Diabetic Ketoacidosis (DKA) เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรคเบาหวาน โดยจะเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้ร่างกายสร้างคีโตน (Ketones) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์เป็นกรดออกมาในกระแสเลือดเป็นปริมาณมาก ทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากได้รับการรักษาไม่ทันเวลา
อินซูลินเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อสร้างเป็นพลังงาน แต่เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอ ร่างกายจะสลายไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ทำให้เกิดการผลิตคีโตนออกมามากผิดปกติ โดยทั่วไป Diabetic Ketoacidosis มักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เอง แต่ในบางกรณีอาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน
อาการของ Diabetic Ketoacidosis
ภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวานมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในบางครั้งอาจเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง โดยอาการอาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน ดังนี้
- ปากแห้ง กระหายน้ำมาก
- ปัสสาวะบ่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- หายใจลำบาก หอบ
- ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้
- สับสน มึนงง
หากผู้ป่วยใช้อินซูลินอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิด Diabetic Ketoacidosis และหากมีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ผู้ป่วยควรตรวจวัดระดับคีโตนในปัสสาวะซึ่งสามารถตรวจด้วยตนเองได้ด้วยการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดระดับคีโตนในปัสสาวะที่หาซื้อได้ทั่วไป
หากมีอาการอาเจียน ไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำ ร่วมกับมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 300 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ 16.7 มิลลิโมลต่อลิตรอย่างต่อเนื่อง
- มีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของ Diabetic Ketoacidosis หลายอาการ เช่น กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หายใจลำบาก ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้ หรือสับสนมึนงง
สาเหตุของ Diabetic Ketoacidosis
Diabetic Ketoacidosis เกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดอินซูลิน ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลในเลือดเป็นพลังงาน ร่างกายจึงปล่อยฮอร์โมนที่ช่วยในการเผาผลาญไขมันเพื่อใช้ทดแทนน้ำตาล โดยในการเผาผลาญพลังงานนี้จะทำให้เกิดการสร้างกรดคีโตนขึ้นมา และหากคีโตนถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดการสะสมในเลือด สารเคมีในเลือดจึงเสียสมดุลและกระทบต่อการระบบทำงานในร่างกาย
Diabetic Ketoacidosis อาจเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุต่อไปนี้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักเสี่ยงในการเกิด Diabetic Ketoacidosis ได้สูง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ในบางกรณีอาจเกิดได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เช่นกัน แต่อาจพบได้น้อยกว่า ทั้งนี้อาจพบว่า Diabetic Ketoacidosis เป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงอาการของโรคเบาหวานในผู้ป่วยบางรายได้
- การติดเชื้อหรืออาการป่วย เช่น ไข้หวัด ปอดบวม หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น โดยทั่วไปร่างกายจะสร้างฮอร์โมนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อย่างอะดรีนาลีนหรือคอร์ติซอล โดยฮอร์โมนเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิด Diabetic Ketoacidosis ได้
- การขาดอินซูลินในผู้ป่วย การขาดการรักษาหรือการได้รับการรักษาด้วยอินซูลินโดยไม่เพียงพอก็อาจกระตุ้นให้เกิด Diabetic Ketoacidosis ได้
นอกจากนี้ ภาวะดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 19 ปี
- ผู้มีภาวะหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้ที่มีอาการป่วย อย่างมีไข้สูง
- ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างมีประจำเดือนหรือหญิงตั้งครรภ์
- ผู้มีประวัติการได้รับบาดเจ็บทางร่างกายหรือจิตใจ
- ผู้มีประวัติการผ่าตัด
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะโคเคน
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์และยาขับปัสสาวะบางชนิด เป็นต้น
การวินิจฉัย Diabetic Ketoacidosis
แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และตรวจร่างกายเบื้องต้น รวมทั้งอาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยสาเหตุอาจทำให้เกิด Diabetic Ketoacidosis ดังนี้
การตรวจเลือด
การตรวจเลือดใช้เพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคีโตน และค่าความเป็นกรดในเลือด ซึ่งอาจส่งผลต่อร่างกาย ดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือด หากอินซูลินในร่างกายไม่เพียงพอและไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ระดับคีโตน เมื่อร่างกายสลายไขมันและโปรตีนเพื่อใช้เป็นพลังงาน กรดคีโตนจะสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้
