Carbocysteine (คาร์โบซิสเทอีน)

Carbocysteine (คาร์โบซิสเทอีน)

Carbocysteine (คาร์โบซิสเทอีน) คือ ยาแก้ไอแบบมีเสมหะสำหรับรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือโรคซีโอพีดี เป็นต้น โดยออกฤทธิ์ลดความเหนียวข้นของเสมหะให้ขับออกมาได้ง่ายและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปอด

ยาคาร์โบซิสเทอีนจะช่วยควบคุมกระบวนการสร้างเสมหะโดยตรง จึงช่วยปรับระดับความเหนียวข้นและความหยืดหยุ่นของเสมหะให้กลับมาเป็นปกติ โดยยาคาร์โบซิสเทอีนบางยี่ห้อถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของเกลือไลซีน (Carbocysteine Lysine Salt Monohydrate) ซึ่งอาจช่วยให้ร่างกายดูดซึมยาไปใช้ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังออกฤทธิ์ติดต่อกันนานหลายวันหลังหยุดใช้ยาไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานยาหลายครั้งในหนึ่งวัน อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปยารูปแบบดังกล่าวไม่ควรใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1-2 ปี (ขึ้นกับยี่ห้อของยา) หากไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์

Carbocysteine

เกี่ยวกับยา Carbocysteine 

กลุ่มยา ยาละลายเสมหะ
ประเภทยา ยาหาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอมีเสมหะเรื้อรัง
กลุ่มผู้ป่วย เด็กที่มีอายุ 1-2 ปีขึ้นไป (ขึ้นกับยี่ห้อของยา) และผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน (ยาน้ำเชื่อม ยาน้ำแขวนตะกอน ยาเม็ด ยาเม็ดชนิดเคี้ยว หรือแคปซูล)
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์
และผู้ให้นมบุตร
ในปัจจุบันยาคาร์โบซิสเทอีนยังไม่มีการระบุหมวดหมู่สำหรับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ แม้จากการศึกษาในสัตว์จะยังไม่พบความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาเสมอ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและทารกมากที่สุด

คำเตือนของการใช้ยา Carbocysteine

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หากเคยมีประวัติการแพ้ยา ก่อนการใช้ยาทุกครั้งควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบ รวมทั้งโรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยา
  • การใช้ยาสำหรับผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา 
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หลังรับประทานยาจึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย 
  • การดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่มีรับประทานยานี้อาจทำให้อาการแย่ลง 
  • ยานี้อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอและพบแพทย์เป็นประจำ
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจใช้ยานี้ได้ แต่ควรได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อน 

ปริมาณการใช้ยา Carbocysteine

ตัวยาเป็นชนิดรับประทานและมีอยู่หลายแบบ ทั้งยาน้ำเชื่อม ยาน้ำแขวนตะกอน ยาเม็ด ยาเม็ดชนิดเคี้ยว หรือแคปซูล โดยปริมาณและระยะเวลาในการใช้จะขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรงของโรค และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก

ตัวอย่างการใช้ยา Carbocysteine เพื่อละลายเสมหะ 

ยารูปแบบทั่วไป หรือ Carbocysteine

เด็กที่มีอายุ 2-5 ปี รับประทานยาในปริมาณ 250-500 มิลลิกรัม แบ่งรับประทาน 3-4 ครั้ง/วัน

เด็กที่มีอายุ 6-12 ปี รับประทานยาในปริมาณ 750 มิลลิกรัม แบ่งรับประทาน 3 ครั้ง/วัน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณ 2.25 กรัม/วัน แบ่งรับประทาน 2-3 ครั้ง/วัน เมื่ออาการดีขึ้นให้ลดขนาดยาลงมาเป็น 1.5 กรัม/วัน 

ยารูปแบบเกลือไลซีน หรือ Carbocysteine Lysine Salt Monohydrate

เด็กที่มีอายุ 1-5 ปี รับประทานยารูปแบบเกลือไลซีนในปริมาณ 2.5 มิลลิลิตร 2-3 ครั้ง/วัน ตามดุลยพินิจของแพทย์

เด็กที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป รับประทานยารูปแบบเกลือไลซีนในปริมาณ 5 มิลลิลิตร 2-3 ครั้ง/วัน ตามดุลยพินิจของแพทย์

ผู้ใหญ่ รับประทานยารูปแบบเกลือไลซีนในปริมาณ 30 มิลลิลิตร 1-3 ครั้ง/วัน หรือปริมาณ 15 มิลลิลิตร 2-3 ครั้ง/วัน ตามดุลยพินิจของแพทย์

การใช้ยา Carbocysteine

ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็ก และอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนรับประทาน เพราะยาแต่ละชนิดมีการใช้ที่แตกต่างกัน เช่น ยาชนิดน้ำควรใช้ช้อนตวงที่ทางโรงพยาบาลให้มา ยาชนิดเม็ดควรกลืนไปทั้งเม็ดแล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ ยาชนิดนี้ควรรับประทานก่อนหรือพร้อมอาหารในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน เพื่อประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ของยาสูงสุด

การใช้ยาในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจควรปฏิบัติควบคู่ไปพร้อมกับการพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ทราบได้ว่าตัวยามีประสิทธิภาพในการรักษามากน้อยเพียงใด และออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยฝึกให้ผู้ป่วยหายใจได้ง่ายขึ้น

ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า และเมื่อมีอาการผิดปกติหรือรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์

การเก็บยาควรเก็บไว้ในอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ห่างจากความร้อน ความชื้น แสงแดด และเก็บไว้ให้พ้นจากมือเด็ก รวมทั้งไม่ควรรับประทานยาที่หมดอายุ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Carbocysteine

เมื่อใช้อย่างถูกวิธีและตามปริมาณที่กำหนด ยา Carbocysteine มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดท้อง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงเล็กน้อยหลังรับประทานยา แต่หากเกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง เกิดผื่น อาการบวมตามใบหน้า ลิ้น หรือคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หรือเกิดผลข้างเคียงรุนแรงยา เช่น หน้ามืด เหงื่อตก อาเจียนเป็นเลือดหรือมีสีดำ หนาวสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นอาการที่ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์