Cefixime (เซฟิซิม)

Cefixime (เซฟิซิม)

Cefixime (เซฟิซิม) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคหนองใน การติดเชื้อในหู คอ ต่อมทอนซิล และทางเดินปัสสาวะ โดยยานี้ไม่สามารถรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้ แต่อาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Cefixime มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

Cefixime

เกี่ยวกับยา Cefixime

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ กลุ่มเซฟาโลสปอริน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Cefixime

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยานี้ และยาปฏิชีวนะกลุ่มเซฟาโลสปอรินชนิดอื่น ๆ เช่น ยาเซฟาคลอร์ ยาเซฟาดรอกซิล ยาเซฟอกซิติน ยาเซฟดิเนียร์ และยาเพนิซิลิน ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบก่อนใช้ยานี้เสมอ
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดอื่น ๆ แพ้อาหาร หรือแพ้สารใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติเป็นโรคไต หรือโรคเกี่ยวกับลำไส้ เช่น โรคลำไส้อักเสบ
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้
  • หญิงตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและประโยชน์จากการใช้ยานี้
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อบุตร
  • หากต้องรับการตรวจวินิจฉัยใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ เพราะยาอาจมีผลต่อการทดสอบทางการแพทย์บางชนิด
  • ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากกำลังใช้ยารักษาชนิดใดอยู่ เพราะยานี้อาจส่งผลต่อการใช้ยาชนิดอื่น และผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจติดตามผลเลือดบ่อยครั้งในระหว่างที่ใช้ยานี้ร่วมกับยาชนิดอื่น

ปริมาณการใช้ยา Cefixime

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคหลอดลมอักเสบ

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือปริมาณ 200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง

หูชั้นกลางอักเสบ

ผู้ใหญ่ ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน หรือยาเม็ดสำหรับเคี้ยว ใช้ยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือปริมาณ 200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง

ทอนซิลอักเสบ และคอหอยอักเสบ

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือปริมาณ 200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง

การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะชนิดไม่ซับซ้อน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือปริมาณ 200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง

การติดเชื้อที่ไวต่อยา Cefixime
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 200-400 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทาน 1 หรือ 2 ครั้ง/วัน
เด็กอายุมากกว่า 6 เดือน และมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม โดยแบ่งรับประทาน 1 หรือ 2 ครั้ง/วัน

การใช้ยา Cefixime

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา ควรใช้ยาแต่ละครั้งในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • สามารถรับประทานยา Cefixime พร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
  • ยา Cefixime ชนิดยาน้ำแขวนตะกอน ให้เขย่าขวดก่อนใช้เสมอ
  • ปริมาณการใช้ยาขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วยและการตอบสนองต่อการรักษา ส่วนปริมาณการใช้ยาในเด็ก ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของเด็กและดุลยพินิจของแพทย์ด้วย
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับผู้อื่น และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • ควรใช้ยานี้ให้ครบตามจำนวนและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดไว้ แม้จะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • หากอาการป่วยแย่ลงหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยา ควรรีบไปพบแพทย์
  • หากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น และความร้อน หากยาหมดอายุ ให้ทิ้งยาทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cefixime
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cefixime ที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ ปวดท้อง ท้องอืด แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น โดยหากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิต ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์ และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่น คัน บวม แดง มีตุ่มพุพอง ผิวลอกร่วมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ หายใจเสียงดัง แน่นหน้าอกหรือคอ มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ หน้าบวม ปากบวม ริมฝีปากบวม หรือคอบวม
  • ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีเลือดปน ปวดท้อง มีไข้ระหว่างการรักษาหรือมีไข้หลังรักษาด้วยยานี้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
  • เจ็บคอ มีไข้ หนาวสั่น หรือมีอาการอื่น ๆ ของภาวะติดเชื้อ

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน