Cytomegalovirus Infection คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไซโตเมกาโลไวรัสหรือเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus; CMV) ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า หรือปอดบวม สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีสุขภาพแข็งแรงส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงอาการ แต่หากเป็นทารกหรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำอาจมีอาการรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนของโรคยังอาจทำให้ตาบอดหรือหูหนวก
หลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อไซโตเมกาโลไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เชื้อไวรัสดังกล่าวจะกระจายไปอยู่ตามของเหลวภายในร่างกาย อย่างน้ำลาย เลือด อสุจิ และน้ำนม โดยสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางการสัมผัสโดนสารคัดหลั่ง การมีเพศสัมพันธ์ หรือการเปลี่ยนถ่ายเลือด ทั้งนี้ Cytomegalovirus Infection เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถใช้ยาเพื่อควบคุมเชื้อภายในร่างกายที่ทำให้เกิดอาการได้
อาการของ Cytomegalovirus Infection
ผู้ติดเชื้อที่มีสุขภาพดีมักไม่มีอาการปรากฏให้เห็น แต่ในบางรายอาจมีอาการไม่สบายที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้สูง เบื่ออาหาร หรือรู้สึกเหนื่อยล้า เป็นต้น
เชื้อไซโตเมกะโลไวรัสอาจเป็นทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ในคน 2 กลุ่ม ดังนี้
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อเอชไอวีผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะหรือเซลล์ และผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง เป็นต้น ซึ่งเชื้อ CMV ที่กระจายไปทั่วร่างกายจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อตามอวัยวะต่าง ๆ อย่างดวงตา ระบบทางเดินอาหาร ปอด ตับ และสมอง เชื้อเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและเกิดความเสียหายต่ออวัยวะนั้น ๆ จนส่งผลต่อการทำงานและเกิดความผิดปกติขึ้น เช่น ตาพร่า เห็นจุดดำขณะมอง (ฺBlind Spot) รู้สึกเจ็บขณะกลืนอาหาร ท้องเสียบ่อย ปวดท้อง ปวดศีรษะ หอบเหนื่อย เป็นเหน็บ ชาตามสันหลัง ไม่มีสมาธิ โคม่า หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้น
ด้วยอาการที่รุนแรงและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่สูงกว่าคนกลุ่มอื่น ผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำจึงควรเข้ารับการตรวจเลือดเป็นประจำ เพื่อทราบสถานะการติดเชื้อ ซึ่งอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้
ทารก
ทารกอาจได้รับเชื้อจากมารดาที่ติดเชื้อหรือได้รับเชื้อจากการดื่มนมแม่ โดยผู้ติดเชื้อที่กำลังตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด โดยทารกแรกเกิดที่ติดเชื้ออาจมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ศีรษะเล็กกว่าปกติ มีผื่นหรือรอยสีม่วงเป็นปื้นตามร่างกาย ตาเหลือง ตัวเหลือง ม้ามโต ตับโตและมีปัญหาในการทำงาน ปอดบวม ชัก มีพัฒนาการช้า ตาบอด และหูหนวก เป็นต้น อาการ Cytomegalovirus Infection ในทารกอาจไม่ปรากฏทันทีที่คลอด แต่อาจใช้เวลาหลายเดือนไปจนถึงหลายปีจึงจะพบอาการ นอกจากนี้ การได้รับเชื้อในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจรุนแรงกว่าการได้รับเชื้อในช่วงอื่น และบางรายอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้จากการติดเชื้อ
ดังนั้น เมื่อทราบว่าตนเองหรือทารกมีอาการในลักษณะนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
สาเหตุของ Cytomegalovirus Infection
โรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง อย่างน้ำลาย น้ำนม น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด และเลือด นอกจากนี้ เชื้อไซโตเมกาโลไวรัสอาจแพร่กระจายจากคนสู่คนจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้ป่วย การสัมผัสดวงตา โพรงจมูก ช่องปากภายหลังจากการสัมผัสเชื้อ การเข้ารับการถ่ายเลือดหรือปลูกถ่ายอวัยวะ รวมไปถึงมารดาที่มีเชื้อตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่ทารกได้
ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ยังเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้ที่กำลังใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำมักมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อชนิดนี้สูงกว่าคนทั่วไป
การวินิจฉัย Cytomegalovirus Infection
ในการวินิจฉัยการติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วยและประวัติภูมิคุ้มกันต่ำ โรคประจำตัว พร้อมตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณของโรค อย่างการอักเสบของดวงตา จากนั้นจะทำการเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ปัสสาวะ หรือน้ำไขสันหลัง เพื่อนำไปตรวจหาการติดเชื้อ นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการแสดงภาพอวัยวะภายในเพื่อตรวจหาความเสียหายที่อาจเกิดจากเชื้อชนิดนี้
สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และคาดว่ามีเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส แพทย์จะเจาะและเก็บตัวอย่างน้ำคร่ำเพื่อหาเชื้อ แต่สำหรับทารกแรกเกิดที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโดยกำเนิด แพทย์จะแนะนำให้มาตรวจภายใน 1-3 สัปดาห์หลังคลอด
การรักษา Cytomegalovirus Infection
การติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัสไม่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาจึงเป็นการควบคุมและลดปริมาณเชื้อภายในร่างกายเพื่อป้องกันอาการและภาวะแทรกซ้อน ซึ่งผู้ติดเชื้อที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส (Antiviral Drugs) ในการควบคุมเชื้อ แต่สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและทารกที่ติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการรักษาอาจขึ้นอยู่กับอาการที่พบ หากไม่มีการติดเชื้อที่รุนแรง แพทย์จะสั่งจ่ายยาไวรัสเพื่อควบคุมปริมาณเชื้อ ผู้ป่วยจึงควรรับประทานอย่างต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของยาและป้องกันการดื้อยา อย่างไรก็ตาม การใช้ยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
ภาวะแทรกซ้อนของ Cytomegalovirus Infection
การติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัสอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ โดยอาจอาการของภาวะแทรกซ้อนอาจแบ่งตามได้ตามกลุ่มผู้ติดเชื้อ ดังนี้
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจเอื้อให้ไวรัสชนิดนี้ทำอันตรายต่ออวัยวะและอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา อย่างตาบอดจากการติดเชื้อในดวงตา โรคหัวใจ ลำไส้อักเสบ กระเพาะอักเสบ ตับอักเสบ ปอดอักเสบ และโรคไข้สมองอักเสบ
ทารกในครรภ์ที่มีเชื้อ CMV
เด็กทารกที่ได้รับเชื้อตั้งแต่ในครรภ์อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หูหนวก ตาบอด ปัญญาอ่อน ชัก กล้ามเนื้ออ่อนแรง การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อผิดปกติและมีปัญหาการใช้กล้ามเนื้อร่วมกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของทารกแรกที่ติดเชื้ออาจไม่ได้รับภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เสมอไป แต่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีในการลดความเสี่ยง
แม้ว่าผู้ติดเชื้อ CMV ที่มีสุขภาพแข็งแรงอาจพบภาวะแทรกซ้อนได้ยาก แต่บางรายก็พบได้เช่นกัน อย่างปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร การทำงานของตับ สมองและระบบประสาท
การป้องกัน Cytomegalovirus Infection
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันเชื้อนี้ แต่อาจลดความเสี่ยงในกาารติดเชื้อได้ด้วยการรักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ อย่างการล้างมือฟอกสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ดูแลความสะอาดของร่างกายและช่องปาก และสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ผู้ที่ต้องทำงานกับทารก เด็ก หรือผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งและของเสีย อย่างน้ำลาย น้ำตา ปัสสาวะ และอุจจาระ ควรซักเสื้อผ้าแยกกับคนอื่น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือน้ำร่วมกับเด็ก ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านอยู่เสมอ
ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ ควรใช้ยาต้านไวรัส (Antiviral) ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และผู้ที่กำลังใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการป้องกันแบบอื่น ๆ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ CMV สูงกว่าคนทั่วไป
หญิงตั้งครรภ์เป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงขณะตั้งครรภ์จึงควรดูแลตนเองเป็นพิเศษ