ความหมาย Cardiogenic Shock
Cardiogenic Shock หรือภาวะช็อกจากโรคหัวใจ เป็นสภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดให้เพียงพอต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายอย่างกะทันหัน ความดันโลหิตจึงลดลงและอาจทำให้การทำงานของอวัยวะล้มเหลวได้ แม้จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันที
Cardiogenic Shock มักเกิดขึ้นจากภาวะหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรง แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยภาวะหัวใจขาดเลือดทุกรายจะมีอาการนี้ หากได้รับการเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมอาจช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนกว่าครึ่งรอดชีวิตได้
อาการ Cardiogenic Shock
Cardiogenic Shock มักเกิดในผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดรุนแรง โดยผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดหัวใจขาดเลือดอาจมีสัญญาณที่บ่งบอก เช่น รู้สึกปวดบีบ แน่น หรือรู้สึกเหมือนถูกกดทับบริเวณกลางหน้าอก ซึ่งจะมีอาการคงอยู่นานกว่า 2-3 นาที ความรู้สึกเจ็บปวดอาจลามไปยังไหล่ แขนข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง หลัง หรือแม้แต่บริเวณกรามและฟัน มีอาการแน่นหน้าอกเพิ่มขึ้น หายใจได้สั้นลง เหงื่อออก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
หากผู้ป่วยมีอาการที่บ่งชี้ว่ามีภาวะหัวใจขาดเลือด ควรไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่หัวใจจะถูกทำลายและลดโอกาสในการเกิด Cardiogenic Shock ตามมาได้ โดยอาการที่พบได้มีดังนี้
- มีอาการวิตกกังวลและสับสน
- มือเท้าเย็น ผิวซีดลง มีเหงื่อออก
- หัวใจเต้นเร็วแต่ชีพจรเต้นเบา
- หายใจเร็ว หายใจถี่และสั้น
- รู้สึกอ่อนแรง เวียนศีรษะ หรือเป็นลม
- ขับปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะไม่ออก
อาการของ Cardiogenic Shock มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หากไม่ได้การรักษาอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
สาเหตุของ Cardiogenic Shock
โดยส่วนมาก Cardiogenic Shock มักเกิดในผู้ที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด ทำให้เกิดความผิดปกติของการสูบฉีดเลือดของหัวใจห้องล่างซ้ายไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลงและนำไปสู่ภาวะ Cardiogenic Shock ได้ แต่ในบางกรณีอาจเกิดขึ้นบริเวณหัวใจห้องล่างขวาที่ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปยังปอดเพื่อรับออกซิเจน ซึ่งอาจทำให้เกิด Cardiogenic Shock ได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่า
สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหากี่ยวกับหัวใจอื่น ๆ ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิด Cardiogenic Shock ได้ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะบีบรัดหัวใจ (Pericardial Tamponade) โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ภาวะลิ้นหัวใจรั่วเฉียบพลัน หรือมีประวัติของภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจขาดเลือดมาก่อน
นอกจากนี้ สาเหตุและปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิด Cardiogenic Shock ได้แก่
- การได้รับยาเกินขนาดหรือได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดีเท่าที่ควร
- มีอาการหลอดเลือดแดงอุดตันที่บริเวณหลอดเลือดหัวใจหลักหลายตำแหน่ง
- มีโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
- อายุมากขึ้นจะเสี่ยงต่อการเกิด Cardiogenic Shock ได้มากขึ้น
- เพศหญิงมีโอกาสในการเกิด Cardiogenic Shock ได้มากกว่า
การวินิจฉัย Cardiogenic Shock
เนื่องจาก Cardiogenic Shock เป็นสภาวะฉุกเฉิน แพทย์จะตรวจอาการหรือสัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะช็อกของผู้ป่วยก่อน และจะใช้วิธีต่าง ๆ ในการวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังนี้
- การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยรายละเอียด เช่น ขนาดและรูปร่างของหัวใจ หลอดเลือดหัวใจและของเหลวในปอด เป็นต้น
- การวัดความดันโลหิต โดยผู้ป่วยที่มีอาการ Cardiogenic Shock มักจะมีความดันโลหิตต่ำ
- การตรวจเลือด เพื่อดูความเสียหายของอวัยวะภายในอย่างตับและไต การติดเชื้อ หรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจอย่างภาวะหัวใจขาดเลือด ในบางกรณีอาจใช้การตรวจก๊าซจากหลอดเลือดแดง (Arterial Blood Gas) เพื่อวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG/EKG) ด้วยการทดสอบสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจในแต่ละจังหวะการเต้นของหัวใจผ่านตัวรับกระแสไฟฟ้าที่ติดไว้บนผิวหนัง เพื่อให้แพทย์ทราบหากหัวใจทำงานผิดปกติ
- การทำเอคโคหัวใจ (Echocardiogram) เป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อใช้ตรวจโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหัวใจ อย่างความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะหัวใจขาดเลือด
- การตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ (Angiogram) ด้วยการใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดและใช้สารทึบรังสีฉีดเข้าไปในหลอดเลือด เพื่อให้เห็นภาพการอุดตันหรือตีบแคบของหลอดเลือดได้ชัดเจนขึ้น
การรักษา Cardiogenic Shock
การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การลดความเสียหายจากการขาดออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจและอวัยวะอื่น ซึ่งจะใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้
การรักษาในกรณีฉุกเฉิน
ผู้ป่วย Cardiogenic Shock อาจจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนเพิ่มเติมเป็นพิเศษ โดยอาจใช้เครื่องช่วยหายใจและจะได้รับยาหรือของเหลวผ่านการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (IV) ที่บริเวณแขน
การรักษาโดยการใช้ยา
การใช้ยาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของหัวใจในการสูบฉีดเลือด โดยกลุ่มตัวอย่างยาที่แพทย์นำมาใช้ เช่น
- ยาเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ (Inotropic Agents) จะช่วยเพิ่มการทำงานของหัวใจจนกว่าจะเริ่มการรักษาอื่นได้ เช่น ยานอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) หรือยาโดพามีน (Dopamine) เป็นต้น
- ยาแอสไพริน เพื่อช่วยการแข็งตัวของเลือดและทำให้เลือดสามารถไหลผ่านหลอดเลือดแดงที่แคบได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถรับประทานแอสไพรินได้เองแต่ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งจากแพทย์เพื่อบรรเทาอาการหัวใจขาดเลือดเท่านั้น
- ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics หรือ Fibrinolytics) ช่วยสลายลิ่มเลือดที่อุดตันการไหลเวียนเลือดไปสู่หัวใจ มักจะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้วิธีใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจได้ หากผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจขาดเลือดได้รับยาละลายลิ่มเลือดเร็วอาจจะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น ยาอัลทีเพลส (Alteplase) หรือยารีเทเพลส (Reteplase)
- ยาต้านเกล็ดเลือด แพทย์จะให้ยาที่คล้ายกับยาแอสไพรินเพื่อป้องกันการเกิดการอุดตันของเกล็ดเลือด เช่น ยาโคลพิโดเกรลแบบรับประทาน (Clopidogrel) หรือยากลุ่ม Glycoprotein IIb/IIIa Reception Blocker อย่างยาแอบซิไซแมบ (Abciximab) ยาไทโรไฟแบน (Tirofiban) และยาเอปทิฟิบาไทด์ (Eptifibatide) ซึ่งจะให้ผ่านทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย
- ยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือดอื่น ๆ โดยแพทย์จะให้ผ่านการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำในช่วง 2-3 วันแรกหลังการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด เพื่อช่วยต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาเฮพาริน (Heparin)
การรักษาโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์
แพทย์จะใช้เครื่องมือทางการแพทย์อื่น ๆ เพื่อช่วยให้เลือดกลับมาไหลเวียนไปสู่หัวใจตามปกติ เช่น
- การขยายหลอดเลือดตีบ (Angioplasty) และการใส่ขดลวดเพื่อถ่างขยายหลอดเลือดแดง (Stenting) หากพบการอุดตันระหว่างการใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจ แพทย์จะใส่สายสวนหลอดเลือดชนิดมีบอลลูนติดอยู่เข้าไปในหลอดเลือดแดงบริเวณขาของผู้ป่วย เพื่อให้เลือดไหลผ่านจุดที่ตีบตันได้ดีขึ้น ในบางกรณีแพทย์อาจใส่ขดลวดชนิดเคลือบยาเพื่อช่วยในการขยายหลอดเลือด โดยตัวยาจะค่อย ๆ ถูกปล่อยไปยังบริเวณหลอดเลือดแดงเพื่อให้หลอดเลือดแดงเปิดค้างไว้ และลดการกลับมาตีบซ้ำอีกในภายหลัง
