ความหมาย คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (CVS)
CVS หรือคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome) เป็นภาวะที่เกิดจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์ดิจิทัลใด ๆ เป็นเวลานานเกินไป โดยอาจทำให้มีอาการตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง ระคายเคืองตา เจ็บตา รวมไปถึงปวดศีรษะและปวดไหล่ พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากขึ้นหากจ้องหน้าจอในที่ที่มีแสงน้อย หรือมีท่าทางที่ไม่เหมาะสมในขณะใช้คอมพิวเตอร์
อาการของคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าการใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ดิจิทัลที่มีหน้าจอต่าง ๆ นั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อดวงตาในระยะยาวหรือไม่ แต่การใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำอาจเสี่ยงทำให้มีอาการดังต่อไปนี้
หากผู้ป่วยมีอาการดังข้างต้น ควรรีบหาทางรักษาหรือแก้ไข เพราะการใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ นั้น ไม่เพียงก่อให้เกิดอาการเกี่ยวกับดวงตา แต่อาจมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จากการใช้งานและการอยู่ในท่านั่งที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงานได้
สาเหตุของคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
ขณะทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์ ดวงตาของคนเราต้องปรับโฟกัสภาพใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะต้องเคลื่อนไหวไปมาตามบรรทัดตัวหนังสือที่อ่าน หรือต้องเลื่อนดูเนื้อหาบนหน้าจอสลับไปมาและตอบสนองต่อภาพที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สมองประมวลผลภาพเหล่านั้น ในระหว่างนี้กล้ามเนื้อดวงตาจึงต้องทำงานอย่างหนัก ซึ่งมากกว่าการอ่านหนังสือธรรมดา ยิ่งไปกว่านั้น หน้าจอคอมพิวเตอร์มีการตัดกันของสีต่าง ๆ และมีการสั่นไหวของพิกเซลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นจุดเล็ก ๆ หลายจุดที่ประกอบขึ้นเป็นภาพ และผู้ใช้งานยังต้องเพ่งสายตาเป็นเวลานาน จึงส่งผลให้เสี่ยงเกิดอาการของ CVS ตามมาได้
นอกจากนี้ มีงานวิจัยพบว่าการใช้สายตากับอุปกรณ์ดิจิทัลเสี่ยงทำให้ตาแห้งและระคายเคือง เนื่องจากขณะจ้องหน้าจอ ดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือบนจอดิจิทัล คนเราจะกะพริบตาน้อยลงกว่าปกติถึงครึ่งหนึ่งจากที่เคยกะพริบตาประมาณ 15 ครั้งต่อนาที ซึ่งการกะพริบตานั้นจำเป็นต่อดวงตาอย่างมาก เพราะจะช่วยให้น้ำตาไหลออกมาหล่อเลี้ยงทั่วดวงตา ช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นและไม่ระคายเคืองได้ง่าย
ส่วนความเสี่ยงต่อภาวะ CVS นั้นจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามอายุด้วย เนื่องจากเลนส์แก้วตาของคนเราจะค่อย ๆ สูญเสียความยืดหยุ่นเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้อาจสามารถโฟกัสวัตถุระยะใกล้ไกลได้น้อยลงเมื่ออายุราว ๆ 40 ปี และทำให้เริ่มมีสายตายาวในช่วงอายุดังกล่าว และหากผู้ใดมีปัญหาทางสายตาอยู่แล้วอย่างสายตาสั้นหรือสายตาเอียง มีความผิดปกติของสายตาแต่ไม่ยอมใส่แว่น หรือไม่ทำตามหลักการใช้คอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องก็เสี่ยงเกิดภาวะ CVS ได้มากกว่าคนทั่วไปเช่นกัน
การวินิจฉัยคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
หากมีอาการเข้าข่าย CVS แพทย์จะสอบถามถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อประเมินปัจจัยเสี่ยงของภาวะนี้ จากนั้นอาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสุขภาพตาหรือตรวจสายตา และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
การรักษาคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
ในกรณีที่อาการของ CVS เกิดจากโรคอื่น ๆ ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาโรคนั้น ๆ เป็นอันดับแรก ส่วนการบรรเทาอาการของภาวะ CVS และป้องกันอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมานั้น ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเองเพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
- หมั่นพักสายตาเป็นระยะ โดยใช้กฎ 20-20-20 ที่ให้พักสายตาจากหน้าจอทุก 20 นาที ด้วยการมองออกไปที่ระยะ 20 ฟุต (6 เมตร) เป็นเวลาประมาณ 20 วินาที
- เมื่อใช้คอมพิวเตอร์ ให้หยุดพักเป็นเวลาประมาณ 15 นาที ในทุก 2 ชั่วโมง
- พยายามกะพริบตาบ่อย ๆ เพื่อคงความชุ่มชื้นของดวงตา ป้องกันตาแห้งและระคายเคือง และอาจใช้ยาหยอดตาเมื่อรู้สึกตาแห้ง
- ใช้ฟิล์มติดหน้าจอกันแสงสะท้อน และปรับสภาพแสงโดยรอบให้สมดุลกับหน้าจอ โดยหลีกเลี่ยงการนั่งทำงานบริเวณที่มีแสงสว่างจากภายนอกจ้าเกินไป ส่วนแสงไฟภายในห้องที่สว่างหรือมืดเกินไปก็ไม่เป็นผลดีเช่นกัน จึงควรระวังไม่ให้แสงจากหน้าจอสว่างหรือมืดกว่าแสงโดยรอบมากเกินไป
- ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยให้หน้าจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตา 10-15 องศา และอยู่ห่างจากสายตาประมาณ 20-28 นิ้ว ซึ่งจะช่วยให้ไม่ต้องยืดคอและไม่ต้องเพ่งสายตาดูจอ หากต้องดูเอกสารไปด้วย ควรหาที่ตั้งเอกสารข้าง ๆ คอมพิวเตอร์ เพื่อจะได้ไม่ต้องมองจอและก้มมองโต๊ะสลับกันไปมา
- ปรับขนาดตัวอักษรบนหน้าจอให้มองเห็นชัดเจน รวมทั้งปรับแสงสว่างและความคมชัดให้สบายตามากที่สุด
- หากใช้คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ควรเว้นช่วงหยุดพักตาแล้วใส่แว่นแทนบ้าง เพราะคอนแทคเลนส์ทำให้ตาแห้งและระคายเคืองได้ง่าย
- ไปตรวจวัดสายตาเป็นประจำ หากมีสายตาผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ บางรายอาจต้องใส่แว่นสำหรับการทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นแว่นกรองแสง ลดการตัดกันของแสง และช่วยให้มองหน้าจอได้อย่างสบายตาขึ้น
- คอยระวังการใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของเด็ก ควรตรวจดูให้แน่ใจว่าหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับที่เหมาะสม แสงสว่างภายนอก ภายในบ้าน และหน้าจอมีความสมดุลกัน รวมทั้งพาเด็กไปตรวจวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอ
ภาวะแทรกซ้อนของคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
อาการของ CVS มักไม่ส่งผลร้ายแรงใด ๆ ในระยะยาว แต่อาจรบกวนการทำงาน ทำให้รู้สึกเหนื่อยและมีสมาธิน้อยลง ซึ่งส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้ในที่สุด
การป้องกันคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
การป้องกันภาวะ CVS ทำได้เช่นเดียวกับวิธีรักษาบรรเทาอาการ โดยปรับพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ หมั่นหยุดพักสายตา กะพริบตาบ่อย ๆ และตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมและท่าทางให้เหมาะสม