ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (DIC)

ความหมาย ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (DIC)

DIC (Disseminated Intravascular Coagulation) หรือภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย  คือ ภาวะที่กลไกการแข็งตัวของเลือดทำงานผิดปกติและเกิดการแพร่กระจาย ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดที่ทำให้เส้นเลือดอุดตันทั้งแบบกึ่งเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ลดการไหลเวียนของเลือดและอุดกั้นไม่ให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่การห้ามเลือดของร่างกายที่ผิดปกติ ไปจนถึงอวัยวะในร่างกายล้มเหลว และอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

DIC

อาการของภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย

ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย ได้แก่

  • เลือดออกหลากหลายตำแหน่งในร่างกาย ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย
  • เลือดออกในปากหรือจมูก รวมไปถึงมีเลือดออกทั้งภายนอกและภายในร่างกาย
  • เลือดออกทางทวารหนักและช่องคลอด
  • เกิดลิ่มเลือด
  • ความดันโลหิตต่ำลง หรือมีภาวะช็อกตามมา
  • เกิดรอยฟกช้ำได้ง่าย
  • เกิดเลือดออกเป็นจุดขนาดเล็กในชั้นผิวหนังหรือเยื่อบุ (Petechiae)
  • ในผู้ป่วยมะเร็ง อาการจะเกิดขึ้้นอย่างช้า ๆ และจะเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดได้มากกว่าการมีเลือดออก

สาเหตุของภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย

ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย เกิดจากการทำงานมากเกินไปของโปรตีนที่ใช้ในกระบวนการแข็งตัวของเลือด โดยภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • การติดเชื้ออย่างรุนแรง เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ปรสิต เป็นต้น
  • ภาวะช็อก 
  • การอักเสบ เช่น ตับอ่อนอักเสบ(Pancreatitis)()
  • เกิดแผลจากการบาดเจ็บ เช่น สมองได้รับบาดเจ็บ
  • ภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia)
  • โรคตับ เช่น ตับอ่อนอักเสบ ตับอักเสบฉับพลัน ตับวาย
  • โรคเลือด เช่น ภาวะเลือดข้น และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • โรคที่มีผลต่อผนังหลอดเลือด เช่น โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) 
  • ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
  • กล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarction)
  • โรคมะเร็ง
  • ถูกงูพิษกัด
  • การถ่ายเลือดที่มีปฏิกิริยาแพ้เลือดรุนแรง
  • การผ่าตัด

ความเสี่ยงของภาวะ DIC หากมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ดังนี้

  • เข้ารับการผ่าตัด
  • คลอดบุตร
  • แท้งบุตร
  • มีการถ่ายเลือด
  • ดมยาสลบ
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด
  • เป็นมะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
  • ได้รับบาดเจ็บรุนแรง เช่น บาดเจ็บที่ศีรษะ ไฟไหม้ หรือเกิดบาดแผล
  • เป็นโรคตับ

การวินิจฉัยภาวะภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย

หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการตรวจสอบการแข็งตัวของเลือด และอาจตรวจสอบเรื่องอื่น ๆ เพื่อช่วยยืนยัน ได้แก่

  • การวัดเวลาการแข็งตัวของเลือด (Prothrombin Time: PT)
  • การทดสอบ Activated Partial Thromboplastin Time: APTT
  • การวัดเกล็ดเลือด ซึ่งผู้ที่มีภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย จะมีเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำ
  • ตรวจระดับสารไฟบริโนเจน ซึ่งเป็นสารที่มีส่วนช่วยทำให้โลหิตแข็งตัว โดยในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย จะมีระดับสารไฟบริโนเจนต่ำ

หากพบว่าผลการทดสอบเป็นตามการวินิจฉัยข้างต้นจำนวนอย่างน้อย 2 ข้อ แสดงว่ามีความเป็นไปในระดับหนึ่งที่จะเกิดภาวะ หากมีอาการ 3 ข้อ แสดงว่ามีความเป็นไปได้สูงขึ้น แต่หากผลการทดสอบเป็นไปตามทั้งหมด 4 ข้อ แสดงว่ามีโอกาสเป็นสูงมาก

การทดสอบอื่น ๆ ได้แก่

  • การทดสอบ D-Dimer
  • ทดสอบการสลายตัวของไฟบริน (Fibrin Degradation Products: FDPs)
  • การตรวจ Thrombin Time (TT)
  • การตรวจ Thrombin-Antithrombin Complex (TAT)
  • ตรวจสอบระดับแอนติธรอมบิน (Antithrombin)  

การรักษาภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย

การรักษาภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ยกตัวอย่าง เช่น หากเกิดจากการติดเชื้อ แพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และหากเกิดจากภาวะแทรกซ้อนโดยเป็นผลจากการคลอดบุตร แพทย์จะรักษาด้วยการทำหัตถารหรือผ่าตัด นอกจากนี้ หากเกิดปัญหาการแข็งตัวของเลือด แพทย์อาจรักษาด้วยการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาเฮพาริน (Heparin) เพื่อป้องกันและลดการแข็งตัวของเลือด อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจจะไม่แนะนำให้ใช้ยาเฮพาริน หากผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำมากหรือมีเลือดออกมากเกินไป

ผู้ป่วยภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจายระยะเฉียบพลัน ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล มักต้องเข้ารักษาในห้องไอซียู (ICU) ซึ่งเป็นที่ที่สามารถรักษาสาเหตุของภาวะและยังคงรักษาการทำงานของอวัยวะในร่างกายเอาไว้ได้

นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการถ่ายเลือดเพื่อทดแทนเกล็ดเลือดที่เสียไป หรืออาจต้องถ่ายพลาสมาซึ่งจะสามารถช่วยชดเชยปัจจัยที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ได้แก่

  • เกิดลิ่มเลือดจนเป็นสาเหตุให้แขนและขาขาดออกซิเจน รวมไปถึงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 
  • มีเลือดออกมาเกินไปจนอาจทำให้เสียชีวิตได้

การป้องกันภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย

การป้องกันและการดูแลตนเองเมื่อมีภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย ทำได้ดังนี้

  • ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจ ติดตามอาการและตรวจเลือด ซึ่งการตรวจเลือดจะช่วยให้ระบุได้ว่าการแข็งตัวของเลือดเป็นไปอย่างไร
  • แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาที่ช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือด เพื่อช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด หรือช่วยให้ลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นแล้วไม่ขยายตัวใหญ่ขึ้น โดยผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาดังกล่าวควรแจ้งให้ทีมแพทย์ที่รักษาทราบทุกครั้ง
  • การใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เลือดเจือจางมากเกินไปและทำให้เกิดเลือดออกผิดปกติได้ หากมีเลือดออกมากกว่าปกติหลังจากได้รับบาดเจ็บหรือเกิดแผล หรือเกิดรอยฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่ายกว่าปกติ แสดงว่าเลือดของผู้ป่วยเจือจางมาก หากผู้ป่วยพบอาการหรือสัญญาณดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนที่จะซื้อยาใช้เองหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น วิตามิน อาหารเสริม หรือสมุนไพร เพราะยาหรือผลิตภัณฑ์บางชนิดมีผลกระทบต่อการแข็งตัวของเลือดและเกิดเลือดออกผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น ยาแอสไพริน และยาไอบูโพรเฟน อาจทำให้เลือดเจือจางมากเกินไปได้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการตกเลือด
  • หากผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด แพทย์อาจปรับปริมาณยาให้ใช้ยาก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันเลือดออก ซึ่งกรณีนี้อาจใช้ในการรักษาทางทันตกรรม แต่จะพบได้ไม่บ่อย