Carvedilol (คาร์วีไดลอล)
Carvedilol (คาร์วีไดลอล) คือยาที่ใช้รักษาอาการความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือภายหลังการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ทั้งยังอาจใช้รักษาอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวไว้ข้างต้นเช่นกัน
Carvedilol เป็นยาในกลุ่มปิดกั้นเบต้า (Beta Blockers) มีคุณสมบัติชะลออัตราการเต้นของหัวใจ และทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายได้ดีขึ้นขึ้น การใช้ยานี้มีข้อควรรู้ก่อนการใช้ยา วิธีใช้ยา และผลข้างเคียงที่ควรทราบ เพื่อการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
เกี่ยวกับ Carvedilol
กลุ่มยา | ยากลุ่มปิดกั้นเบต้า (Beta Blockers) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว และลดความดันโลหิต |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ แพทย์มักจะประเมินถึงคุณสมบัติที่ช่วยในการรักษาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับปอดและหัวใจในทารกแรกเกิด จึงควรงดใช้ยาเป็นเวลา 2–3 วันก่อนกำหนดคลอด มิเช่นนั้นทารกอาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 2–3 วัน |
การใช้ยาในผู้ให้นมบุตร | ผู้ป่วยที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์เช่นกันว่าควรหยุดรับประทานยาหรือให้นมบุตรหรือไม่ เนื่องจากยาอาจซึมเข้าสู่น้ำนมและส่งผลกระทบต่อทารกได้ |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดเม็ดและแคปซูล |
คำเตือนในการใช้ยา Carvedilol
- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยา อาหาร หรือสารต่าง ๆ รวมทั้งยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และอาหารเสริมที่ผู้ป่วยใช้ในปัจจุบันทั้งหมด เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสมและหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- ไม่ควรใช้ยาในผู้ป่วยที่มีอาการหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบ กลุ่มอาการซิคไซนัส (Sick Sinus Syndrome) หรือหัวใจเต้นช้า เว้นแต่ได้รับการติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemeker)
- ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของโลหิต ความดันโลหิตต่ำ อาการเจ็บหน้าอกโดยไม่มีสาเหตุ หรือเนื้องอกบริเวณต่อมหมวกไต โรคเบาหวาน อาการอื่น ๆ ที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ก่อนเข้ารับการผ่าตัดและการผ่าตัดทางทันตกรรม ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ โดยเฉพาะการผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรูม่านตาระหว่างการผ่าตัด แพทย์จึงอาจขอให้ผู้ป่วยงดใช้ยาชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยห้ามงดหรือหยุดยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลงได้
- ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือกิจกรรมที่ต้องใช้ความตื่นตัวตลอดเวลา และไม่ควรเปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งหรือนอนในทันที โดยควรลุกขึ้นยืนช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจเกิดอาการมึนหัวจากฤทธิ์ของยาได้
- ผู้ป่วยที่ใส่คอนแทคเลนส์อาจมีอาการตาแห้ง
ปริมาณการใช้ยา Carvedilol
ปริมาณยาและรูปแบบของยาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุ ความรุนแรงและอาการที่ต้องการรักษาประกอบกับยาที่ผู้ป่วยใช้ในปัจจุบันและการตอบสนองต่อปริมาณยาที่ได้รับในครั้งแรก ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ความดันโลหิตสูง
ปริมาณเริ่มต้น 12.5 มิลลิกรัม 1 ครั้งต่อวัน หลังจาก 2 วันอาจค่อยเพิ่มยาจนถึงปริมาณ 25 มิลลิกรัม 1 ครั้งต่อวันหลังจากใช้ยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาจค่อย ๆ เพิ่มยาจนถึงปริมาณสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม 1 ครั้งต่อวัน
2. อาการภาวะหัวใจล้มเหลว
ปริมาณเริ่มต้น 3.125 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือ 6.25 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวันหากผู้ป่วยสามารถรับได้ ตามด้วย 12.5 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน และ 25 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน
หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงมาก ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 25 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 85 กิโลกรัม ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนัก 85 กิโลกรัมขึ้นไป
3. ภาวะเจ็บเค้นอกเรื้อรัง (Chronic Stable Angina)
ปริมาณเริ่มต้น 12.5 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 2 วัน จากนั้น แพทย์อาจให้เพิ่มเป็น 25 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวันหลังจากใช้ยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยปริมาณสูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อวัน
4. ความผิดปกติของหัวใจห้องล่างซ้าย
ปริมาณเริ่มต้น 6.25 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน หากผู้ป่วยรับได้ แพทย์สามารถเพิ่มปริมาณยาเป็น 12.5 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวันหลังจาก 3–10 วันไปจนถึง 25 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน
การใช้ยา Carvedilol
ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด แพทย์อาจเปลี่ยนแปลงปริมาณยาซึ่งขึ้นกับอาการของผู้ป่วย ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละคน ผู้ป่วยจึงห้ามลดหรือเพิ่มปริมาณยาหรือปรับเปลี่ยนระยะเวลาด้วยตนเองหากไม่มีการแนะนำจากแพทย์ และไม่ควรหยุดใช้ยากะทันหัน เนื่องจากอาจส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้น
กรณีลืมรับประทานยา ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้เวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ผู้ป่วยข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าและควรรับประทานยาในเวลาเดิมทุกวัน ทั้งนี้ การรับประทานยาเกินขนาดอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หายใจติดขัด มึนงง อ่อนแอ หน้ามืด หรือเกิดอาการชักได้ ยานี้ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้องให้ห่างจากความชื้นและความร้อน
ปฏิกิริยาระหว่างยา Carvedilol กับยาอื่น
ยา Carvedilol อาจทำปฏิกิริยากับยาอื่น ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพของยา Carvedilol หรือยาอื่นที่ผู้ป่วยใช้รักษาโรคอื่นอยู่ ตัวอย่างยาที่ทำปฏิกิริยากับยา Carvedilol เช่น
- ยารักษาความดันโลหิตสูงและภาวะเจ็บหน้าอก เช่น ดิลไทอะเซม (Diltiazem) เวอราปามิล (Verapamil)
- ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกัน
- ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ที่ใช้รักษาวัณโรค
- ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ไดจอกซิน (Digoxin)
- ยาลดความดันโลหิต เช่น โคลนิดีน (Clonidine)
นอกจากยาข้างต้น ผู้ที่ใช้ยาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ เพราะยาบางตัวอาจส่งผลต่อระดับความดันโลหิตได้
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Carvedilol
ผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา Carvedilol ได้แก่ อ่อนเพลีย หน้ามืด ตาแห้ง ท้องเสีย น้ำหนักขึ้น
บางคนอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ ได้แก่
- ไอแห้ง เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
- ปัสสาวะบ่อย
- มองเห็นไม่ชัดเจน
- หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
- หัวใจเต้นช้าลงหรือไม่สม่ำเสมอ
- น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- หายใจติดขัดหรือลำบาก แม้ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย
นอกจากนี้ บางคนอาจอาการแพ้ยาได้ เช่น ลมพิษขึ้น มือเท้าเย็นหรือมีอาการชา ริมฝีปาก ใบหน้า ลิ้นหรือคอบวม ซึ่งหากเกิดอาการดังต่อไปนี้ ควรพบแพทย์โดยด่วน