โรคโบทูลิซึม (Botulism)

ความหมาย โรคโบทูลิซึม (Botulism)

Botulism หรือโรคโบทูลิซึม เกิดจากการได้รับสารพิษโบทูลินัมจากเชื้อแบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัม (Clostridium Botulinum) ส่วนใหญ่มักเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือผ่านทางบาดแผลที่มีรอยเปิดบนผิวหนัง โดยสารพิษดังกล่าวจะสร้างความเสียหายแก่ระบบประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หากไม่รีบไปพบแพทย์ก็อาจทวีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

1630 Botulism resized

อาการของโรคโบทูลิซึม

ระยะเวลาในการแสดงอาการของโรคโบทูลิซึมค่อนข้างแตกต่างกันในแต่ละราย ผู้ป่วยบางคนอาจเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อแบคทีเรียเพียง 6 ชั่วโมง ทว่าบางคนอาจใช้เวลานานถึง 10 วัน โดยสารพิษโบทูลินัมจากเชื้อแบคทีเรียจะสร้างความเสียหายแก่ระบบประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง มักเกิดขึ้นที่ใบหน้าเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงลุกลามลงไปยังลำคอและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

โรค Botulism อาจมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย ดังนี้

  • สายตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน หนังตาตก
  • กลืนลำบาก พูดไม่ชัด น้ำลายไหล
  • ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก
  • หายใจลำบาก หายใจถี่
  • แขนขาอ่อนแรง อ่อนเพลีย หมดแรง
  • หงุดหงิดง่าย
  • อัมพาต
  • ผู้ป่วยเด็กอาจมีอาการเซื่องซึม คอตก หรือร้องไห้เสียงเบาคล้ายไม่มีแรง
  • ผู้ป่วยโรคโบทูลิซึมที่เกิดจากอาหารอาจมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย

สาเหตุของโรคโบทูลิซึม

โดยปกติแบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัมมักปนเปื้อนอยู่ตามสิ่งแวดล้อมอย่างในดินและตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ในสภาวะปกติเชื้อแบคทีเรียนี้มักอยู่ในรูปของสปอร์ ทว่าเมื่ออยู่ในสภาวะไร้ออกซิเจน เช่น ภายในอาหารกระป๋อง หรืออาหารที่หมักดองในภาชนะปิดสนิท เป็นต้น เชื้อนี้จะผลิตสารพิษโบทูลินัม (ฺBotulinum) ขึ้นมา หากสารพิษเข้าสู่ร่างกายแม้ในปริมาณเล็กน้อย อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

แบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัมสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง ทางการแพทย์จึงแบ่งโรคโบทูลิซึมออกเป็น 4 ชนิด ตามปัจจัยที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ดังนี้

  • Foodborne Botulism เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษโบทูลินัม ส่วนใหญ่มักพบในอาหารกระป๋องที่มีกระบวนการผลิตและจัดเก็บไม่ได้มาตรฐาน หรือบรรจุภัณฑ์เกิดความเสียหาย เช่น กระป๋องมีรอยรั่ว แตก หรือบุบ เป็นต้น
  • Wound Botulism เกิดจากบาดแผลติดเชื้อแบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัมแล้วเกิดการสร้างสารพิษขึ้น ส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้สารเสพติดแบบฉีดเข้าทางผิวหนัง
  • Intestinal Botulism เกิดจากการรับประทานอาหารหรือสิ่งที่ปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อแบคทีเรีย จากนั้นเชื้อจะเจริญเติบโตและผลิตสารพิษขึ้นในสำไส้ มักพบในเด็กที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
  • Iatrogenic Botulism มาใช้เพื่อรักษาโรคบางชนิดหรือใช้ในกระบวนการเสริมความงามอย่างการฉีดโบทอกซ์ แต่หากได้รับสารพิษปริมาณมากจนเกินไปก็อาจก่อให้เกิดอาการป่วยได้เช่นกั

การวินิจฉัยโรคโบทูลิซึม

หากพบว่าตนหรือคนใกล้ชิดมีอาการของโรค Botulism ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดและรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้อาการรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต

โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคโบทูลิซึมด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การตรวจร่างกายเบื้องต้น เพื่อตรวจหาอาการของโรค อย่างอาการพูดไม่ชัดหรือหนังตาตก นอกจากนั้น แพทย์อาจสอบถามถึงอาหารที่ผู้ป่วยรับประทานก่อนเกิดอาการป่วย หรือการเกิดบาดแผลตามร่างกาย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัย
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ แพทย์อาจนำตัวอย่างเลือดหรืออุจจาระของผู้ป่วยไปตรวจหาสารพิษโบทูลินัม

ทั้งนี้ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือกลุ่มอาการกีแยงบาร์เร เป็นต้น แพทย์จึงอาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการทดสอบด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อประเมินสาเหตุและยืนยันผลการวินิจฉัยให้แน่ชัด เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG) การถ่ายภาพเพื่อดูความผิดปกติในสมอง การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง เป็นต้น

การรักษาโรคโบทูลิซึม

ผู้ป่วยโรคโบทูลิซึมจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งแพทย์จะรักษาตามชนิดของโรค โดยวิธีรักษาที่อาจนำมาใช้ มีดังนี้

ประเมินสภาวะการหายใจ ในขั้นแรกแพทย์จะประเมินสภาวะการหายใจของผู้ป่วย หากไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้หรือหายใจลำบาก อาจจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนั้น แพทย์จะงดให้น้ำและอาหารทางปากแก่ผู้ป่วย เพื่อป้องกันผู้ป่วยสำลักน้ำหรืออาหารลงปอด

การใช้ยา ยาที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทาน ได้แก่

  • ยาต้านพิษ มีฤทธิ์ทำลายสารพิษที่อยู่ในเลือด และช่วยประคับประคองอาการป่วยไม่ให้รุนแรงขึ้น
  • ยาปฏิชีวนะ มีฤทธิ์ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย มักใช้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัมทางบาดแผล

การบำบัด เมื่ออาการป่วยเริ่มคงที่ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดเพื่อฟื้นฟูการทำงานด้านต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การกลืน การพูด การเคลื่อนไหวแขนและขา เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคโบทูลิซึม

ผู้ป่วยที่รีบไปพบแพทย์ตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรงมักมีโอกาสรอดชีวิตสูง และฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้นโดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจไม่สามารถหายเป็นปกติได้โดยสมบูรณ์ เพราะส่วนใหญ่มักมีปัญหาทางการหายใจในระยะยาว เช่น อาการหายใจถี่ หรือรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ เป็นต้น

การป้องกันโรคโบทูลิซึม

โรค Botulism ป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อแบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัมเข้าสู่ร่างกาย โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • หากต้องการถนอมอาหารอย่างการหมักหรือดองผักผลไม้ไว้รับประทานเอง ให้ล้างมือก่อนตระเตรียมจัดการถนอมอาหารทุกชนิด และเก็บอาหารใส่ภาชนะที่สะอาด
  • หากต้องการรับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหาร เช่น อาหารกระป๋อง ของหมักดอง เป็นต้น ให้นำมาอุ่นด้วยความร้อนสูงก่อนทุกครั้ง และควรรับประทานอาหารกระป๋องให้หมดภายในครั้งเดียว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารกระป๋องที่บรรจุภัณฑ์มีรอยรั่ว แตก บุบ หรือบวม อาหารภายในกระป๋องมีกลิ่นบูดเน่าหรือมีสีผิดปกติ หรือเมื่อเปิดฝาแล้วมีอากาศ น้ำ หรือฟองพุ่งออกมาจากกระป๋อง
  • เก็บน้ำมันสำหรับประกอบอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรหรือเครื่องเทศชนิดใด ๆ ไว้ในตู้เย็นเสมอ
  • ไม่ควรให้ทารกรับประทานน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมจากข้าวโพด เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้