Dextrose (เดกซ์โทรส)
Dextrose (เดกซ์โทรส) หรือน้ำตาลกลูโคส เป็นน้ำตาลธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ผลิตได้จากตับของคนเรา โดยเป็นแหล่งพลังงานที่อวัยวะและเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายจำเป็นต้องใช้เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Dextrose ผลิตจากข้าวโพดและมักใช้เป็นสารให้ความหวานในขนม นอกจากนั้น ทางการแพทย์ยังนำมาใช้รักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ภาวะขาดน้ำ และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
สารละลาย Dextrose มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Dextrose
กลุ่มยา | ผลิตภัณฑ์บำบัดโรค |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะขาดน้ำ และภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาฉีด ยารับประทาน |
คำเตือนในการใช้ยา Dextrose
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ข้าวโพดหรือผลิตภัณฑ์ข้าวโพด รวมถึงการแพ้ยา อาหาร หรือสารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวและยาทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ Dextrose
- ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ เป็นโรคตับขั้นโคม่า มีภาวะการดูดซึมกลูโคสกาแลกโทสผิดปกติ ควรระมัดระวังในการใช้ Dextrose
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ Dextrose ชนิดให้ทางหลอดเลือดดำ หากป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหืด โรคไต ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือติดสุรา
-
ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้ยานี้
ปริมาณการใช้ยา Dextrose
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
ยารับประทาน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 10-20 กรัม วันละ 1 ครั้ง อาจรับประทานยาอีกครั้งใน 10 นาทีถัดไป
เด็กอายุมากกว่า 2 ปี รับประทานยาปริมาณ 10-20 กรัม อาจรับประทานยาอีกครั้งใน 10 นาทีถัดไป
ยาฉีด
ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 10-25 กรัม (40-100 มิลลิลิตร จากสารละลายความเข้มข้น 25 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20-50 มิลลิลิตร จากสารละลายความเข้มข้น 50 เปอร์เซ็นต์) และอาจต้องใช้ยาซ้ำอีกครั้งในรายที่มีอาการรุนแรงมาก
เด็กอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือน หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 0.25-0.5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง
เด็กอายุมากกว่า 6 เดือน หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 0.5-1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจต้องใช้ยาซ้ำอีกครั้ง ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 25 กรัม/ครั้ง
ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 25-50 กรัม ร่วมกับให้อินซูลินปริมาณ 10 ยูนิต โดยให้ยาเป็นระยะเวลาประมาณ 30-60 นาที และอาจให้ยาซ้ำอีกครั้งหากจำเป็น หรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 25 กรัม ร่วมกับให้อินซูลิน 5-10 ยูนิต โดยให้ยาเป็นระยะเวลาประมาณ 5 นาที และอาจให้ยาซ้ำอีกครั้งหากจำเป็น
การใช้ยา Dextrose
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- ผู้ป่วยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรมีอาการดีขึ้นภายใน 10 นาที หลังจากรับประทาน Dextrose หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้รับประทานเพิ่มอีก 1 ครั้ง และหากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยาครั้งที่ 2 ควรไปพบแพทย์
- Dextrose แบบฉีด มีวิธีใช้โดยการหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำช้า ๆ ห้ามฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อหรือทางผิวหนัง และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการแสบ เจ็บ หรือบวมบริเวณที่ฉีดยา
- ใช้กระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยาเพียง 1 ครั้ง ห้ามนำกลับมาใช้ซ้ำ
- ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
- ตรวจสอบวันหมดอายุที่ฉลากก่อนใช้ทุกครั้ง
- หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อนและความชื้น เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และปิดภาชนะบรรจุยาให้สนิทเมื่อไม่ได้ใช้
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีเก็บยาและกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Dextrose
การใช้ Dextrose อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ เจ็บหรือมีอาการกดเจ็บบริเวณที่ฉีดยา ผิวแดง อุ่น หรือเป็นเหน็บนานหลายนาทีหลังจากใช้ยา ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงเกินไป โดยอาการบ่งชี้ เช่น ลมหายใจมีกลิ่นหวานคล้ายผลไม้ กระหายน้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะขาดน้ำ ผิวแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ สับสน เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์
หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Dextrose ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม และคอบวม
- เหงื่อออก ผิวซีด เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม
- สับสน เวียนศีรษะ คล้ายจะหมดสติ
- มือหรือเท้าบวม
- มีไข้
นอกจากนี้ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน