ความหมาย โรคหลอดลมโป่งพอง (Bronchiectasis)
Bronchiectasis หรือโรคหลอดลมโป่งพอง เป็นภาวะที่หลอดลมเสียหายอย่างถาวร ส่งผลให้มีเชื้อแบคทีเรียและสารคัดหลั่งสะสมภายในปอด ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงติดเชื้อและเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ โรคนี้ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ โดยผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ต้องมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบทางเดินหายใจมากขึ้น
อาการของโรคหลอดลมโป่งพอง
อาการของผู้ป่วยแต่ละคนจะค่อนข้างแตกต่างกันออกไป แต่ที่พบได้บ่อยคืออาการไอเรื้อรัง และมีเสมหะจำนวนมาก โดยเสมหะนั้นอาจมีสีใส สีเหลืองอ่อน หรือสีเขียว ทั้งนี้ บางรายอาจไม่มีอาการไอหรือมีเสมหะเพียงเล็กน้อย ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ มีดังนี้
- หายใจถี่ หายใจมีเสียงหวีด
- ไอเป็นเลือดหรือมีเลือดปนในเสมหะ
- เจ็บหน้าอก โดยอาจรู้สึกเจ็บแปลบอย่างเฉียบพลันขณะหายใจ
- อ่อนเพลีย
- ปวดตามข้อ
- น้ำหนักลด
- มีอาการนิ้วปุ้ม ซึ่งเป็นภาวะที่เนื้อเยื่อบริเวณเล็บหนาตัวขึ้นเนื่องจากได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอเป็นเวลานาน ทำให้ปลายนิ้วมีลักษณะกลมและโป่งขึ้นผิดปกติ
- เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจบ่อยขึ้น
ผู้ป่วยโรคนี้อาจมีการติดเชื้อที่ปอดร่วมด้วย ส่งผลให้มีอาการรุนแรงขึ้นภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน อาการที่สังเกตได้ มีดังนี้
- ไอและมีเสมหะจำนวนมาก
- เสมหะมีสีเขียวกว่าปกติหรือมีกลิ่นเหม็น
- ไอเป็นเลือด
- หายใจถี่อย่างรุนแรง
- รู้สึกเหนื่อยหรือรู้สึกไม่สบาย
- มีอาการเจ็บแปลบที่หน้าอกซึ่งจะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อหายใจ
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อที่ปอดอย่างรุนแรง เช่น ผิวหนังหรือริมฝีปากเขียวคล้ำ มีอาการมึนงง มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หายใจถี่เกินกว่า 25 ครั้งต่อนาที และมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงขณะไอ ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของภาวะอันตรายที่ต้องรักษาทันที
สาเหตุของโรคหลอดลมโป่งพอง
โรค Bronchiectasis เกิดจากเนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อเรียบบริเวณผนังหลอดลมที่ทำหน้าที่ควบคุมการหดตัวของหลอดลมเสียหาย ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดสารคัดหลั่งภายในปอดได้ตามปกติ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคติดเชื้อภายในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ เป็นต้น โดยสาเหตุที่ทำให้หลอดลมเกิดความเสียหายมีหลายประการ แต่ที่พบได้บ่อยคือ โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis: CF) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายมีการสร้างสารคัดหลั่งผิดปกติ นอกจากนี้ โรค Bronchiectasis อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น
- ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- โรคเชื้อราในปอด
- การติดเชื้อเอชไอวี
- ภาวะขาดสารอัลฟา-1 แอนตี้ทริปซิน (Alpha-1 Antitrypsin) ซึ่งเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด
- การติดเชื้อที่ปอด เช่น โรคไอกรน วัณโรค ภาวะปอดติดเชื้ออย่างรุนแรง เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคหลอดลมโป่งพอง
ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังผิดปกติควรไปพบแพทย์ ซึ่งอาการดังกล่าวอาจไม่ใช่สัญญาณของหลอดลมโป่งพองเสมอไป อาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน ในเบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยโดยซักถามอาการและประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกายเบื้องต้น และฟังเสียงของปอดเพื่อตรวจดูความผิดปกติในการทำงานของปอดหรือการอุดตันของทางเดินหายใจ และอาจใช้การตรวจวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ได้แก่
- การตรวจเลือด มีจุดประสงค์เพื่อตรวจหาการติดเชื้อหรือภาวะโลหิตจางที่อาจมีสาเหตุมาจากอาการป่วยชนิดเรื้อรัง
- การตรวจเสมหะ เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียภายในเสมหะที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบ
- การเอกซเรย์ทรวงอกและการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูลักษณะและการทำงานของปอดว่ามีความผิดปกติหรือไม่
- การตรวจสมรรถภาพปอด เป็นการตรวจดูว่าอากาศไหลเวียนเข้าไปยังปอดและระบบทางเดินหายใจเป็นปกติหรือไม่
- การตรวจคัดกรองวัณโรค แพทย์อาจใช้การตรวจเลือดแบบควอนติเฟอร์รอนหรือการตรวจผิวหนัง
- การตรวจเหงื่อ เป็นการตรวจวัดปริมาณเกลือในเหงื่อ หากมีปริมาณสูงอาจสันนิษฐานได้ว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคซิสติก ไฟรโบรซิส ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรค Bronchiectasis
การรักษาโรคหลอดลมโป่งพอง
โรค Bronchiectasis ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ การรักษาอาจต้องใช้หลายวิธีควบคู่กันไป เช่น การใช้ยา การออกกำลังกาย การใช้อุปกรณ์ช่วยขับหรือระบายเมือกออกจากปอด เป็นต้น ซึ่งในระหว่างการรักษาผู้ป่วยควรดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการของโรคด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำให้มาก เพื่อช่วยให้มูกที่อยู่ภายในปอดเจือจางลงและไอออกมาได้ง่ายขึ้น
- ป้องกันการติดเชื้อที่ปอดด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ
- หมั่นล้างมือให้สะอาด
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดหรือโรคไข้หวัดใหญ่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนตามที่แพทย์แนะนำ
- เลิกสูบบุหรี่และอยู่ให้ห่างจากผู้ที่สูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการออกจากอาคาร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีมลพิษทางอากาศสูง
นอกจากนี้ การออกกำลังกายก็เป็นอีกวิํธีหนึ่งที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วย Bronchiectasis เนื่องจากจะช่วยกำจัดมูกเหลวภายในปอดและทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์และนักกายภาพบำบัดถึงวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุด
อีกวิธีหนึ่งที่แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้เพื่อกำจัดมูกภายในปอด คือการใช้อุปกรณ์ที่มีกลไกในการทำงานด้วยระบบสั่นสะเทือนและแรงดันเพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยไอขับมูกภายในปอดออกมา และในบางกรณี แพทย์อาจใช้วิธีพ่นยาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้นและขับเอาของเหลวภายในปอดออกมาได้ง่ายขึ้น ยาพ่นที่แพทย์นิยมใช้ ได้แก่
การพ่นยาด้วยเครื่องพ่น
ทำได้โดยการนำยาในปริมาณที่แพทย์สั่งมาเจือจางกับน้ำเกลือในเครื่องพ่น ผู้ป่วยจะมีเสมหะข้นน้อยลงและไอออกมาได้ง่ายขึ้นหลังจากสูดเอาไอน้ำที่มีส่วนผสมของยาเข้าไป
ยาขยายหลอดลมชนิดพ่น
หากผู้ป่วยมีอาการกำเริบรุนแรง แพทย์จะสั่งจ่ายยาขยายหลอดลมชนิดพ่นสำหรับใช้ในระยะสั้น ๆ ยานี้ออกฤทธิ์โดยช่วยให้กล้ามเนื้อภายในปอดผ่อนคลายลง ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วย Bronchiectasis ที่เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียจนมีอาการแย่ลงนั้นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ โดยในเบื้องต้นแพทย์จะนำเอาตัวอย่างเสมหะของผู้ป่วยไปตรวจหาชนิดของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ เพื่อเลือกใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างถูกต้อง หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงมากนัก แพทย์จะสั่งให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันประมาณ 10-14 วัน แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลและใช้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดแทน
สำหรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อและมีอาการของโรคกำเริบมากกว่า 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี หรือมีอาการกำเริบในแต่ละครั้งอย่างรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะในระยะยาวเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและช่วยให้ปอดของผู้ป่วยฟื้นตัว แต่ผู้ป่วยต้องใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะการใช้ยาดังกล่าวในระยะยาวจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้
อย่างไรก็ตาม หากการรักษาข้างต้นใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วย แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้การผ่าตัดนำกลีบปอดที่ติดเชื้อออก แต่จะไม่ใช้วิธีนี้ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อบริเวณกลีบปอดมากกว่า 1 กลีบปอด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหลอดลมโป่งพอง
Bronchiectasis อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างภาวะไอเป็นเลือดจำนวนมากได้ มีอาการบ่งบอกดังนี้
- ไอออกมาเป็นเลือดปริมาณมากกว่า 100 มิลลิลิตร ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง
- หายใจลำบาก เนื่องจากเลือดไปอุดตันทางเดินหายใจ
- รู้สึกเวียนศีรษะ หน้ามืด มีอาการของไข้หวัด
- ผิวหนังมีสีคล้ำลง ซึ่งเกิดจากการสูญเสียเลือดอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ การไอเป็นเลือดจำนวนมากเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น รวมทั้งต้องได้รับการหยุดเลือดอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายได้
การป้องกันโรคหลอดลมโป่งพอง
โรค Bronchiectasis ไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ลดความเสี่ยงได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ เช่น เลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ รวมทั้งควรป้องกันตนเองจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ เพราะอาจนำไปสู่การเกิดโรค Bronchiectasis ได้
นอกจากนี้ เด็กที่เป็นโรคไอกรน จะเสี่ยงเกิดโรค Bronchiectasis ได้เมื่อมีอายุมากขึ้น ผู้ปกครองจึงควรให้เด็กฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนตามกำหนด