ความหมาย โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis)
Dermatomyositis เป็นโรคที่เกิดการอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อและผิวหนัง ผู้ป่วยอาจมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และรู้สึกอ่อนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและหลอดเลือด
โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบเป็นโรคที่พบได้น้อยและมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และแม้ปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็อาจช่วยให้อาการทุเลาลงได้
อาการของโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ
โดยทั่วไป ผู้ป่วย Dermatomyositis มักจะมีผื่นhttps://www.pobpad.com/ผื่นสีม่วงหรือสีแดงคล้ำขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ใบหน้า เปลือกตา หน้าอก โคนเล็บ ข้อนิ้ว ข้อศอก และหัวเข่า เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกเจ็บและคัน ทั้งยังมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะอวัยวะที่อยู่ใกล้กับลำตัว เช่น คอ ไหล่ ต้นแขน สะโพก และต้นขา เป็นต้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงทั้งบริเวณด้านซ้ายและด้านขวาของร่างกาย และอาจมีอาการรุนแรงขึ้นหลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ กลืนลำบาก น้ำหนักตัวลดลง มีปัญหาเกี่ยวกับปอด และเกิดก้อนแข็งใต้ผิวหนังจากการสะสมของแคลเซียมซึ่งมักพบในผู้ป่วยเด็ก เป็นต้น
สาเหตุของโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ
แม้ปัจจุบันทางการแพทย์จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ Dermatomyositis แต่โรคนี้อาจเกิดจากความผิดปกติของยีน การถูกกระตุ้นจากปัจจัยแวดล้อม หรืออาจเกิดจากทั้งสองอย่าง โดยอาการส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายกับโรคแพ้ภูมิตนเอง ซึ่งเมื่อเกิดโรคนี้ขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันจะมีปฏิกิริยาต่อต้านทำลายหลอดเลือดขนาดเล็กในเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ ส่งผลกระทบต่อใยเส้นกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณผิวหนัง
การวินิจฉัยโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ
ในเบื้องต้น แพทย์จะประเมินจากอาการ ประวัติทางการแพทย์ และผลการตรวจร่างกายของผู้ป่วย รวมทั้งอาจนำตัวอย่างเลือดไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจดูระดับเอนไซม์ของกล้ามเนื้อ และสารภูมิคุ้มกันที่ทำลายเซลล์ในร่างกาย
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- การตรวจวินิจฉัยจากภาพ เพื่อตรวจอวัยวะภายในที่ได้รับผลกระทบ โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การเอกซเรย์หน้าอกเพื่อตรวจดูความผิดปกติของปอด และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เพื่อตรวจดูความผิดปกติของกล้ามเนื้อ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography) ใช้ในการประเมินกิจกรรมทางไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ เพื่อบันทึกแรงกระตุ้นทางไฟฟ้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อ
- การตัดชิ้นเนื้อตรวจ เป็นการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณกล้ามเนื้อหรือผิวหนังออกมาตรวจวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์อย่างละเอียด เพื่อตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ
การรักษาโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ
เนื่องจาก Dermatomyositis เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์จึงต้องรักษาประคับประคองตามอาการด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
การดูแลตัวเอง ผู้ป่วยโรคนี้สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนี้ ปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรใช้ครีมกันแดดและสวมเสื้อแขนยาวหรือหมวกเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด รวมทั้งออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ พักผ่อนให้เพียงพอ และเรียนรู้วิธีควบคุมอารมณ์หรือความเครียดของตนเอง
การรักษาด้วยยา แพทย์อาจรักษาด้วยยาชนิดต่าง ๆ ดังนี้
- ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นยาที่ใช้ยับยั้งสารในร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นมาในภาวะอักเสบ ใช้บรรเทาอาการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น ยาเพรดนิโซโลน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้ยาชนิดนี้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ ดังนั้น หลังจากให้ยาในปริมาณสูง แพทย์อาจลดปริมาณยาลงหากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาสเตียรอยด์ควบคู่กับยากดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอย่างอะซาไธโอพรีนและเมโธเทรกเซทด้วย
- ยาอื่น ๆ เช่น ยาริทูซิแมบ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน และยาแก้ปวด เป็นต้น
การให้อิมมูโนโกลบูลินผ่านทางหลอดเลือดดำ เป็นการให้เลือดที่มีแอนติบอดี้สุขภาพดี เพื่อยับยั้งการทำงานของแอนติบอดี้ที่ทำลายกล้ามเนื้อและผิวหนัง แต่วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องทำซ้ำเป็นระยะ
การบำบัด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยการบำบัดวิธีต่าง ๆ ได้แก่ การทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของร่างกายผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติมากที่สุด และการทำอรรถบำบัด ซึ่งช่วยแก้ปัญหากล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยวและการกลืนอาหารของผู้ป่วย นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ขอคำปรึกษาจากนักโภชนาการเกี่ยวกับวิธีการเลือกอาหารที่เหมาะสมและง่ายต่อการรับประทานด้วย
การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดเพื่อนำแคลเซียมที่เกาะใต้ผิวหนังออกจากร่างกาย การบำบัดด้วยความร้อน การใช้กายอุปกรณ์อย่างแขนเทียมหรือขาเทียม การใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการยืนและการเคลื่อนไหว เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ
ผู้ป่วย Dermatomyositis อาจประสบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้
- เกิดปัญหาในการกลืนอาหาร ซึ่งอาจทำให้มีน้ำหนักตัวลดลงและประสบภาวะขาดสารอาหาร และอาจนำไปสู่โรคปอดอักเสบจากการสูดสำลัก (Aspiration Pneumonia) เนื่องจากมีการหายใจนำอาหารหรือของเหลวซึ่งรวมถึงน้ำลายเข้าสู่ปอด
- เกิดปัญหาด้านการหายใจ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการหอบเหนี่อยหากโรคนี้ส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับโรค Dermatomyositis ด้วย เช่น โรคหลอดเลือดหดตัวเรเนาด์ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคไขข้ออักเสบ โรคโจเกรน โรคผิวหนังแข็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเนื้อเยื่อในปอดอักเสบ รวมทั้งมะเร็งชนิดต่าง ๆ อย่างมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
การป้องกันโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ ทำให้ยังไม่มีวิธีป้องกันที่แน่นอน แต่คนทั่วไปอาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้ โดยรักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการไม่สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักและความดันโลหิต ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และล้างมือเป็นประจำ หากมีอาการที่เป็นสัญญาณของโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ส่วนผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ อาจป้องกันอาการรุนแรงขึ้นได้ด้วยการทาครีมกันแดด สวมเสื้อแขนยาวหรือหมวก ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนี้ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด