Chloramphenicol (คลอแรมเฟนิคอล)
Chloramphenicol (คลอแรมเฟนิคอล) คือ ยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะซึ่งใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ค่อนข้างรุนแรง โดยยานี้จะเข้าไปทำลายโปรตีนที่สำคัญของเชื้อแบคทีเรีย และหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้อาการติดเชื้อทุเลาลง
ยาชนิดนี้มักใช้รักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น การติดเชื้อที่ตาและหู ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดแอโรคบิก โรคแอนแทร็กซ์ ฝีในสมอง โรคเออร์ลิชิโอสิส (Ehrlichiosis) ภาวะเนื้อตายชนิดที่เกิดแก๊สใต้ผิวหนัง แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ (Granuloma Inguinale) การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด โรคอุจจาระร่วงรุนแรง โรคเมอิลอยโดซิสชนิดรุนแรง การติดเชื้อในกระแสเลือดของทารกในครรภ์
เกี่ยวกับยา Chloramphenicol
กลุ่มยา | ยาปฏิชีวนะ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาหยอดตา ยาหยอดหู ยาฉีด ยาป้ายตา |
คำเตือนของการใช้ยา Chloramphenicol
- ผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบของยา Chloramphenicol ไม่ควรใช้ยานี้
- ผู้ที่เคยมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Chloramphenicol ควรหลีกเลี่ยงใช้ยานี้
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหากผู้ป่วยมีระดับเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง หรือเกล็ดเลือดต่ำ
- ผู้ที่มีการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง อย่างอาการไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
- หากผู้ป่วยอยู่ในระหว่างการใช้ยาที่มีผลให้มวลกระดูกลดลง เช่น เคมีบำบัด ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าว หรือหากไม่แน่ใจว่ามียาใดที่ใช้อยู่ส่งผลต่อมวลกระดูกหรือไม่ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้
ปริมาณการใช้ยา Chloramphenicol
ยาหยอดตา
- รักษาอาการติดเชื้อที่ดวงตา ใช้ยาหยอดความเข้มข้น 0.5% หยอดครั้งละ 1 หยด ทุก ๆ 2 ชั่วโมง โดยเพิ่มปริมาณได้ขึ้นอยู่กับอาการ เมื่อหายแล้วควรใช้ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 48 ชั่วโมง หากควบคุมอาการได้แล้ว หรือมีอาการไม่รุนแรงก็ลดปริมาณลงโดยใช้ครั้งละ 1 หยด วันละ 3-4 ครั้ง
ยาป้ายตา
- รักษาอาการติดเชื้อที่ดวงตา ใช้ยาป้ายตาความเข้มข้น 1% ป้ายบริเวณถุงเยื่อตาขาวด้านล่าง วันละ 3-4 ครั้ง หรือ ทุก ๆ 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
ยาหยอดหู
- รักษาอาการหูชั้นนอกอักเสบ(Otitis Externa) ใช้ยาหยอดความเข้มข้น 5% วันละ 2-3 ครั้ง
ยารับประทาน
- รักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย
- ผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แบ่งให้เป็น 4 ครั้ง เพิ่มได้ถึง 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อวัน สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรง หรือมีอาการดื้อยา ควรใช้ยาต่อไปแม้ไข้ลดลง โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อริกเก็ตเซีย หรือไข้รากสาดใหญ่ (Rickettsial Disease) ควรรักษาด้วยยาดังกล่าวต่ออย่างน้อย 4 วัน หากเป็นผู้ป่วยโรคไข้ฟอยด์ควรใช้ยาต่อ 8-10 วัน
- เด็ก ทารกคลอดก่อนกำหนดและทารกแรกเกิดให้ยาวันละ 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แบ่งให้เป็น 4 ครั้ง หากเป็นทารกครบกำหนดคลอดที่อายุมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ให้วันละ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แบ่งให้เป็น 4 ครั้ง และเพิ่มได้ถึง 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อวัน สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง
ยาฉีด
- รักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย
- ผู้ใหญ่ ให้วันละ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แบ่งให้ทุก ๆ 6 ชั่วโมง เพิ่มได้ถึง 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมได้หากมีภาวะดื้อยา
- เด็ก ให้วันละ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แบ่งเป็น 4 ครั้ง ทุก 6 ชั่วโมง สามารถเพิ่มได้ถึง 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมได้หากมีภาวะดื้อยา สำหรับเด็กแรกเกิดให้ยาวันละ 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แบ่งให้เป็น 4 ครั้ง ทุก ๆ 6 ชั่วโมง
การใช้ยา Chloramphenicol
ยา Chloramphenicol เป็นยาปฏิชีวนะที่จะต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยานี้อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ รวมทั้งหากผู้ป่วยอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร ผู้ที่มีแพ้ยา อาหาร หรือสารประกอบอื่น ๆ และผู้ที่ป่วยโรคโลหิตจาง โรคตับ มีปัญหาเกี่ยวกับมวลกระดูก หรือไต
นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยา สมุนไพร และอาหารเสริมที่แพทย์สั่งหรือนอกเหนือจากใบสั่งแพทย์ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนได้รับยานี้ เนื่องจากยาบางชนิดหากใช้ร่วมกับ Chloramphenicol อาจส่งผลต่อการรักษาหรือส่งผลต่อร่างกายหากใช้ร่วมกับยานี้ ได้แก่ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากันชัก และยาที่ส่งผลให้มวลกระดูกลดลง เช่น ยาที่ใช้ในกระบวนการเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น
ทั้งนี้ในการใช้ยา Chloramphenicol หากเป็นยาชนิดฉีดจะต้องได้รับจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญภายในสถานพยาบาล หรือหากต้องฉีดเองควรได้รับคำแนะนำในเรื่องการใช้ยาเป็นอย่างดี ควรสังเกตลักษณะของยาอย่างสม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติ เช่น สีเปลี่ยนแปลงไป หรือบรรจุภัณฑ์ของยาผิดปกติ ไม่ควรใช้ยาดังกล่าวต่อ
แม้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้ว แต่ควรใช้ยานี้ต่อไปจนครบตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้ภาวะติดเชื้อหายสนิทและไม่กลับมาเป็นซ้ำ ถ้าผู้ป่วยลืมใช้ยา ควรรีบใช้ยาทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้เวลาการใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในครั้งถัดไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเพื่อชดเชยยาที่ขาดไป ไม่ควรเพิ่มหรือลดยาด้วยตัวเอง เพราะอาจส่งผลต่อการรักษาและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ได้
สำหรับสตรีมีครรภ์ หรือวางแผนตั้งครรภ์ รวมทั้งสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร การใช้ยานี้จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ และอาจปนเปื้อนไปในน้ำนมได้ ดังนั้น ก่อนที่แพทย์จะตัดสินใจใช้ยาดังกล่าว ผู้ป่วยควรได้รับทราบประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากยานี้อย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อชั่งน้ำหนักถึงผลที่จะได้รับ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Chloramphenicol
การใช้ยานี้อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ ดังนั้นในระหว่างการรักษาด้วยยาดังกล่าว ผู้ป่วยและคนรอบข้างควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจพบได้แก่
- ผิวหนังซีด เกิดจากการที่ยาไปกดการทำงานของไขกระดูก ทำให้เกิดภาวะโลหิตจากชนิดไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia) ซึ่งเป็นอันตราย
- เม็ดเลือดแดงแตก ผู้ป่วยด้วยโรค G6PD (ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี) อาจพบยาทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างเม็ดเลือดแดงแตกที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้
- เจ็บคอ มีไข้
- เลือดออก หรือมีรอยฟกช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเกิดจากการที่ยาไปกดการทำงานของไขกระดูก จนทำให้เกล็ดเลือดต่ำ และอาจก่อให้เกิดเลือดออกในกระเพาะหรือลำไส้
- อ่อนเพลีย หรือมีอาการอ่อนแรงผิดปกติ
นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการเหล่านี้ แต่พบได้น้อย เช่น
- มีอาการมึนงง เพ้อ หรือปวดศีรษะ
- ปวดตา มองไม่ชัด หรือสูญเสียการมองเห็น จากภาวะเส้นประสาทในตาอักเสบ
- มีอาการเหน็บชา รู้สึกแสบร้อน หรือมีอาการอ่อนแรงบริเวณมือและเท้า
- ผื่นขึ้นตามผิวหนัง มีไข้ หรือหายใจลำบาก
ขณะที่การใช้ยาอาจทำให้เกิดอาการบางอย่าง แต่ไม่รุนแรง โดยเป็นผลมาจากการที่ร่างกายปรับตัวให้เข้ากับการรักษา อาการเหล่านี้หายได้เองในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งได้แก่
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
ในกรณีอาการดังกล่าวเกิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะหาย หรืออาการเริ่มรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยเด็กซึ่งใช้ยานี้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดให้มากขึ้น เนื่องจากผลข้างเคียงของยา Chloramphenicol ค่อนข้างอันตราย อาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น
- ท้องอืด
- ง่วงเหงาหาวนอน
- ผิวหนังกลายเป็นสีเทา ซึ่งเป็นอาการของเกรย์ซินโดรม (Gray Syndrome) มักพบในเด็กทารก
- อุณหภูมิในร่างกายต่ำ
- หายใจไม่สม่ำเสมอ
- ไม่มีสติ
หากเด็กเกิดอาการข้างต้นเหล่านี้ควรรีบหยุดใช้ยาและขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินโดยด่วน เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที