ความหมาย กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (CFS)
CFS (Chronic Fatigue Syndrome) หรือกลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง เป็นความเจ็บป่วยเรื้อรังที่ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น อ่อนเพลียอย่างรุนแรง มีปัญหาในการนอนหลับ เวียนศีรษะ ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทั้งยังส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ หรือบางรายอาจไม่สามารถลุกออกจากเตียงได้ ส่วนสาเหตุนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ และการขาดสมดุลของฮอรโมนในร่างกาย เป็นต้น
อาการของ CFS
อาการหลักที่บ่งบอกว่าอาจเป็น CFS คือ เหนื่อยล้าอย่างมากและรู้สึกไม่สบาย รวมถึงอาจมีอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย
- อ่อนเพลีย แม้จะพักผ่อนแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น
- จำเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ หรือขาดสมาธิ
- เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือรักแร้บวม
- ปวดข้อหรือปวดกล้ามเนื้อ
- เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- มีปัญหาในการนอนหลับ นอนหลับไม่สนิท
ดังนั้น หากพบว่ามีอาการอ่อนเพลียอย่างต่อเนื่องหรือเป็นมากขึ้น ควรไปพบแพทย์ เพราะอาการอ่อนเพลียที่พบโดยทั่วไปอาจเป็นสัญญาณหรืออาการของโรคต่าง ๆ ได้หลากหลายชนิด เช่น การติดเชื้อ โรคเกี่ยวกับฮอร์โมน โรคเกี่ยวกับจิตใจ เป็นต้น
สาเหตุของ CFS
ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของกลุ่มอาการนี้ แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น
- การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่อาจกระตุ้นให้เกิด CFS เช่น ไวรัสเอ็ปสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus) ไวรัสในตระกูลเดียวกับเริมชนิดที่ 6 (Human Herpesvirus 6: HHV-6) และการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม เป็นต้น
- ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ โดยพบว่าผู้ป่วย CFS บางรายมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องลงเล็กน้อย แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันจะเป็นสาเหตุของ CFS หรือไม่
- การขาดสมดุลของฮอรโมนในร่างกาย โดยพบว่าผู้ป่วยบางรายมีระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติในไฮโปธาลามัส ต่อมใต้สมอง และต่อมหมวกไต
- ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ได้รับการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ เผชิญภาวะเครียดหรือภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญที่อาจเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นด้วย ได้แก่ อายุ เพศ และกรรมพันธุ์ เพราะแม้ CFS จะสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่จะพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 40 ถึง 50 ปี และยังพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ก็สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะเพศหญิงมักแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการป่วยของโรคมากกว่า และสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยกลุ่มอาการ CFS ก็มีแนวโน้มเผชิญภาวะนี้จากการสืบทอดผ่านทางพันธุกรรม
การวินิจฉัย CFS
แพทย์จะวิเคราะห์จากอาการต่าง ๆ ที่เข้าข่าย CFS สอบถามประวัติทางสุขภาพของผู้ป่วยและคนในครอบครัว รวมทั้งอาการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งในด้านของความถี่ ระดับความรุนแรง และผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งแพทย์อาจต้องนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาร่วมกับการวินิจฉัยแบบอื่น ๆ อีกหลายวิธี เพื่อจำแนกโรคได้อย่างถูกต้อง เพราะมีโรคหลายชนิดที่มีอาการแสดงคล้ายคลึงกัน เช่น ความผิดปกติในการนอนหลับ โรคเบาหวาน ภาวะโลหิตจาง ความผิดปกติของปอดและหัวใจ โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล เป็นต้น โดยแพทย์อาจทำการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจร่างกายทั่วไป การทดสอบสุขภาพจิต การตรวจเลือด และการตรวจปัสสาวะ เป็นต้น
การรักษา CFS
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะนี้โดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นการควบคุมและบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น ดังนี้
- การใช้ยารักษา โดยเฉพาะการใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้า เพราะผู้ป่วย CFS มักจะมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย และอาจใช้ยาอื่น ๆ เพื่อช่วยในด้านการนอนหลับและลดอาการปวด หรือบางรายอาจใช้ยาบรรเทาอาการปวดหรือคลื่นไส้ด้วย
- การบำบัดทางจิต โดยพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษาเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดจากโรค CFS และเมื่อผู้ป่วยรู้สึกว่าตนสามารถควบคุมการใช้ชีวิตได้ก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูตนเองได้อย่างรวดเร็ว
- การออกกำลังกาย นักกายภาพบำบัดจะช่วยพิจารณาการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ในเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายจะต้องเริ่มออกกำลังกายอย่างช้า ๆ หรือเริ่มจากการบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นของกิจกรรมขึ้นเรื่อย ๆ
- ปรับการใช้ชีวิต โดยควบคุมไม่ให้เกิดความเครียดมากเกินไป ปรับพฤติกรรมการนอน และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ภาวะแทรกซ้อนของ CFS
CFS อาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนหรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตบางอย่าง โดยจะแตกต่างกันเป็นรายบุคคลและส่งผลได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ปานกลาง ไปจนถึงระดับรุนแรงมาก ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น มีภาวะซึมเศร้า มีสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิต หรือขาดงานบ่อย เป็นต้น
การป้องกัน CFS
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิด CFS จึงอาจป้องกันภาวะนี้ได้ยาก อย่างไรก็ตาม อาจมีวิธีดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงและห่างไกลจากการเจ็บป่วยนี้ หรือผู้ป่วยอาจป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- สร้างสุขนิสัยที่ดีในการนอน เพื่อให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ
- ฝึกรับมือและจัดการกับความเครียดในแต่ละวัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารพิษที่ต้องพบเจอในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างผัก เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ธัญพืช และนมไขมันต่ำ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และจำกัดปริมาณการรับประทานน้ำตาลหรืออาหารที่อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผันผวนอย่างรุนแรง
- ผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ต้องปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่ตั้งครรภ์และลูกในท้องได้ รวมทั้งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการป่วย CFS จะถ่ายทอดผ่านทางกรรมพันธุ์หรือไม่