Cloxacillin (คลอกซาซิลลิน)
คลอกซาซิลลิน (Cloxacillin) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ทำงานโดยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ใช้ในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีทั้งชนิดยารับประทาน และยาฉีด
คลอกซาซิลลินใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง ปอดบวม การอักเสบที่เยื่อหุ้มหัวใจ การติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อ การติดเชื้อที่เนื้อเยื่อและผิวหนัง โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด
เกี่ยวกับยาคลอกซาซิลลิน
กลุ่มยา | ยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาเพนิซิลลิน |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก และผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป หากกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ |
การใช้ยาในผู้ให้นมบุตร | ยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดได้ว่าคลอกซาซิลลินสามารถดูดซึมผ่านน้ำนมมารดาไปสู่ทารก แต่พบว่ายาอื่นในกลุ่มเพนิซิลลินสามารถดูดซึมผ่านน้ำนมมารดาได้เล็กน้อย ผู้ที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาคลอกซาซิลลิน |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดแคปซูล ผงแป้งละลายน้ำ และยาฉีด |
คำเตือนในการใช้ยาคลอกซาซิลลิน
การใช้ยาคลอกซาซิลลินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น ควรปรึกษาและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงเงื่อนไขของผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาก่อนการใช้ยาทุกครั้ง โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้
- ผู้ที่แพ้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลิน เช่น ยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) ยาแอมปิซิลลิน (Ampicillin)
- ผู้ที่แพ้ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) เช่น ยาเซฟาเลกซิน (Cephalexin) ยาเซฟูรอกซิม (Cefuroxime)
- ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของไตและในเด็กแรกเกิดที่ไตยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต จะมีความไวต่อยาชนิดนี้ได้
- ผู้ที่เข้ารับการตรวจเกี่ยวกับเบาหวานในปัสสาวะ เพราะการใช้ยานี้อาจทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้
ปริมาณการใช้ยาคลอกซาซิลลิน
ยาคลอกซาซิลลินเป็นยาที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ปริมาณการใช้ยาจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนักตัว และอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ยารับประทานชนิดแคปซูล
การรับประทานยาคลอกซาซิลลินชนิดแคปซูล ควรรับประทานตอนท้องว่าง ประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงก่อนมื้ออาหาร หรือหลังมื้ออาหาร 2 ชั่วโมง โดยปริมาณในการรับประทานแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
- ผู้ใหญ่ และเด็กที่มีน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัมขึ้นไป รับประทานขนาด 250–500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง หากติดเชื้อรุนแรงอาจเพิ่มขนาดยาได้สูงสุดไม่เกิน 6,000 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 20 กิโลกรัม รับประทานขนาด 25–50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6 ชั่วโมง
ยาฉีด
ยาคลอกซาซิลลินชนิดฉีด อาจฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ โดยแบ่งขนาดยาตามอายุ ดังนี้
- ผู้ใหญ่ ใช้ขนาด 1–2 กรัม ทุก 6 ชั่วโมง ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น สามารถเพิ่มขนาดเป็น 2 กรัม ทุก 4 ชั่วโมง
- เด็กแรกเกิดถึงอายุ 7 วันและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2 กิโลกรัม ใช้ขนาด 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 7–28 วันและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2 กิโลกรัม หรือเด็กที่อายุน้อยกว่า 7 วันและมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 กิโลกรัมขึ้นไป ใช้ขนาด 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 7–28 วันและมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 กิโลกรัมขึ้นไป ใช้ขนาด 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6 ชั่วโมง ในกรณีรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจให้ยาเพิ่มเป็น 2 เท่า
- เด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 20 กิโลกรัม ใช้ขนาด 50–100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6 ชั่วโมง และไม่เกิน 4 กรัมต่อวัน ในผู้ป่วยเด็กที่มีการติดเชื้อรุนแรงสามารถเพิ่มขนาดยาได้สูงสุด 200 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และไม่เกิน 12 กรัมต่อวัน
การใช้ยาคลอกซาซิลลิน
ยาคลอกซาซิลลินเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ขนาดและปริมาณขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อาการ ความรุนแรง อายุและน้ำหนักตัวของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ร่วมกับผู้อื่น
หากใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรตรวจติดตามผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การตรวจการทำงานของตับและไต การตรวจเม็ดเลือด เป็นต้น
หากลืมรับประทานทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้สามารถรับประทานได้ทันที หาใกล้กับมื้ออาหารถัดไป ให้รับประทานยาในเวลาและขนาดตามปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนในมื้อที่ขาดหายไป
ควรเก็บยาชนิดแคปซูลไว้ที่อุณหภูมิห้อง หรือประมาณ 15–30 องศาเซลเซียส ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงโดยตรง และควรเก็บยาน้ำในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส
ควรทิ้งยาที่ไม่ได้ใช้แล้วหลัง 14 วัน เพราะประสิทธิภาพของยาจะลดลง ไม่ควรทิ้งยาที่หมดอายุลงในชักโครก และควรเก็บให้ไกลจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ปฏิกิริยาระหว่างยาคลอกซาซิลลินกับยาอื่น
ยาคลอกซาซิลลินอาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นหรือสมุนไพร ซึ่งทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง หรือเกิดผลข้างเคียง โดยมีตัวอย่างยา ดังต่อไปนี้
- ยายับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ยาซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) และกรดฟิวซิดิก (Fusidic Acid)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ยาไดคูมารอล (Dicoumarol) ยาแอนิซินไดโอน (Anisindione)
- ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด
- ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate)
- ยาโพรเบเนซิด (Probenecid)
- วัคซีน เช่น วัคซีน BCG วัคซีนไทฟอยด์ วัคซีนอหิวาตกโรค
- กัวกัม (Guar Gum)
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคลอกซาซิลลิน
ยาคลอกซาซิลลินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน มีแก๊สในกระเพาะอาหาร และมีแผลในปาก
บางคนอาจพบว่าบริเวณลิ้นอาจเปลี่ยนเป็นสีดำลักษณะเป็นเส้น ๆ ซึ่งสามารถหายไปเองได้หลังจากการใช้ยา รวมถึงการรักษาสุขอนามัยที่ดีในช่องปากด้วยการแปรงลิ้นหลังแปรงฟันวันละ 2 เวลา
นอกจากนี้ การใช้ยาคลอกซาซิลลินอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ใบหน้า ลิ้น หรือลำคอบวม มีไข้ วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก
หากเกิดอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์
- ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียไม่หยุด
- อ่อนเพลียมากผิดปกติ
- ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ มีอาการเจ็บหรือบวมตามข้อ
- มีอาการช้ำหรือเลือดออกง่าย
- ปริมาณและสีของปัสสาวะแปลกไป
- คันช่องคลอด มีตกขาวผิดปกติในผู้หญิง
- ตาหรือผิวมีสีเหลือง
- ชัก