- การใส่สายบอลลูน (Balloon Pump) ในหลอดเลือดเอออร์ต้า (Aorta) ที่เป็นหลอดเลือดแดงหลักของหัวใจ โดยบอลลูนจะโป่งและแฟบตามจังหวะการเต้นของหัวใจภายในหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกและผ่อนแรงการทำงานของหัวใจลง
- การใช้เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (Extracorporeal Membrane Oxygenation: ECMO) เป็นวิธีการรักษารูปแบบใหม่ที่นำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนในร่างกาย
การผ่าตัด
ในกรณีที่ผู้ป่วยรับยาหรือการรักษาอื่นแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจใช้การผ่าตัดในการรักษาต่อไปนี้
- การผ่าตัดบายพาสหัวใจ เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงเสริมหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตันให้เลือดสามารถไหลผ่านส่วนที่ตีบตันได้ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำวิธีการนี้หลังจากที่ผู้ป่วยมีเวลาพักฟื้นจากภาวะหัวใจขาดเลือด โดยการผ่าตัดบายพาสหัวใจอาจใช้ในกรณีที่อาการเข้าสู่ภาวะฉุกเฉิน
- การผ่าตัดซ่อมแซมหัวใจในส่วนที่เสียหาย เช่น การฉีกขาดของห้องหัวใจ หรือลิ้นหัวใจได้รับความเสียหายจนอาจทำให้เกิด Cardiogenic Shock เป็นต้น
- การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดในร่างกาย (Ventricular Assist Device) ซึ่งจะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดทดแทนการบีบตัวของหัวใจสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจขาดเลือดที่ต้องรอการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจหรือไม่สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจได้
- การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ ในกรณีที่หัวใจได้รับความเสียหายรุนแรงและไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการอื่น แพทย์อาจแนะนำให้การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษาผู้ป่วย
ภาวะแทรกซ้อนของ Cardiogenic Shock
หากอาการ Cardiogenic Shock รุนแรงและไม่ได้รับการรักษา อวัยวะภายในของผู้ป่วยจะไม่ได้รับออกซิเจนที่เพียงพอจากเลือดที่ไหลเวียนในร่างกาย และทำให้อวัยวะนั้น ๆ ได้รับความเสียหายชั่วคราวหรือถาวรได้ เช่น สมองถูกทำลาย การทำงานของตับหรือไตล้มเหลว การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรืออวัยวะถูกทำลายถาวรและอาจเสียชีวิตได้
การป้องกัน Cardiogenic Shock
วิธีป้องกัน Cardiogenic Shock ได้ดีที่สุดคือการปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนี้
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะการควบคุมน้ำหนักจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและ Cardiogenic Shock ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวานหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลต่ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันทรานส์ (Trans Fat) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ
- เลิกสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่จะได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ประมาณ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำหรือขี่จักรยาน เป็นต้น ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยลดระดับความดันโลหิต เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และสร้างความแข็งแรงให้แก่หัวใจและหลอดเลือด
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการความดันโลหิตสูงหรือมีประวัติของภาวะหัวใจขาดเลือด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันและควบคุมระดับความดันโลหิต ในบางกรณีแพทย์อาจสั่งจ่ายยาบำรุงหัวใจหรือยารักษาภาวะหัวใจขาดเลือดร่วมด้วย หากมีอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจขาดเลือดหรือ Cardiogenic Shock ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด