Cephalexin (เซฟาเลกซิน)
Cephalexin (เซฟาเลกซิน) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง ในหู ในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น โดยยานี้ไม่สามารถรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้ แต่อาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์
ยา Cephalexin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Cephalexin
กลุ่มยา | ยาปฏิชีวนะ กลุ่มเซฟาโลสปอริน |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
คำเตือนในการใช้ยา Cephalexin
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้ หรือยาปฏิชีวนะที่ใกล้เคียงกัน เช่น ยาเซฟูรอกซิม ยาเซฟโพรซิล และยาเซฟดิเนอร์ รวมไปถึงหากมีประวัติแพ้ยาชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะยาเพนิซิลินและยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบก่อนเสมอ
- แจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีประวัติเป็นโรคไต โรคตับ โรคกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบ และโรคขาดสารอาหาร
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคหรือภาวะอื่น ๆ หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- โดยทั่วไป ยา Cephalexin ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้
- สำหรับผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตรเสมอ เพราะตัวยาอาจซึมเข้าสู่น้ำนมมารดาและส่งผลกระทบต่อทารกได้
- หากต้องรับการตรวจวินิจฉัยใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ เพราะยาอาจมีผลต่อการทดสอบทางการแพทย์บางชนิด
ปริมาณการใช้ยา Cephalexin
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
รักษาการติดเชื้อของผิวหนังและเนื้อเยื่อ
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 500 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุด 4 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานหลายครั้ง
เด็ก รับประทานยาปริมาณ 25-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุก ๆ 12 ชั่วโมง
รักษาโรคคอติดเชื้อจากแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (Streptococcas Pharyngitis)
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 500 มิลลิกรัม ทุก ๆ 12 ชั่วโมง ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 วัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 4 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานหลายครั้ง
เด็กอายุมากกว่า 1 ปี รับประทานยาปริมาณ 25-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุก ๆ 12 ชั่วโมง ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 วัน
รักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 500 มิลลิกรัม ทุก ๆ 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7-14 วัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 4 กรัม โดยแบ่งรับประทานหลายครั้ง
เด็ก รับประทานยาปริมาณ 25-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุก ๆ 12 ชั่วโมง
รักษาหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media)
เด็ก รับประทานยาปริมาณ 75-100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 4 ครั้ง
รักษาการติดเชื้อของกระดูกและข้อต่อ และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 250 มิลลิกรัม ทุก ๆ 6 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 4 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานหลายครั้ง
เด็ก รับประทานยาปริมาณ 25-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุก ๆ 12 ชั่วโมง
การใช้ยา Cephalexin
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา ควรใช้ยาแต่ละครั้งในเวลาเดียวกันทุกวัน
- หากใช้ยาน้ำ ควรเขย่าขวดยาก่อนรับประทาน และวัดปริมาณยาด้วยช้อนหรือถ้วยตวงสำหรับยาโดยเฉพาะ
- ควรใช้ยานี้ให้ครบตามจำนวนและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดไว้ แม้จะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะหากใช้ยาขาดช่วงไป อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้
- ไม่ใช้ยานี้ร่วมกับผู้อื่น ถึงแม้จะมีอาการป่วยที่ใกล้เคียงกันก็ตาม
- หากอาการป่วยแย่ลงหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์
- หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น และความร้อน หากยาหมดอายุให้ทิ้งยาทันที ส่วนยาชนิดน้ำให้แช่ไว้ในตู้เย็น และหากไม่ได้ใช้ยานี้นานกว่า 14 วันขึ้นไป ให้ทิ้งยาทันที
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cephalexin
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cephalexin ที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ รู้สึกอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดตามข้อ เป็นต้น และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้
- อาการแพ้ยา เช่น เวียนศีรษะรุนแรง มีผื่นคัน หายใจลำบาก ลมพิษ หน้าบวม ลิ้นบวม คอบวม และริมฝีปากบวม
- ตัวเหลืองตาเหลืองหรือภาวะดีซ่าน
- มีเลือดออกผิดปกติทางจมูก ปาก หรือทวารหนัก
- มีอาการแพ้ที่ผิวหนังอย่างรุนแรง พร้อมทั้งมีไข้ เจ็บคอ ใบหน้าหรือลิ้นบวม แสบตา เจ็บปวดบริเวณผิวหนัง มีผื่นกระจายตามผิวหนัง ผิวลอกหรือพุพอง
- มีรอยสีแดงหรือสีม่วงใต้ผิวหนัง
- ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะ
- หงุดหงิด สับสน หรือประสาทหลอน
นอกจากนี้ ยานี้อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายมีเลือดปน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อซ้ำ หากพบอาการดังกล่าว ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบและหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ท้องเสียด้วยตนเองโดยแพทย์ไม่ได้แนะนำ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ นอกเหนือจากอาการข้างต้น ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน