ความหมาย Buerger's Disease
Buerger's Disease หรือโรคเบอร์เกอร์ เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำบริเวณแขนและขา ทำให้เกิดการอักเสบ บวม และอุดตันของหลอดเลือด หากอาการรุนแรงอาจนำไปสู่การติดเชื้อและเนื้อตายเน่า (Gangrene) ในภายหลัง โดยมากมักพบอาการของโรคในบริเวณมือหรือเท้าก่อน
แม้ว่าสาเหตุของ Buerger's Disease อาจไม่ชัดเจนนัก ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่สูบบุหรี่ แต่ก็สามารถเกิดกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ได้เช่นกัน ดังนั้น การงดสูบบุหรี่ถือว่าเป็นวิธีสำคัญที่อาจช่วยยับยั้งอาการของโรคไม่ให้แย่ลง รวมถึงลดโอกาสในการติดเชื้อและความเสี่ยงในการผ่าตัดอวัยวะส่วนที่ติดเชื้อออกไป
อาการของ Buerger's Disease
โรคเบอร์เกอร์อาจก่อให้เกิดอาการ ดังนี้
- รู้สึกชาตามมือและเท้า
- รู้สึกปวดบริเวณมือหรือเท้าเมื่อออกแรงและอาการจะดีขึ้นเมื่อได้หยุดพัก แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงบางรายอาจมีอาการปวดแม้จะไม่ได้ออกแรง
- รู้สึกปวดแสบร้อนในบางกรณี
- สีผิวบริเวณมือและเท้าอาจมีสีซีดลง มีอาการบวมแดงหรือมีสีเขียวคล้ำ โดยอาการจะยิ่งแย่ลงเมื่อร่างกายของผู้ป่วยได้สัมผัสกับอากาศเย็น
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีบาดแผลเปิดบริเวณนิ้วมือและนิ้วเท้า และมีอาการปวดหรือเจ็บแผล ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
- ในกรณีที่เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง อาจเกิดเนื้อตายเน่าและทำให้สีผิวบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นสีดำ
สาเหตุของ Buerger's Disease
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของ Buerger's Disease แต่พบว่าอาจเกิดได้จากปัจจัย ดังนี้
การสูบบุหรี่
มีงานวิจัยพบว่าการสูบบุหรี่ ซิการ์ ยาสูบชนิดสูดดมและชนิดเคี้ยว เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เกิดโรคเบอร์เกอร์ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าสารบางอย่างในบุหรี่อาจทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดหรือเกิดการอักเสบตามมา นอกจากนี้ บางงานวิจัยเชื่อว่าการได้รับสารนิโคตินจากบุหรี่อาจไปกระตุ้นให้ผู้ป่วยบางรายมีระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติและทำลายเนื้อเยื่อบางชนิดในร่างกาย ซึ่งคาดว่าอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคเบอร์เกอร์ได้ง่ายขึ้น
ปัจจัยอื่น ๆ
นอกจากการสูบบุหรี่ ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเกิดโรค ได้แก่
- เพศและอายุ โดยพบว่าผู้ป่วยมักเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และเกิดขึ้นบ่อยในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี
- โรคเหงือกอักเสบเรื้อรัง พบว่าโรคเหงือกอักเสบมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคเบอร์เกอร์ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถยืนยันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโรคดังกล่าวได้อย่างชัดเจน
การวินิจฉัย Buerger’s Disease
โรคเบอร์เกอร์เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากไม่มีการทดสอบเฉพาะที่สามารถระบุได้แน่ชัดและอาการอาจมีความคล้ายคลึงกับโรคหรือภาวะอื่น เช่น โรคเบาหวาน ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติเพื่อตรวจสอบอาการและพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ป่วย จากนั้นจึงตรวจร่างกายโดยทดสอบการไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือดแดงที่บริเวณมือ (Allen's Test) เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหรือมีการอุดตันของเลือดหรือไม่ และแพทย์อาจทำการทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนี้
- การตรวจเลือดเพื่อตรวจหาสารในเลือดที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของโรค
- การฉีดสีลงในสายสวนทางหลอดเลือดแดง และทำการเอกซเรย์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณแขนและขาว่ามีการขยายตัวหรือตีบตันอย่างไร (Angiography)
- การอัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูการไหลเวียนของเลือดในบริเวณแขนหรือขา (Doppler Ultrasound Scan)
การรักษา Buerger's Disease
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคเบอร์เกอร์ที่เฉพาะเจาะจง เป้าหมายของการรักษาจึงเป็นการควบคุมหรือยับยั้งอาการของผู้ป่วยไม่ให้แย่ลง โดยวิธีที่แพทย์อาจนำมาใช้มีดังนี้
การเลิกบุหรี่
การหลีกเลี่ยงการสูบยาสูบและบุหรี่ทุกชนิดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการยับยั้งไม่ให้อาการแย่ลง ในกรณีที่ผู้ป่วยเสพติดการสูบบุหรี่ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรายนั้นเลิกบุหรี่ เนื่องจากพบว่าการสูบบุหรี่เพียง 2-3 มวนต่อวัน ก็อาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้ รวมทั้งแพทย์อาจให้ยาที่ช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดและช่วยให้ผู้ป่วยหยุดการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนบุหรี่ เพราะบางผลิตภัณฑ์อาจมีส่วนผสมของนิโคตินที่กระตุ้นการเกิด Buerger's Disease ได้ แต่อาจปรึกษาแพทย์ถึงการใช้ผลิตภัณฑ์หรือยาที่ไม่มีสารนิโคตินแทน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเลือกเข้าร่วมโปรแกรมเลิกบุหรี่ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งในขณะร่วมโปรแกรมมักจะต้องพักอยู่ในสถานพยาบาลตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเข้ารับคำปรึกษาและทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยให้จัดการกับอาการอยากบุหรี่และเรียนรู้การใช้ชีวิตโดยไม่สูบบุหรี่
หากผู้ป่วยต้องการคำแนะนำในการเลิกบุหรี่ อีกทางเลือกคือการขอเข้ารับคำปรึกษาได้ที่คลินิกเลิกบุหรี่ อีกทั้งคลินิกยังมักกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) โดยสามารถติดต่อสายด่วนได้ที่เบอร์ 1600
วิธีรักษาอื่น ๆ
สำหรับวิธีการอื่น ๆ ที่อาจช่วยรักษาโรคเบอร์เกอร์มีดังนี้
- การใช้ยาขยายหลอดเลือดเพื่อช่วยในการไหลเวียนหรือยาสลายการอุดตันของเลือด
- การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่หลอดเลือดแดงเกิดอุดตัน หรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนเกิดแผลหรือเนื้อตายเน่า ซึ่งแพทย์อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเอานิ้ว แขนหรือขาที่มีความผิดปกติรุนแรงออกไป
- การดูแลตนเองของผู้ป่วย สามารถช่วยบรรเทาหรือชะลออาการของโรคไม่ให้แย่ลงได้ โดยทำร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอากาศเย็นเพื่อไม่ให้อาการแย่ลง สวมรองเท้าเสมอเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น ออกกำลังกายเบา ๆ หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน และดูแลสุขอนามัยภายในช่องปาก
ภาวะแทรกซ้อนของ Buerger's Disease
ผู้ป่วย Buerger's Disease อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้จากการอุดตันของเส้นเลือด เนื่องจากเลือดไม่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงบริเวณแขนและขา ส่งผลให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณนี้ไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ และทำให้เกิดเป็นเนื้อตายเน่า โดยอาจสังเกตได้ว่าผิวหนังส่วนนั้นมีลักษณะเป็นสีเขียวคล้ำ มีกลิ่นเหม็น และอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกในบริเวณที่ติดเชื้ออย่างมือและเท้า บางรายอาจเสี่ยงต้องตัดอวัยวะที่เกิดเนื้อเน่าตายทิ้ง
การป้องกัน Buerger's Disease
เนื่องจากโรคเบอร์เกอร์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด วิธีการป้องกัน Buerger's Disease ที่ดีที่สุด คือการงดสูบบุหรี่หรือใช้ยาสูบทุกชนิด เนื่องจากข้อมูลพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคเบอร์เกอร์มักมีประวัติการสูบยาสูบรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยพบมากเป็นบุหรี่ ดังนั้น การงดสูบบุหรี่หรือใช้ยาสูบต่าง ๆ ก็อาจลดความเสี่ยงของโรคลงได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไม่สามารถเลิกสูบยาสูบด้วยตนเอง ควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาคลินิกเลิกบุหรี่ที่สามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องและเหมาะสมในการเลิกบุหรี่หรือยาสูบประเภทต่าง ๆ