Binge Eating Disorder (BED) หรือโรคกินไม่หยุด เป็นชื่อที่ใช้เรียกโรคที่มีอาการรับประทานอาหารปริมาณมากผิดปกติโดยที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะรับประทานอาหารในปริมาณมากแม้ไม่รู้สึกหิว โดยจะรับประทานจนอิ่มแน่นท้องและไม่สามารถรับประทานอาหารต่อได้ แต่ผู้ป่วยจะเกิดความรู้สึกรังเกียจหรือโกรธต่อตนเองที่รับประทานอาหารมากเกินไปหลังรับประทานอาหารเสร็จ
ในปัจจุบันยังไม่ทราบเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ แต่คาดว่าอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยโรคนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย ซึ่งช่วงอายุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือช่วงอายุ 20 ตอนต้น สำหรับการรักษาและการบำบัดจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคขึ้น ทั้งนี้ การรับประทานอาหารปริมาณมากเกินความพอดีอยู่บ่อยครั้งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
อาการของ ฺBinge Eating Disorder
อาการและสัญญาณของโรค BED อาจสังเกตได้จากพฤติกรรมการรับประทานและภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
พฤติกรรมการรับประทาน
ผู้ที่เป็นโรคนี้มักรับประทานอาหารในปริมาณมากกว่าปกติ และไม่สามารถควบคุมตนเองให้หยุดรับประทานได้แม้จะอิ่มแล้วหรือไม่รู้สึกหิวก็ตาม แต่จะหยุดก็ต่อเมื่อรู้สึกอิ่มจนไม่สบายตัวหรือไม่สามารถรับประทานอาหารต่อไปได้ อีกทั้งยังสามารถรับประทานอาหารปริมาณมาก ๆ อย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่นาน นอกจากนี้ ข้อสังเกตอีกอย่าง คือ ผู้ป่วยไม่มีพฤติกรรมที่จะลดความอ้วน ออกกำลังกายอย่างหนัก ใช้ยาระบาย หรือล้วงคออ้วก ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักเป็นอาการของโรคคลั่งผอม (Anorexia) และโรคล้วงคอ (Bulimia) รวมไปถึงผู้ป่วยอาจจะมีพฤติกรรมที่กักตุนอาหารไว้ในที่ต่าง ๆ ใกล้ตัว
ความถี่ของอาการ
ความถี่ของอาการกินไม่หยุดอาจเป็นตัวที่ช่วยบ่งชี้ความรุนแรงของโรค โดยผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจมีอาการตั้งแต่ 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ บางรายที่อาการรุนแรงอาจพบพฤติกรรมดังกล่าวประมาณ 14 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากมีพฤติกรรมดังกล่าวเพียง 1 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่เป็นอย่างต่อเนื่องกัน 3 เดือน แพทย์ก็อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคกินไม่หยุดเช่นกัน
ความผิดปกติทางอารมณ์
นอกเหนือจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ปกติ ผู้ป่วยมักจะมีความผิดปกติทางอารมณ์เกิดขึ้นร่วมด้วย โดยผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะรับประทานอาหารคนเดียว เพราะรู้สึกอับอายเวลารับประทานอาหารปริมาณมากต่อหน้าบุคคลอื่น และภายหลังจากรับประทานไปแล้วมักรู้สึกผิด เศร้า โกรธ ละอายใจ รังเกียจ หรือโทษตนเองที่รับประทานมากเกินไป
ทั้งนี้ การรับประทานอาหารปริมาณมากกว่ามื้อปกติที่เคยรับประทานเป็นครั้งคราวนั้นยังถือเป็นเรื่องปกติ เช่น การรับประทานอาหารในงานเลี้ยงสังสรรค์หรือรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์ จึงไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป หากมีความกังวลหรือพบสัญญาณของโรคก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการได้ เพราะโรคนี้อาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังหรือภาวะร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาเมื่อไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
สาเหตุของ Binge Eating Disorder
ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่คาดว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคกินไม่หยุด เช่น
- เป็นโรคอ้วน โดยผู้ที่มีอาการของโรคกินไม่หยุดกว่าครึ่งหนึ่งมักมีโรคอ้วนเป็นโรคประจำตัว แต่อาการของโรคนี้ก็อาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้เช่นกัน
- จากการศึกษาพบว่าโรค BED จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่เพศชายก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดได้เช่นกัน
- มีพฤติกรรมการใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกฮอล์เป็นประจำ
- ขาดความมั่นใจในรูปร่างและมีความพึ่งพอใจในรูปร่างของตนเองต่ำ
- เคยมีประวัติเสพติดการลดน้ำหนัก เครียดกับการลดน้ำหนัก หรือเคยล้มเหลวในการลดน้ำหนัก
- เคยผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ อย่างการสูญเสียครอบครัว เคยประสบอุบัติเหตุ หรือถูกทำร้าย
- คนในครอบครัวมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับโรคการกินผิดปกติ
- มีภาวะทางจิต อย่างภาวะซึมเศร้า โรคเครียด โรคไบโพลาร์ โรคกลัว (Phobias) และภาวะป่วยทางจิตหลังเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder)
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการรับประทานอาหารมากผิดปกติ เชื่อกันว่าเกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง อย่างเลปติน (Leptin) และเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความหิวที่หลั่งออกมามากผิดปกติ จนส่งผลให้ร่างกายมีความอยากอาหาร นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าความรู้สึกเครียด โกรธ เศร้า เบื่อหน่าย หรือความรู้สึกด้านลบก็สามารถกระตุ้นการหลั่งของสารเหล่านี้ได้
การวินิจฉัย Binge Eating Disorder
แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการสอบถามพฤติกรรมการรับประทาน อย่างปริมาณอาหาร ความถี่ในการรับประทาน รวมทั้งโรคประจำตัว ซึ่งหากตรงตามเกณฑ์ของโรคหรือมีการรับประทานอาหารในปริมาณมากอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งต่อเนื่องกัน 3 เดือน แพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็น Binge Eating Disorder นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และตรวจการนอนหลับ เพื่อหาโรคที่อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคกินไม่หยุดและช่วยวางแผนการรักษา
การรักษา Binge Eating Disorder
ภายหลังจากการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวต่อไปยังแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรค BED โดยเฉพาะ ซึ่งแพทย์อาจเลือกวิธีการรักษาที่สอดคล้องกับอาการและสาเหตุของโรคมากที่สุด ดังนี้
การใช้ยา
โรคกินไม่หยุดจัดว่าเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งแพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านเศร้าหรือยากันชักที่มักใช้รักษาโรคทางจิตชนิดอื่น ๆ เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองและป้องกันอาการของโรค การใช้ยาเพื่อรักษาโรค BED นั้นค่อนข้างให้ผลรวดเร็วและได้ผลที่ชัดเจนกว่าการรักษาแบบอื่น แต่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงในการใช้ยา และหากจำเป็นต้องใช้ยา ควรใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
การเข้ารับจิตบำบัด
จิตบำบัดเป็นการสร้างการรับรู้และเข้าใจในอาการของโรค จุดประสงค์หลักเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอารมณ์ด้านลบที่ส่งผลให้เกิดอาการของโรคได้ โดยจิตบำบัดที่ใช้รักษาโรคกินไม่หยุดแบ่งได้ 3 แบบ ดังนี้
- Cognitive Behavioral Therapy (CBT) เป็นการบำบัดที่จะสอนให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของอารมณ์และพฤติกรรมด้านลบที่ทำให้เกิดอาการ รวมทั้งเรียนรู้วิธีควบคุมที่จะช่วยลดความรุนแรงของความรู้สึกและพฤติกรรม
- Interpersonal Psychotherapy (IPT) เป็นการบำบัดที่ช่วยรักษาอาการที่มีสาเหตุมาจากปัญหาความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว อย่างความรุนแรง การหย่าร้าง หรือการเสียชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้ป่วยและทำให้เกิดโรคกินไม่หยุด โดยจิตบำบัดแบบ IPT จะช่วยให้คนไข้สามารถแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนมุมมองต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ได้
- Dialectical Behavior Therapy (DBT) เป็นการบำบัดที่สร้าง 4 ทักษะ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคนี้ คือ การตระหนักรู้ในสาเหตุและอาการ ความอดทนต่อความรู้สึกด้านลบ การจัดการอารมณ์ และการพัฒนามนุษยสัมพันธ์
การลดน้ำหนัก
กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคนี้มีโรคอ้วนเป็นโรคประจำตัว อีกทั้งจากการศึกษายังพบว่าผู้ที่เคยล้มเหลวในการลดความอ้วนมีความเสี่ยงที่เป็นโรคกินไม่หยุด ซึ่งแพทย์อาจแนะนำวิธีลดน้ำหนักภายหลังจากการรักษาโรค BED แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปมีอาการอีก โดยแพทย์และนักโภชนาการจะให้ความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง ทั้งปริมาณ สารอาหาร และการออกกำลังกาย ซึ่งการลดน้ำหนักไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันกลับไปมีอาการของโรคซ้ำแล้ว ยังอาจช่วยให้คนไข้มีรูปร่างที่ดีขึ้นและมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองมากขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น อย่างการนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังอย่างเหมาะสม และระบายความเครียดในรูปแบบต่าง ๆ อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ การจดบันทึกสภาพจิตใจ อารมณ์ และอาหารที่รับประทานในแต่ละมือ อาจช่วยให้ผู้ป่วยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของตนเองได้ดีขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนจาก Binge Eating Disorder
พฤติกรรมรับประทานอาหารทีละมาก ๆ โดยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในหลาย ๆ ด้าน เช่น
ปัญหาสุขภาพกาย
การได้รับสารอาหารและพลังงานมากเกินความจำเป็นอาจเพิ่มความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคกรดไหลย้อน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง เป็นต้น
ปัญหาสุขภาพจิต
ความรู้สึกด้านลบจากอาการของโรคอาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก ไม่อยากเข้าสังคม ซึ่งเมื่ออารมณ์เหล่านี้รุนแรงขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจนถึงภาวะทางจิตชนิดอื่น ๆ อย่างภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคไบโพลาร์
ปัญหาในชีวิตประจำวัน
การรับประทานอาหารทีละมาก ๆ อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพ ความมั่นใจในตนเอง รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กันคนรอบข้าง
การป้องกัน Binge Eating Disorder
ปัจจุบันทางการแพทย์ทราบเพียงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่แน่นอน แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคด้วยการรักษาโรคที่อาจเป็นสาเหตุของ BED และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
- ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดหรือความรู้สึกด้านลบอื่น ๆ
- เข้ารับการบำบัดเพื่อเรียนรู้การจัดกับอารมณ์
- ปรึกษาแพทย์เมื่อเกิดสัญญาณของโรค