- ค่าความเป็นกรดของเลือด หากมีปริมาณคีโตนในเลือดสูงเกินไป จะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด
การตรวจอื่น ๆ
แพทย์อาจใช้วิธีวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยพิจารณาจากปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยที่อาจเป็นปัจจัยให้เกิด Diabetic Ketoacidosis ได้แก่ การตรวจแร่ธาตุในเลือด (Blood Electrolyte Tests) โดยเฉพาะค่าโพแทสเซียม การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) การเอกซเรย์ทรวงอก และการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
การรักษา Diabetic Ketoacidosis
การรักษา Diabetic Ketoacidosis มักใช้วิธีการปรับระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินให้อยู่ในระดับที่ปกติควบคู่กันไป ทั้งนี้ ผู้ป่วย Diabetic Ketoacidosis อาจได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในห้องฉุกเฉินหรือนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล และอาจเข้ารับการรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- การให้น้ำทดแทนหากผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำจากการปัสสาวะบ่อย และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยอาจให้ผู้ป่วยดื่มหรือให้ผ่านหลอดเลือดดำ
- การให้เกลือแร่ทดแทน (Electrolyte Replacement) อย่างโซเดียม โพแทสเซียม และคลอไรด์ ซึ่งอาจลดต่ำลงได้เนื่องจากการขาดอินซูลิน แพทย์อาจให้เกลือแร่ทดแทนผ่านการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้กล้ามเนื้อ เส้นประสาท และหัวใจสามารถทำงานได้ตามปกติ
- การรักษาด้วยการให้อินซูลิน นอกจากการให้น้ำและเกลือแร่ แพทย์อาจให้อินซูลินผ่านทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วยจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และเลือดไม่มีความเป็นกรด แพทย์จึงหยุดการให้อินซูลินผ่านทางหลอดเลือดดำ และให้ผู้ป่วยรักษาด้วยอินซูลินด้วยวิธีปกติต่อไป
ทั้งนี้ แพทย์อาจพิจารณาการตรวจเพิ่มเติมภายหลังการรักษา เพื่อวินิจฉัยปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิด Diabetic Ketoacidosis หรือแพทย์อาจพิจารณาวิธีการรักษาอื่นเพิ่มเติม เช่น การวางแผนการรักษาโรคเบาหวานเพื่อป้องกันการเกิด Diabetic Ketoacidosis ซ้ำอีกในภายหลัง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ Diabetic Ketoacidosis จากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการของผู้ป่วย และหากผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจการทำงานของหัวใจเพิ่มเติม
ภาวะแทรกซ้อนของ Diabetic Ketoacidosis
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเลือดเป็นกรดชนิดนี้อาจเกิดขึ้นได้หลังได้รับการรักษา ดังนี้
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) การรักษาด้วยอินซูลินทำให้เซลล์ได้รับน้ำตาลเพื่อใช้เป็นพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง อย่างไรก็ตาม หากระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างรวดเร็วอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
- ภาวะโพแทสเซียมต่ำ (Hypokalemia) การรักษาด้วยอินซูลินและของเหลวทดแทน อาจทำให้ระดับโพแทสเซียมลดต่ำลง ส่งผลให้การทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาททำงานผิดปกติ
- ภาวะสมองบวม (Cerebral Edema) การปรับระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็วอาจทำให้สมองบวมได้ มักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มักพบในเด็ก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
หากปล่อยให้มีอาการ Diabetic ketoacidosis โดยไม่รักษา ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจยิ่งรุนแรงมากขึ้น ระดับความรู้สึกตัวลดลง หรืออาจทำให้เสียชีวิต
การป้องกัน Diabetic Ketoacidosis
แม้จะป้องกันการติดเชื้อหรืออาการป่วยอื่น ๆ ได้ยาก แต่สามารถป้องกันการเกิด Diabetic ketoacidosis ได้โดยการควบคุมอาการของโรคเบาหวานอย่างเหมาะสมด้วยวิธีต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่เหมาะสม และดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานยารักษาโรคเบาหวานหรือฉีดอินซูลินตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยอาจตั้งเวลาเตือนหรือเตรียมยาไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันการลืมรับประทานยาหรือฉีดอินซูลิน
- ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับปริมาณอินซูลินตามสภาวะของร่างกาย เช่น อาหารที่รับประทาน ระดับน้ำตาลในเลือด กิจกรรมที่ทำ หรือสุขภาพโดยรวม
- ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์
แม้ Diabetic ketoacidosis อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง แต่หากมีวินัยในการดูแลตนเองอย่างเคร่งครัดตามที่แพทย์สั่ง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะดังกล่าวได้