Chloroquine (คลอโรควิน)

Chloroquine (คลอโรควิน)

Chloroquine (คลอโรควิน) เป็นยารักษาและป้องกันโรคมาลาเรีย โดยจะออกฤทธิ์รักษาและป้องกันการติดเชื้อในเซลล์เม็ดเลือดแดงหลังจากถูกยุงกัด รักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้ออะมีบา และอาจนำมาใช้กับภาวะอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยานี้จะช่วยรักษาโรคมาลาเรียที่เกิดจากปรสิตบางชนิดเท่านั้น และอาจใช้ไม่ได้ผลหากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เชื้อมาลาเรียดื้อต่อยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ซึ่งเป็นยาที่มีลักษณะคล้ายกัน

แม้ยา Chloroquine จะได้รับอนุญาตให้ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 (COVID-19) ในบางกรณี แต่ในปัจจุบันพบว่าตัวยาใช้ไม่ได้ผลในการรักษาและทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง จึงยุติการใช้ยา Chloroquine ในการรักษาโรคโควิด-19 (COVID-19) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยจึงไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด

Chloroquine

เกี่ยวกับยา Chloroquine

กลุ่มยา ยาต้านมาลาเรีย
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาและป้องกันโรคมาลาเรีย รักษาการติดเชื้ออะมีบา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเองชนิด SLE และ DLE
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ยังไม่มีการระบุหมวดหมู่สำหรับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์มากพอที่จะบอกได้ว่ายานี้เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ จึงควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ สำหรับผู้ที่ต้องให้นมบุตรไม่ควรใช้ยานี้เพราะตัวยาสามารถส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่ทารก

คำเตือนในการใช้ยา Chloroquine

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ยาและสารอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยา Chloroquine และก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากผู้ป่วยมีประวัติทางการแพทย์ ได้แก่ การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไปหรือจอประสาทตาถูกทำลายเนื่องมาจากการใช้ยาต้านมาลาเรีย โรคหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต ปัญหาทางสายตาและการได้ยิน โรคสะเก็ดเงินหรือโรคผิวหนังอื่น โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเลือด ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ชัก เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากผู้ป่วยหัวใจเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ หรือเวียนศีรษะฉับพลันคล้ายจะหมดสติ เนื่องจากยา Chloroquine อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหัวใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ร่วมด้วย
  • การใช้ยา Chloroquine ในปริมาณมากหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้จอประสาทตาถูกทำลายจนรักษาไม่ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในการมองเห็นอย่างถาวร โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสายตามาก่อน เป็นโรคไต หรือรับประทานยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเต้านม
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำในระหว่างที่ใช้ยา Chloroquine เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งแพทย์อาจต้องปรับปริมาณการใช้ยา วางแผนการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารใหม่ให้เหมาะสม
  • ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมองเห็นเป็นภาพเบลอ ภาพบิดเบี้ยว มีปัญหาในการโฟกัส เกิดจุดบอด มีปัญหาในการอ่าน ตาพร่าเลือน และตาไวต่อแสง
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดหรือการใช้เครื่องอบผิวแทน เพราะยา Chloroquine อาจส่งผลให้ผิวหนังไวต่อแสง ผู้ป่วยจึงควรทาครีมกันแดดและสวมเสื้อคลุมผิวหนังเป็นประจำเมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำกิจกรรมที่เป็นอันตรายจนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง เพราะยา Chloroquine อาจทำให้มองเห็นเป็นภาพเบลอและร่างกายมีการตอบสนองลดลง   
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาลดกรดหรือยาแก้ท้องเสีย อย่างยาคาโอลิน-เพคติน (Kaolin-Pectin) ภายใน 4 ชั่วโมงก่อนหรือหลังการใช้ยา Chloroquine
  • ผู้ป่วยผู้สูงอายุที่ใช้ยานี้อาจไวต่อการเกิดผลข้างเคียงมากกว่าวัยอื่น

ปริมาณการใช้ยา Chloroquine

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

ป้องกันโรคมาลาเรีย

ตัวอย่างการใช้ยา Chloroquine เพื่อป้องกันโรคมาลาเรีย 

เด็ก รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยให้รับประทานในวันเดิมของแต่ละสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง และควรรับประทานก่อนเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงต่อโรคมาลาเรีย 1 สัปดาห์ และหลังออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้วให้รับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยให้รับประทานในวันเดิมของแต่ละสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง และควรรับประทานก่อนเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงต่อโรคมาลาเรีย 1 สัปดาห์ และหลังออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้วให้รับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์ 

รักษาโรคมาลาเรียฉับพลัน

ตัวอย่างการใช้ยา Chloroquine เพื่อรักษาโรคมาลาเรียฉับพลัน

เด็ก วันแรกให้เริ่มรับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยมีปริมาณสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม หลังจากยามื้อแรก 6 ชั่วโมง ให้รับประทานยาอีกครั้งในปริมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ส่วนวันที่ 2 และ 3 ให้รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 1 ครั้ง/วัน

ผู้ใหญ่ วันแรกให้เริ่มรับประทานยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม และหลังจากยามื้อแรก 6–8 ชั่วโมง ให้รับประทานยาอีกครั้งในปริมาณ 300 มิลลิกรัม ส่วนวันที่ 2 และ 3 ให้รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน

รักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากอะมีบาในตับ

ตัวอย่างการใช้ยา Chloroquine เพื่อรักษาติดเชื้อที่เกิดจากอะมีบาในตับ 

เด็ก รับประทานยาปริมาณ 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม/วัน ติดต่อกัน 2 วัน จากนั้นให้รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม/วัน ร่วมกับยาอีเมติน (Emetine) หรือยาดีไฮโดรเมทีน (Dehydroemetine) เป็นระยะเวลานาน 2–3 สัปดาห์

รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ตัวอย่างการใช้ยา Chloroquine เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

เด็ก รับประทานยาได้สูงสุด 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 6 เดือน ควรหยุดใช้ยา

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 150 มิลลิกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 6 เดือน ควรหยุดใช้ยา

รักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองชนิด SLE และ DLE  

ตัวอย่างการใช้ยา Chloroquine เพื่อรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองชนิด SLE และ DLE  

เด็ก รับประทานยาปริมาณ 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 150 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน หากตอบสนองต่อยาได้ดีค่อยให้ลดปริมาณการใช้ยาลงมาทีละนิด โดยปริมาณยาสูงสุดไม่ควรเกิน 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

การใช้ยา Chloroquine

วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้

  • ใช้ยาตามคำแนะนำบนฉลากยาและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ควรรับประทานยาในปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม   
  • ควรรับประทานยา Chloroquine พร้อมมื้ออาหาร เพื่อป้องกันอาการท้องไส้ปั่นป่วน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยเด็กมีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากปริมาณการใช้ยานี้จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยได้รับเชื้อมาลาเรีย มีไข้ หรือมีอาการผิดปกติในระหว่างอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรียหรือหลังจากกลับมาจากพื้นที่ดังกล่าว
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยมีไข้ อาเจียน หรือท้องเสียในระหว่างการใช้ยา เนื่องจากยา Choroquine ไม่สามารถรักษาหรือป้องกันโรคมาลาเรียได้ทุกชนิด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือเกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป ชัก ชีพจรเต้นเบาลง หัวใจเต้นช้าลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ เวียนศีรษะฉับพลัน หมดสติ หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจช้าลง เป็นต้น
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Chloroquine

ยา Chloroquine อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดเกร็งหน้าท้อง ปวดศีรษะ มีพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างผิดปกติ ผมร่วง และสีผมหรือสีผิวเปลี่ยนไปจากเดิม แต่หากผู้ป่วยใช้ยาแล้วมีอาการแย่ลง เกิดอาการรุนแรง หรือมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว  

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจลำบาก อาการบวมบริเวณใบหน้าและลำคอ เป็นต้น หรือมีอาการแพ้ที่ผิวหนังอย่างรุนแรง เช่น มีไข้ เจ็บคอ เจ็บผิวหนัง แสบตา ผื่นแดงบนผิวหนัง เป็นต้น  
  • มีปัญหาโรคหัวใจที่รุนแรง เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ หายใจไม่อิ่ม เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ ใจสั่น ข้อเท้าหรือเท้าบวม เหนื่อยล้าผิดปกติ น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติฉับพลัน เป็นต้น
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรือจิตใจ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า มีความคิดจะฆ่าตัวตาย หรือเห็นภาพหลอน เป็นต้น
  • มีปัญหาในการได้ยิน เช่น หูอื้อหรือสูญเสียการได้ยิน เป็นต้น
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีอาการเจ็บคอแล้วไม่หายไปหรือมีไข้ เป็นต้น
  • มีสัญญาณของโรคตับ เช่น ปวดท้อง ดีซ่าน ปัสสาวะมีสีเข้ม เป็นต้น
  • มีปัญหาในการควบคุมกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแอ ใบหน้าและลิ้นกระตุก เป็นต้น
  • มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้เกิดอาการ เช่น มีไข้ หนาวสั่น เหนื่อยล้า แผลในปากหรือที่ผิวหนัง เป็นต้น 
  • มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดศีรษะ อยากอาหาร เหงื่อออก ฉุนเฉียว เวียนศีรษะ ชาบริเวณปลายมือและเท้า หัวใจเต้นเร็ว วิตกกังวล สั่น เป็นต้น
  • มีรอยฟกช้ำหรือเลือดออกง่าย
  • หมดสติ หัวใจเต้นเร็ว ชัก     

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบผลข้างเคียงดังกล่าวหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่นนอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็ว