Chalazion หรือคาลาเซียน คือการเกิดตุ่มนูนเล็ก ๆ บริเวณเปลือกตาจากการอุดตันของต่อมไมโบเมียน (Meibomian) หรือต่อมไขมันที่เปลือกตา สามารถเกิดได้ทั้งบริเวณเปลือกตาด้านบนและด้านล่าง ในกรณีที่ตุ่มนูนมีมากกว่าหนึ่งตุ่มอาจเรียกว่า Chalazia
Chalazion อาจคล้ายกับตากุ้งยิง แต่มักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด และอาจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากมีอาการตากุ้งยิงแล้ว ในบางครั้งอาการอาจหายได้เองแม้ไม่ได้ทำการรักษา แต่ควรไปพบจักษุแพทย์หากเคยมีอาการ Chalazia มาก่อนหรือตุ่มนูนมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกระทบต่อการมองเห็น
อาการของ Chalazion
Chalazion มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก อาการทั่วไปที่อาจพบได้ คือ มีตุ่มนูนเล็ก ๆ ที่เปลือกตา ส่วนใหญ่จะพบบริเวณเปลือกตาบน แต่อาจเกิดขึ้นที่เปลือกตาล่างหรือเกิดพร้อมกันทั้งเปลือกตาบนและล่าง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเคืองตาหรือน้ำตาไหล เปลือกตาบวม แดง และอาจเจ็บเมื่อสัมผัสโดน แต่อาการปวดอาจหายไปภายใน 2-3 วัน หรือบางรายที่เกิดการติดเชื้ออาจรู้สึกเจ็บปวดได้เช่นกัน นอกจากนี้ หากตุ่มนูนมีขนาดใหญ่มากพอก็อาจบดบังการมองเห็นของผู้ป่วยได้
โดยทั่วไป Chalazion มักจะหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์โดยไม่ต้องรักษา แต่อาจกลับมาเกิดอาการซ้ำได้อีก โดยอาจพบตุ่มนูนขึ้นที่บริเวณอื่นหรือบริเวณที่ใกล้เคียงกันกับตุ่มเดิมได้ อย่างไรก็ตาม หากตุ่มนูนมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการบดบังการมองเห็น หรือเคยเป็น Chalazia มาก่อน ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการรักษา
สาเหตุของ Chalazion
Chalazion เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันไมโบเมียน ซึ่งเป็นต่อมขนาดเล็กที่อยู่บริเวณเปลือกตาด้านบนและด้านล่าง ไขมันที่ผลิตจากต่อมนี้จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา เมื่อต่อมดังกล่าวเกิดการอุดตัน จะทำให้เปลือกตาบวมแดงจนเกิดเป็นตุ่มเนื้อขึ้นที่เปลือกตา และอาจทำให้เกิดการอักเสบขึ้นได้
โดยส่วนมากสามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการหรือโรคต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอาการของโรคผิวหนัง เช่น สิว โรคผิวหนังอักเสบ (Seborrhea) หรือโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) เป็นต้น
- ผู้ที่มีอาการผิดปกติบริเวณดวงตา เช่น ภาวะเปลือกตาอักเสบเรื้อรัง (Chronic Blepharitis) โรคตาแดง มีอาการติดเชื้อภายในดวงตาหรือที่เปลือกตา เป็นต้น
- ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นตากุ้งยิงหรือ Chalazion มาก่อน
- ผู้ป่วยเบาหวานและโรคอื่น ๆ
การวินิจฉัย Chalazion
Chalazion ไม่มีการทดสอบที่จำเพาะเจาะจง แพทย์มักจะวินิจฉัยจากการสอบถามอาการ ประวัติเกี่ยวกับความผิดปกติของดวงตา ปัญหาสุขภาพอื่น และตรวจตาเบื้องต้น หากพบว่าผู้ป่วยเคยมีอาการ Chalazion มาก่อนแล้วไม่เคยเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับดวงตามาก่อน ผู้ป่วยอาจได้รับคำแนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติบริเวณดวงตาและรับการรักษา ซึ่งจะลดโอกาสในการเกิดอาการขึ้นซ้ำในภายหลัง
การรักษา Chalazion
Chalazion อาจหายไปได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่แพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษาต่อไปนี้
การดูแลตนเองที่บ้าน
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่ร้ายแรงหรือตุ่มมีขนาดเล็ก อาการอาจหายไปได้ภายใน 2-8 สัปดาห์ โดยแพทย์จะแนะนำวิธีบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นเบื้องต้น ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดแล้วประคบร้อนด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบีบหมาดบริเวณเปลือกตา ครั้งละประมาณ 10-15 นาที วันละ 3-5 ครั้ง โดยประคบซ้ำบริเวณเปลือกตาอาจช่วยให้ไขมันในตุ่มนูนจากการอุดตันละลายไหลออกมาได้ดี
- นวดบริเวณเปลือกตาเบา ๆ วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสและบีบเค้นบริเวณตุ่มนูน โดยเฉพาะเมื่อยังไม่ได้ล้างมือ
- หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์หรือแต่งหน้าจนกว่าอาการจะดีขึ้น
การรักษาโดยแพทย์
หากการดูแลตนเองที่บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ
- แพทย์อาจจ่ายยาทาหรือยาหยอดตาให้แก่ผู้ป่วย แต่ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ
- หากตุ่มมีอาการบวมมาก แพทย์อาจฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ให้ผู้ป่วยเพื่อช่วยลดอาการบวม
- ในกรณีที่ Chalazion กระทบต่อการมองเห็นหรืออาการยังไม่ดีขึ้นแม้จะรักษาด้วยวิธีอื่น แพทย์อาจใช้การผ่าตัดเอาตุ่มนูนออก โดยจะให้ยาชาก่อนการผ่าตัด
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยกลับมามีอาการ Chalazion ซ้ำอีก แพทย์อาจเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งตรวจห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยอาการผิดปกติบริเวณดวงตา
ภาวะแทรกซ้อนของ Chalazion
โดยทั่วไป Chalazion มักมีอาการไม่รุนแรงมากและอาการอาจดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการขึ้นซ้ำได้อีก หากมีอาการรุนแรงแล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ตุ่มนูนอาจขยายใหญ่ขึ้นและบดบังการมองเห็น
นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด แม้จะมีโอกาสน้อยมาก แต่ในบางกรณีอาจเกิดรอยช้ำ เลือดออกหรือติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัด ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้หรือเจ็บคอที่อาจเกิดจากการแพ้ยาชาหรือยาสลบ ดังนั้น หากมีอาการปวด บวม แดง รอยช้ำยังไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลง มีปัญหากับการมองเห็นหรือมีไข้สูง ควรไปพบแพทย์
การป้องกัน Chalazion
หากเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิด Chalazion ได้ง่าย เช่น มีประวัติเป็นตากุ้งยิงหรือ Chalazion มาก่อน มีอาการของโรคผิวหนัง หรืออาการผิดปกติเกี่ยวกับตาอื่น ๆ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อลดโอกาสในการเกิด Chalazion ร่วมกับวิธีการต่อไปนี้
- ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสใบหน้าหรือบริเวณดวงตา
- ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์และแว่นตาก่อนสวมใส่ เพื่อป้องกันการอักเสบหรือติดเชื้อบริเวณดวงตา
- ล้างหน้าและลบเครื่องสำอางออกก่อนจะเข้านอน
- สังเกตและตรวจสอบหากมีเครื่องสำอางเก่าหรือหมดอายุ เปลี่ยนมาสคาร่าและอายแชโดว์ทุก 2-3 เดือน และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น