หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia)

ความหมาย หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia)

Bradycardia (หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ) คือ ภาวะที่อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที ซึ่งน้อยกว่าการเต้นของหัวใจในอัตราปกติ โดยทั่วไปแล้ว ผู้ใหญ่จะมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักอยู่ที่นาทีละ 60-100 ครั้ง ผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที ถือว่าประสบภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ภาวะนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ โดยเฉพาะในกรณีที่หัวใจเต้นช้าจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดและนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ

Bradycardia

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ประสบภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติบางรายอาจไม่เกิดอาการหรือภาวะแทกซ้อนใด ๆ เช่น นักกีฬาหรือผู้ที่เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอมักมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่าปกติ เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ ส่งผลให้สูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หัวใจจึงต้องบีบตัวช้าลงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของร่างกาย

อาการของหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ

ผู้ที่ประสบภาวะ Bradycardia หรืออัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ จะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองและส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการป่วยต่าง ๆ ดังนี้

  • เมื่อยล้า หรือรู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย
  • วิงเวียนศีรษะ
  • รู้สึกสับสนมึนงง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
  • เป็นลม หรือมีอาการคล้ายจะเป็นลม เนื่องจากอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้ากว่าปกติส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ
  • หายใจไม่สุด
  • เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกใจสั่น (Palpitations)
  • ออกกำลังกายได้ไม่ถนัด หรือรู้สึกเหนื่อยเร็วเมื่อออกกำลังกาย
  • ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีร้ายแรง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ปรากฏอาการของภาวะ Bradycardia หรือปรากฏอาการเพียงเล็กน้อย นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมักมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้ากว่าปกติ ซึ่งไม่นับเป็นปัญหาสุขภาพ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังหรือฝึกร่างกายอย่างนักกีฬาแต่ประสบภาวะดังกล่าว รวมทั้งมีอาการเป็นลม หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอกนานหลายนาที ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยอาการดังกล่าวทันที

สาเหตุของหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ

โดยทั่วไปแล้ว หัวใจมีอยู่ 4 ห้อง แบ่งเป็น หัวใจสองห้องบนหรือ Atria และหัวใจสองห้องล่างหรือ Ventricles ตัวกำหนดจังหวะหรือ Sinus Node ซึ่งอยู่หัวใจห้องบนขวา ทำหน้าที่ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ โดยจะผลิตกระแสไฟฟ้าที่ช่วยให้เกิดจังหวะการเต้นของหัวใจ กระแสไฟฟ้าจะเดินทางผ่านหัวใจห้องบน เพื่อให้บีบตัวและลำเลียงเลือดไปหัวใจห้องล่าง โดยต้องผ่านกลุ่มเซลล์ AV Node ซึ่งถ่ายทอดสัญญาณไฟฟ้าไปยังกลุ่มเซลล์ของหัวใจห้องล่างซ้ายและขวา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวและลำเลียงเลือดที่บริเวณดังกล่าว หัวใจห้องล่างขวาจะลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนน้อยไปที่ปอด ส่วนหัวใจห้องล่างซ้ายจะลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนมากไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หาก Sinus Node ปล่อยกระแสไฟฟ้าช้ากว่าปกติ หยุดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ หรือปล่อยกระแสไฟฟ้าแล้วไม่สามารถไปกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวได้ จะส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลง

ภาวะ Bradycardia เกิดจากการกระแสไฟฟ้าที่ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจเกิดความผิดปกติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้กระแสไฟฟ้าดังกล่าวผิดปกติ มีดังนี้

  • เนื้อเยื่อหัวใจเสื่อมตามอายุของผู้ป่วยที่มากขึ้น
  • เนื้อเยื่อหัวใจถูกทำลายจากการป่วยเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ 
  • ความดันโลหิตสูง
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดหัวใจ
  • ภาวะไฮโปไทรอยด์หรือภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
  • สมดุลเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ เช่น โพแทสเซียม หรือแคลเซียม
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea)
  • ป่วยเป็นโรคที่เกิดการอักเสบตามร่างกาย เช่น โรคลูปัส หรือไข้รูมาติก
  • ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
  • ยาบางอย่าง เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจอื่น ๆ ยารักษาความดันโลหิตสูง หรือยารักษาโรคจิต

นอกจากนี้ อายุและพฤติกรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอันก่อให้เกิดอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ โดยผู้สูงอายุเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพหัวใจที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติได้มาก ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก ใช้สารเสพติดต่าง ๆ เกิดโรคเครียดหรืออาการวิตกกังวล เสี่ยงเกิดภาวะ Bradycardia ได้สูง เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับภาวะนี้ด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพด้วยวิธีทางการแพทย์จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลงได้

การวินิจฉัยหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ

ผู้ป่วยที่ประสบภาวะ Bradycardia ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เบื้องต้นแพทย์จะถามอาการของผู้ป่วย ซักประวัติการรักษาและประวัติการป่วยของบุคคลในครอบครัว รวมทั้งตรวจร่างกายผู้ป่วย นอกจากนี้ แพทย์อาจต้องขอตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เพื่อวัดอัตราการเต้นหัวใจ วิเคราะห์อาการที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ และระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว การตรวจสำหรับวินิจฉัยภาวะ Bradycardia ประกอบด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจอื่น ๆ ในห้องทดลอง ดังนี้

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, ECG) แพทย์จะนำขั้วไฟฟ้าซึ่งมีตัวรับสัญญาณแตะที่หน้าอกและแขนของผู้ป่วย เพื่อบันทึกสัญญาณไฟฟ้าที่วิ่งผ่านหัวใจ และวินิจฉัยสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นช้าจากลักษณะสัญญาณของกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาสำหรับตรวจเองที่บ้าน เพื่อดูอัตราการเต้นของหัวใจและช่วยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้ากว่าปกติกับอาการป่วยที่เกิดขึ้น โดยอุปกรณ์ดังกล่าวเรียกว่าเครื่อง Holter ผู้ป่วยสามารถพกเครื่องนี้ไว้ในกระเป๋าหรือสวมติดไว้ที่เข็มขัดหรือแถบบ่าของเสื้อผ้า เพื่อบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง  ซึ่งช่วยให้แพทย์ดูการเต้นของหัวใจผู้ป่วยได้นานขึ้น โดยแพทย์จะสอนให้ผู้ป่วยใช้เครื่อง Holter สำหรับบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจในกรณีที่อาการของโรคปรากฏขึ้นมาและให้ทำบันทึกควบคู่ไปด้วย ผู้ป่วยสามารถลงรายละเอียดเกี่ยวกับอาการป่วยและช่วงเวลาที่เกิดอาการของโรคไปในบันทึกดังกล่าวได้ ทั้งนี้ แพทย์จะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่ให้ผู้ป่วยทดสอบทำกิจกรรมอื่นไปด้วย เพื่อดูระดับผลกระทบของกิจกรรมที่ส่งผลต่อภาวะหัวใจเต้นช้า กิจกรรมทดสอบประกอบการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ มีดังนี้
    • ทดสอบด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test) การทดสอบนี้จะช่วยวินิจฉัยภาวะ Bradycardia ที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นลม โดยให้ผู้ป่วยนอนลงบนเตียง และปรับระดับเตียงในระดับต่าง ๆ เพื่อดูการเกิดอาการเป็นลม
    • ทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise test) แพทย์จะให้ผู้ป่วยเดินบนลู่วิ่งหรือปั่นจักรยาน เพื่อดูว่าอัตราการเต้นหัวใจของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเมื่อทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเหมาะสมหรือไม่
  • การตรวจอื่น ๆ ในห้องทดลอง แพทย์อาจขอตรวจเลือดผู้ป่วย เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพที่ก่อให้เกิดภาวะ Bradycardia หรือไม่ เช่น ติดเชื้อ ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรือระดับเกลือแร่ไม่สมดุล รวมทั้งทำการทดสอบเกี่ยวกับการนอนหลับของผู้ป่วยบางรายในกรณีที่สันนิษฐานว่าสาเหตุของหัวใจเต้นช้ากว่าปกติเกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การรักษาหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ

ผู้ที่ประสบภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติบางรายไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ยกเว้นผู้ที่มีอาการมานานหรือเป็นซ้ำ ๆ ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของอาการและสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ซึ่งวิธีรักษาแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ การรักษาสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นช้า การปรับเปลี่ยนยา และการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ดังนี้

  • การรักษาสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นช้า ผู้ที่ประสบภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ จะต้องเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพดังกล่าวให้หาย เช่น ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ที่เกิดอาการหัวใจเต้นช้าผิดปกติ จำเป็นต้องรับการรักษาอาการป่วยของตน โดยแพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนแก่ผู้ป่วย เช่น เลโวไทรอกซิน (Levothyroxine) หรือผู้ป่วยโรคลายม์จะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาอาการติดเชื้ออันเป็นสาเหตุของภาวะ Bradycardia
  • การปรับเปลี่ยนยา ยารักษาโรคบางชนิดอันรวมไปถึงยารักษาปัญหาสุขภาพหัวใจบางอย่างนั้น ก่อให้เกิดภาวะ Bradycardia ได้ แพทย์จะตรวจยาที่ผู้ป่วยใช้รักษาโรค รวมทั้งแนะนำวิธีรักษาทางเลือกอื่นให้อย่างเหมาะสม โดยแพทย์อาจเปลี่ยนหรือลดขนาดยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่ เพื่อรักษาอาการหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ อย่างไรก็ตาม หากวิธีรักษาทางเลือกที่นำมาใช้รักษานั้นไม่ได้ผล และจำเป็นต้องใช้ยารักษาอาการป่วย แพทย์อาจรักษาภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติให้ผู้ป่วยด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
  • การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) ผู้ที่ประสบภาวะ Bradycardia อาจต้องได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ โดยเครื่องนี้มีขนาดเท่าโทรศัพท์มือถือและมีแบตเตอรี่อยู่ภายในเครื่อง แพทย์จะปลูกถ่ายเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจไว้ใต้ไหปลาร้าผู้ป่วย ลวดของอุปกรณ์จะฝังผ่านเส้นเลือดไปที่หัวใจ ขั้วไฟฟ้าที่อยู่ปลายสุดของลวดจะอยู่ติดกับเนื้อเยื่อหัวใจ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจจะช่วยจับอัตราการเต้นหัวใจและปล่อยกระแสไฟฟ้าในปริมาณพอดี เพื่อรักษาระดับการเต้นของหัวใจให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม ทั้งนี้ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจจะบันทึกข้อมูลที่แพทย์สามารถนำไปใช้ตรวจสุขภาพหัวใจได้ ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามการรักษาและดูการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใส่เครื่องนี้ควรเลี่ยงการอยู่ใกล้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือที่ที่มีคลื่นไฟฟ้าแรงสูง เนื่องจากอาจทำให้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อีกทั้งหากเกิดอาการที่แสดงว่าการทำงานของเครื่องผิดปกติ ควรพบแพทย์ทันที เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือช้ามาก หัวใจหยุดเต้น ใจสั่น รู้สึกเวียนศีรษะคล้ายเป็นลม หรือหายใจไม่สุดซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อนหรืออาการดังกล่าวแย่ลงกว่าที่เคยเป็น

ภาวะแทรกซ้อนจากหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ

ผู้ป่วยที่ประสบภาวะ Bradycardia แล้วไม่เข้ารับการรักษา เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดปัญหาการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและชนิดของเนื้อเยื่อหัวใจที่ถูกทำลาย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยได้ ดังนี้

  • เป็นลมบ่อย รวมทั้งเกิดอาการวูบ (Syncope) และหมดสติ
  • ประสบภาวะความดันโลหิตสูงหรือความดันต่ำ 
  • ประสบภาวะหัวใจวาย เนื่องจากหัวใจไม่มีประสิทธิภาพในการสูบฉีดเลือดได้อย่างเพียงพอ
  • ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันหรือเสียชีวิตกะทันหัน

การป้องกันหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ

ภาวะ Bradycardia เป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ โดยต้องลดปัจจัยเสี่ยงอันนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีวิธีลดปัจจัยเสี่ยงของโรค ดังนี้

  • ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น อาหารไขมันต่ำ ผัก ผลไม้ หรือธัญพืชขัดสี
  • ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งลดน้ำหนักในกรณีที่น้ำหนักตัวมากเกินไป เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินทำให้เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้สูง
  • ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง รวมทั้งรับประทานยารักษาโรคดังกล่าว เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในเลือด
  • หยุดสูบบุหรี่ หากเลิกไม่ได้ ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา
  • ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางรายต้องงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด ส่วนผู้ที่ไม่สามารถจำกัดปริมาณการดื่มของตนเองได้ ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและแนวทางในการเลิกดื่ม
  • ไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด
  • ควรทำตัวให้ผ่อนคลาย เพื่อเลี่ยงการเกิดความเครียด รวมทั้งหาวิธีรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
  • ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายและอาการป่วยอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจสามารถลดความเสี่ยงการเกิดภาวะ Bradycardia หรือภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดอื่นได้ โดยปฏิบัติตามแผนการรักษาและรับประทานยาตามแพทย์สั่งจ่ายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาในกรณีที่อาการป่วยแย่ลงหรือเกิดอาการป่วยอื่น ๆ ขึ้นมาใหม่