และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานานหรือมีอาการแย่ลง นอกจากนี้ หากผู้ป่วยใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ต้อกระจก และต้อหินได้เช่นกัน
ผู้ป่วยควรหยุดการใช้ยาและพบแพทย์ทันที ในกรณีที่ได้รับผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยา ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเจ็บหรือปวดตามร่างกาย มีเลือดคั่ง การมองเห็นผิดปกติ มีน้ำมูก มีไข้ คอแห้ง หายใจไม่สะดวก มีต่อมบวมบริเวณคอ กลืนลำบาก เสียงเปลี่ยนหรือเสียงแหบ มีผื่นคัน รอยแดง มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ตา ลิ้น ริมฝีปาก คอ มือ เท้า หัวเข่า หรือขาช่วงล่าง