ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache)

ความหมาย ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache)

Cluster Headache หรืออาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ เป็นภาวะปวดหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยผู้ป่วยจะรู้สึกปวดหัวข้างเดียว หรืออาจปวดบริเวณรอบดวงตา ซึ่งอาจเกิดต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง และอาจเกิดขึ้นหลายครั้งภายในวันเดียว ในขณะที่ปวดหัวอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตาแดง น้ำมูกไหล เวียนหัว เป็นต้น โดย Cluster Headache สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ รวมทั้งมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

อาการของ Cluster Headache

ผู้ป่วย Cluster Headache จะมีอาการปวดหัวข้างเดียว แต่อาจจะสลับข้างที่ปวดได้ในแต่ละครั้ง บางครั้งอาจเกิดอาการปวดบริเวณรอบดวงตา ด้านหลังดวงตา หรืออาจลามไปบริเวณอื่นที่อยู่ด้านเดียวกันด้วย เช่น หน้าผาก ฟัน คอ หัวไหล่ เป็นต้น โดยผู้ป่วยบางรายอาจเห็นแสงวูบวาบก่อนมีอาการปวดหัวด้วย แต่ก็มีโอกาสพบได้น้อย

อาการปวดหัวรูปแบบนี้มักมีความรุนแรง เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและไม่มีสัญญาณเตือน โดยอาการอาจเกิดขึ้นนานประมาณ 15-180 นาที และความถี่ที่แสดงอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางรายอาจมีอาการเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวทุก ๆ 2 วัน แต่บางรายอาจมีอาการมากถึง 8 ครั้งต่อวัน ซึ่งอาการปวดอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ตื่นหลังจากที่นอนหลับไปแล้วประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรืออาจทำให้ผู้ป่วยต้องทำร้ายตัวเองเพื่อบรรเทาอาการปวด

นอกจากอาการปวดหัวอย่างรุนแรงแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • ตาแดง
  • น้ำตาไหลออกมามาก
  • รูม่านตาหดเล็กลง
  • ตาไวต่อแสง
  • เปลือกตาหย่อนหรือบวม
  • คัดจมูกหรือมีน้ำมูก
  • เกิดรอยแดงหรือมีเหงื่อออกบนใบหน้า
  • กระสับกระส่าย
  • เวียนหัว

1846 Cluster Headache rs

สาเหตุของ Cluster Headache

ในปัจจุบัน แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ Cluster Headache แต่สันนิษฐานว่ามีสาเหตุมาจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับฮอร์โมน อุณหภูมิ การนอนหลับ และความดันภายในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดบริเวณใบหน้าขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับเส้นประสาทบนใบหน้า และกระตุ้นความรู้สึกไปยังสมองมากผิดปกติ จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวลักษณะนี้ขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหลายประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการขึ้นได้ ดังนี้

  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • กลิ่นฉุน เช่น น้ำหอม สี น้ำมันเบนซิน เป็นต้น
  • ความร้อน เช่น การอาบน้ำอุ่น ออกกำลังกายในห้องที่มีอากาศร้อน เป็นต้น
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็น Cluster Headache
  • เกิดเนื้องอกในสมองหรือต่อมใต้สมอง

การวินิจฉัย Cluster Headache

แพทย์สามารถวินิจฉัย Cluster Headache ได้โดยสอบถามอาการของผู้ป่วยประกอบกับตรวจร่างกายทางระบบประสาทและสมอง โดยทดสอบการทำงานของเส้นประสาท ความรู้สึก และการตอบสนอง หากพบความผิดปกติ แพทย์อาจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เพื่อดูความผิดปกติของต่อมใต้สมองและส่วนอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของ Cluster Headache เช่น เนื้องอก หลอดเลือดสมองโป่งพอง เป็นต้น

การรักษา Cluster Headache

ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษา Cluster Headache ให้หายขาดได้ ทำได้เพียงบรรเทาอาการปวดและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

การรักษาด้วยยา

ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ทั่วไปอาจไม่สามารถช่วยได้ในกรณีนี้ เพราะยาดังกล่าวใช้เวลานานกว่าจะออกฤทธิ์ แต่อาการปวดหัวชนิดนี้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและฉับพลัน ซึ่งอาจหายไปภายใน 15 นาที จึงอาจต้องใช้ยาชนิดอื่น ๆ ดังนี้

  • ทริปแทน ปกติยาชนิดนี้ใช้รักษาอาการปวดหัวไมเกรน มีทั้งแบบกิน แบบพ่น และแบบฉีด ใช้เวลาออกฤทธิ์ประมาณ 15 นาที แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจไม่ควรใช้ยานี้
  • ไดไฮโดรเออร์โกตามีน สามารถใช้บรรเทาอาการได้ ออกฤทธิ์เร็วภายใน 5 นาที แต่ไม่สามารถใช้ร่วมกับยากลุ่มทริปแทนได้
  • ยาชาเฉพาะที่ อย่างยาลิโดเคน สามารถใช้บรรเทาอาการปวดได้ด้วยการสูดดม แต่อาจใช้ได้กับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
  • ออกทริโอไทด์ เป็นการใช้สารสังเคราะห์ฮอร์โมนโซมาโตสแตติน สามารถใช้บรรเทาอาการได้ในผู้ป่วยบางรายเช่นกัน
  • ครีมแคปไซซีน บางครั้งแพทย์อาจใช้ยาชนิดนี้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นยาทาบริเวณที่ปวดเพื่อบรรเทาอาการ

การใช้ออกซิเจน

การรักษาด้วยออกซิเจนเป็นการรักษาทางเลือกที่ทำได้โดยให้ออกซิเจนบริสุทธิ์ผ่านทางหน้ากากออกซิเจนเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด โดยจะส่งผลทางการรักษาภายใน 15 นาที การรักษาด้วยวิธีนี้ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียง แต่ใช้ได้ผลกับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

การผ่าตัด

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดหากรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ผู้ป่วยยังมีอาการปวดหัวอย่างเรื้อรัง หรือผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยแพทย์จะผ่าตัดเพื่อทำให้เส้นประสาทบนใบหน้าถ่ายทอดความรู้สึกไปที่สมองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีการนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรง คือ อาจทำให้เกิดอาการชาบริเวณใบหน้าอย่างถาวร

ภาวะแทรกซ้อนของ Cluster Headache

Cluster Headache อาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้ป่วย เพราะเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งยังคาดเดาเวลาที่เกิดอาการไม่ได้ จึงอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกระวนกระวาย ซึมเศร้า และอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการเรียนหรือการทำงานได้

นอกจากนี้ อาจมีผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาด้วย เช่น

  • การใช้ยาทริปเทนอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง เวียนหัว เหนื่อย หรือรู้สึกหนักบริเวณใบหน้า หน้าอก แขนหรือขา เป็นต้น
  • การผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียง คือ กล้ามเนื้อบริเวณกรามอ่อนแรง หรือสูญเสียประสาทสัมผัสบนใบหน้าบางส่วน

การป้องกัน Cluster Headache

ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ Cluster Headache จึงไม่อาจระบุวิธีป้องกันอย่างแน่ชัดได้ และแม้ภาวะนี้อาจไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรป้องกันอาการกำเริบด้วยวิธีการ ดังนี้

  • ไม่อยู่บนที่สูง
  • ไม่อยู่ในสถานที่ที่มีความร้อน
  • ไม่ทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก
  • หลีกเลี่ยงของที่มีกลิ่นแรง และอาหารที่มีไนเตรต
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ และไม่ใช้สารเสพติดอื่น ๆ
  • ใช้ยาเพื่อช่วยลดความเสี่ยงและทำให้เกิดอาการปวดหัวน้อยลง เช่น สเตียรอยด์ เวอราปามิล ลิเทียม เมทิเซอไจด์ เออร์โกตามีน เมลาโทนิน ยาต้านชักบางชนิดอย่างโทพิราเมท เป็นต้น