Cryptococcosis หรือโรคคริปโตคอกโคสิส เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราในตระกูลคริปโตค็อกคัส (Cryptococcus) หากเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายจะทำให้มีอาการคล้ายปอดอักเสบ มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบและสมองอักเสบ ส่งผลให้มีไข้ ไอ ปวดหัว คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก โดยเชื้อราทั้งสองชนิดพบได้ในดินและมูลของนก โดยเฉพาะนกพิราบ
Cryptococcosis ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยอายุ 20-40 ปี หากเกิดการติดเชื้อในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันปกติหรือแข็งแรงอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แต่มักจะแสดงอาการของโรคออกมาหากเกิดการติดเชื้อในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ผู้ที่เคยปลูกถ่ายอวัยวะ หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
อาการของ Cryptococcosis
การติดเชื้อในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำอาจทำให้เชื้อกระจายไปสู่สมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง ปอด และอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย ซึ่งอาการของโรคคริปโตคอกโคสิสจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อ ดังนี้
การติดเชื้อบริเวณสมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง
เชื้อราอาจกระจายเข้าสู่สมอง ไขสันหลังหรือระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยจะมีอาการต่าง ๆ คือ ปวดหัว มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ตามัว เห็นภาพซ้อน มึนงง เซื่องซึม ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ชักหรืออยู่ในสภาพที่ไม่รู้สึกตัว และอาจมีอาการคอแข็งร่วมด้วย ซึ่งภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นภาวะที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
การติดเชื้อบริเวณปอด
หากเชื้อรากระจายเข้าสู่บริเวณปอดจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก ไอแห้ง เจ็บหน้าอก มีไข้ รู้สึกไม่สบายตัว วิงเวียน หากอาการรุนแรงอาจส่งผลให้เกิดอาการของภาวะปอดอักเสบหรือภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบาก
การติดเชื้อบริเวณอื่นในร่างกาย
ในกรณีที่อาการมีความรุนแรง ผู้ป่วยจะมีผื่น จ้ำเลือด แผลพุพอง เกิดรอยโรค เหงื่อออกมากผิดปกติโดยเฉพาะในช่วงกลางคืน ต่อมน้ำเหลืองโตหรือต่อมลูกหมากโต น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือไขกระดูกเกิดช่องว่าง
สาเหตุของ Cryptococcosis
Cryptococcosis เกิดจากการติดเชื้อราในตระกูลคริปโตค็อกคัส ส่วนใหญ่มาจากเชื้อรา 2 ชนิด คือ Cryptococcus neoformans และ Cryptococcus gattii โดยเชื้อราสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการสูดดม ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อเฉพาะบริเวณปอดหรืออาจกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ การติดเชื้ออาจเกิดได้จากผู้ที่บริจาคอวัยวะเป็นผู้ที่ติดเชื้อราชนิดดังกล่าวและอวัยวะนั้นถูกนำไปใช้ หรือเป็นการติดเชื้อผ่านบาดแผลบริเวณผิวหนัง แต่อาจพบได้ค่อนข้างน้อย
โดยทั่วไปอาการติดเชื้อดังกล่าวอาจหายไปเองในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ แต่ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำมักจะแสดงอาการของโรค เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ที่ใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ในปริมาณสูง ผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin Disease) หรือผู้ที่เคยเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ
ทั้งนี้ เชื้อรา Cryptococcus gattii มักจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันปกติ ส่วนเชื้อรา Cryptococcus neoformans เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยโรคเอดส์
การวินิจฉัย Cryptococcosis
แพทย์จะตรวจร่างกาย สอบถามอาการ และประวัติการเดินทางของผู้ป่วย จากนั้นจะตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย Cryptococcosis เช่น
- การเพาะเชื้อจากเลือดเพื่อแยกระหว่างเชื้อราทั้งสองชนิด
- การเพาะเชื้อจากเสมหะ
- การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณศีรษะ
- การส่องกล้องหลอดลมและการชะล้างหลอดลม
- การเจาะและเพาะเชื้อจากน้ำไขสันหลังเพื่อหาการติดเชื้อ
- การตรวจชิ้นเนื้อปอด
- การตรวจหาแอนติเจนคริปโตค็อกคัส
การรักษา Cryptococcosis
การติดเชื้อราในบางรายอาจไม่ต้องรับการรักษา แต่อาจต้องเข้ารับการตรวจเป็นประจำตลอดปี เพื่อตรวจดูการกระจายของเชื้อไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แต่หากปอดได้รับความเสียหาย เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง หรือเกิดการแพร่กระจายของเชื้อราภายในร่างกาย แพทย์จะจ่ายยาต้านเชื้อราชนิดต่าง ๆ ให้กับผู้ป่วย เช่น ยาแอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B) หรือยาฟลูไซโทซีน (Flucytosine)
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เพื่อรักษาการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงในผู้ป่วยทั่วไป รวมทั้งใช้รักษาภาวะเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคคริปโตคอกโคสิสอาจจำเป็นจะต้องใช้ยาต้านเชื้อราในระยะยาว
ภาวะแทรกซ้อนของ Cryptococcosis
Cryptococcosis จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองและระบบประสาทส่วนกลางในระยะยาว จึงอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) สมองถูกทำลาย สูญเสียการได้ยินหรือการมองเห็น กระทบต่อสุขภาพจิต กระทบต่อพัฒนาการและการรับรู้ ชักหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
การป้องกัน Cryptococcosis
สิ่งสำคัญคือควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมูลนกอยู่เป็นจำนวนมากและหลีกเลี่ยงการสัมผัสนก โดยเฉพาะผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อราตระกูลคริปโตค็อกคัสชนิด neoformans อย่างไรก็ตาม หากเคยมีประวัติการติดเชื้อราตระกูลคริปโตค็อกคัสทั้ง 2 ชนิดอยู่ในร่างกายแล้ว ควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการติดเชื้อกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย