Cetirizine (เซทิริซีน)
Cetirizine (เซทิริซีน) เป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้ (Antihistamine) มีคุณสมบัติในการรักษาอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น น้ำมูกไหล เคืองตา คันจมูก คันคอ จาม มีผื่นขึ้น บรรเทาอาการบวมและคัน ซึ่งเกิดจากลมพิษ ภูมิแพ้อากาศ โรคหืด และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) โดยปริมาณยาที่แนะนำคือไม่ควรเกินวันละ 10 มิลลิกรัม
ตัวยาออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการปล่อยสารฮิสตามีน (Histamine) ที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อเกิดอาการแพ้ อย่างไรก็ตาม ยา Cetirizine ไม่ได้ช่วยป้องกันลมพิษ และไม่ได้ช่วยป้องกันหรือรักษาอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ผู้มีอาการแพ้รุนแรงที่แพทย์สั่งจ่ายยาฉีดอิพิเนฟรีนเพื่อระงับอาการแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ควรพกยาติดตัวไปด้วยเสมอ และไม่สามารถใช้ Cetirizine แทนยาฉีดเอพิเนฟรีนได้
เกี่ยวกับยา Cetirizine
กลุ่มยา | ยาต้านการทำงานของฮีสตามีน (Antihistamine) |
ประเภทยา | ยาหาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | บรรเทาอาการหวัด และแก้แพ้จากภูมิแพ้อากาศและลมพิษ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) สตรีมีครรภ์ ผู้วางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้ เนื่องจากตัวยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดา และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และทารกหลังคลอด |
รูปแบบของยา | ยาเม็ด ยาน้ำ ยาหยอดตา ยาฉีดเข้าหลอดเลือด |
คำเตือนการใช้ยา Cetirizine
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ยา Cetirizine สามารถส่งผลข้างเคียงต่อกระบวนการคิดและการตอบสนอง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การทำงานกับเครื่องจักร หรือกิจกรรมที่ต้องการการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อใช้ยา Cetirizine เพราะจะทำให้เพิ่มการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้
- ควรปรึกษาแพทย์หากใช้ยาชนิดนี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการแย่ลง หรือมีอาการไข้เมื่อใช้ยาดังกล่าว
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ผู้มีภาวะตับและไตเสื่อม รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในระหว่างให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เพราะการใช้ยานี้อาจทำให้ผลการทดสอบที่คาดเคลื่อนได้
ปริมาณการใช้ยา Cetirizine
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยา Cetirizine เพื่อรักษาอาการปวดต่าง ๆ มีดังนี้
1. ยาชนิดรับประทาน
การใช้ยา Cetirizine ชนิดรับประทาน จะใช้เพื่อรักษาอาการแพ้จากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) ทั้งชนิดที่เกิดอาการแพ้เฉพาะบางฤดูกาล หรือเกิดอาการแพ้ได้ตลอดทั้งปี และรักษาอาการแพ้จากลมพิษเรื้อรังชนิดไม่ทราบสาเหตุ
ทั้งนี้ ไม่ควรรับประทานยาเกิน 10 มิลลิกรัมภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งปริมาณการรับประทานจะแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
- เด็กอายุ 6–12 ปี รับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากอาการแพ้ไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้แบ่งรับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 1–2 ครั้ง
2. ยาหยอดตา
การใช้ยา Cetirizine ชนิดหยอดตา จะใช้เพื่อรักษาอาการคันและระคายเคืองดวงตาจากโรคภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis) ซึ่งจะใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ โดยหยดยาที่ดวงตาข้างที่มีอาการครั้งละ 1 หยด วันละ 2 ครั้ง โดยเว้นระยะเวลาห่างกัน 8 ชั่วโมง
3. ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
การใช้ยา Cetirizine ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำในการกำกับดูแลของแพทย์ที่สถานพยาบาลเท่านั้น โดยจะใช้รักษาอาการลมพิษเฉียบพลัน ซึ่งปริมาณการให้ยาจะแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
- เด็กอายุ 6 เดือน จนถึงอายุ 5 ปี ให้ยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 6–11 ปี ให้ยาครั้งละ 5–10 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง หรือขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
- เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ ให้ยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง
การใช้ยา Cetirizine
การใช้ยา Cetirizine สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร หากรับประทานยาดังกล่าวเป็นชนิดน้ำ ควรใช้ช้อนสำหรับตวงยาโดยเฉพาะ ไม่ควรใช้ช้อนธรรมดาในการตวงเพราะอาจจะทำให้รับประทานยาเกินขนาด หรือน้อยกว่าปริมาณที่ควรจะเป็น หากเป็นยาเม็ดสำหรับเคี้ยว ควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน
หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่หากนึกได้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลาในการรับประทานยาครั้งถัดไป ควรรอให้ถึงเวลาแล้วค่อยรับประทานโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา เนื่องจากการรับประทานยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้
- เกิดอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย ง่วงซึม
- มีอาการคัน
- ปากแห้ง
- ท้องเสีย
- รูม่านตาขยาย ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- ปัสสาวะไม่ออก
- นอนไม่หลับ
หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นควรรีบไปพบแพทย์หรือเรียกรถหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังควรสังเกตอาการในระหว่างการใช้ยาด้วย หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีทีท่าว่าจะยิ่งแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน
ในเรื่องการเก็บรักษา ยาเซทิริซีนเป็นยาที่ควรเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง และให้ห่างจากความชื้นและความร้อน เนื่องจากอาจทำให้ยาเสื่อมประสิทธิภาพลงได้
ปฏิกิริยาระหว่างยา Cetirizine กับยาอื่น
ยา Cetirizine อาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิด ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม หรือลดประสิทธิภาพของยาลง เช่น
- ยาแก้แพ้ชนิดอื่น ๆ ทั้งยารับประทานและยาทา เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) และเลโวเซทิริซีน (Levocetirizine)
- ยารักษาโรคหอบหืดและโรคปอด เช่น ทีโอฟิลลีน (Theophylline)
- ยาระงับประสาท และยานอนหลับที่ใช้รักษาอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam) และลอราซีแพม (Lorazepam)
- ยาแก้ปวดชนิดเสพติด เช่น ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids)
- ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น คาริโซโพรดอล (Carisoprodol) ไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine)
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาชนิดอื่น ๆ เช่น ยารักษาอาการไอและหวัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนได้รับยา เนื่องจากยาชนิดนี้จะยิ่งทำให้เกิดอาการง่วงมากขึ้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cetirizine
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cetirizine มีค่อนข้างมาก โดยผลข้างเคียงที่พบมักมีความแตกต่างไปกันตามช่วงวัย ดังนี้
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไป อาจเกิดอาการง่วงนอน อ่อนเพลีย ปากแห้ง นอนไม่หลับ
- เด็กอายุ 2–11 ปี อาจปวดศีรษะ คออักเสบ และปวดท้อง
- เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 2 ปี อาจมีอาการตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากผิดปกติ มีอาการมึนงง นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบายตัว
นอกจากนี้ ยาดังกล่าวยังอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้อีก เช่น วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม รู้สึกเหนื่อย ปวดศีรษะ ปากแห้ง เจ็บคอ ไอ คลื่นไส้ ท้องผูก เป็นต้น ส่วนผลข้างเคียงที่รุนแรงก็สามารถพบได้เช่นกัน ได้แก่
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- เหนื่อย มีอาการสั่น หรือนอนไม่หลับ
- มีอาการอยู่ไม่สุข ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
- มีอาการมึนงง
- มีปัญหาในเรื่องการมองเห็น
- ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลย
ไม่เพียงเท่านั้น การแพ้ยาชนิดนี้ยังส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่ถือเป็นสัญญาณอันตราย เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอ มีอาการบวม ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบหยุดยาทันที หรือหากอาการค่อนข้างรุนแรง ควรรีบโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที