ความหมาย โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis)
Diverticulitis หรือ โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ คือการอักเสบของกระเปาะบริเวณเยื่อบุลำไส้ใหญ่ที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องอย่างเฉียบพลันรุนแรง โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงควบคุมอาการด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกาย บางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
อาการของโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
อาการของโรค Diverticulitis อาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือค่อย ๆ เกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน สังเกตได้ดังนี้
- มีอาการกดเจ็บหรือปวดเกร็งที่ท้องส่วนล่างบริเวณด้านซ้ายหรือด้านขวา โดยอาจปวดเรื้อรังและรุนแรง
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- หนาวสั่น
- ท้องอืด
- เบื่ออาหาร
- ท้องผูกหรือท้องเสีย
- รู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียน
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- อุจจาระปนเลือดหรือมีเลือดออกทางทวารหนัก
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการผิดปกติรุนแรง ดังนี้
- มีอาการปวดท้องรุนแรงกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อขยับตัวหรือไอ
- อุจจาระปนเลือดมากผิดปกติ อุจจาระมีสีแดงหรือสีดำเนื่องจากมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
- มีลมหรืออุจจาระออกมาจากท่อปัสสาวะในขณะปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการเชื่อมต่อกันอย่างผิดปกติระหว่างทางเดินปัสสาวะและทวารหนัก
สาเหตุของโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
ปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของ Diverticulitis ได้อย่างชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ผนังลำไส้อ่อนแอกว่าปกติ เมื่อเกิดแรงดันภายในลำไส้ใหญ่มาก ๆ จึงส่งผลให้เกิดกระเปาะที่ผนังลำไส้ขึ้น และหากผู้ป่วยมีปัญหาด้านการขับถ่ายจนทำให้มีอุจจาระตกค้างในลำไส้ เชื้อโรคก็อาจเข้าไปสะสมภายในกระเปาะจนเกิดการอักเสบในที่สุด นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เสี่ยงเกิดการอักเสบที่ถุงผนังลำไส้มากขึ้นได้ มีดังนี้
- อายุและเพศ ยิ่งมีอายุมากขึ้นก็ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค Diverticulitis สูงขึ้น
- พันธุกรรม มีการศึกษาพบว่าผู้ที่มีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติหรือเป็นแฝดกับผู้ป่วยภาวะ Diverticulitis มีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าปกติ
- โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปจนเกิดเป็นโรคอ้วนอาจเสี่ยงเกิดภาวะ Diverticulitis และมีเลือดออกในระบบย่อยอาหาร แต่ยังไม่อาจหาข้อสรุปหรืออธิบายได้ว่าโรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้อย่างไร
- การรับประทานเส้นใยอาหารไม่เพียงพอ เส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์ที่พบมากในผักผลไม้และธัญพืชไม่ขัดสีนั้นมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย การรับประทานอาหารประเภทนี้น้อยอาจทำให้เสี่ยงเกิด Diverticulitis ได้
- ออกกำลังกายน้อย มีข้อสันนิษฐานว่าการเคลื่อนไหวร่างกายไม่มากพอหรือออกกำลังกายน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับถุงผนังลำไส้สูงขึ้น
- การสูบบุหรี่ นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายแล้วยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะอักเสบและโรคเกี่ยวกับถุงผนังลำไส้ได้
- การใช้ยาบางชนิด การใช้ยาแอสไพรินหรือยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสดติดต่อกันเป็นประจำอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรค Diverticulitis นอกจากนี้ การใช้ยาสเตียรอยด์และยาระงับปวดชนิดเสพติดบางตัวอาจเสี่ยงก่อให้เกิดลำไส้ทะลุซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงของ Diverticulitis ได้ด้วย
- การขาดวิตามินดี มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยภาวะ Diverticulitis มีระดับวิตามินดีต่ำกว่าปกติ แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าการขาดวิตามินดีเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้อย่างไร
การวินิจฉัยโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
ผู้ป่วย Diverticulitis มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้อง การตรวจวินิจฉัยจะเริ่มจากการซักประวัติสุขภาพและสอบถามถึงอาการที่เกิดขึ้น ร่วมกับตรวจร่างกายภายนอก แพทย์จะตรวจดูว่ามีอาการกดเจ็บบริเวณท้องหรือไม่ ส่วนผู้ป่วยหญิงอาจได้รับการตรวจภายในเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากโรคที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ทั้งนี้ โรค Diverticulitis อาจมีอาการคล้ายกับโรคลำไส้แปรปรวน โรคแพ้กลูเตน หรือโรคมะเร็งลำไส้ จึงต้องมีการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย เช่น
- การตรวจเลือด เพื่อหาร่องรอยของการอักเสบ ภาวะโลหิตจางจากการมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร และปัญหาที่เกี่ยวกับตับหรือไต
- การตรวจปัสสาวะ เป็นการนำตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจหาการติดเชื้อ
- การตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจหาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น การติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile) ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย และใช้ตรวจหาเลือดที่ปนในอุจจาระ กรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ แพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กซึ่งมีกล้องติดอยู่ที่ปลายท่อเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจดูความผิดปกติของลำไส้ โดยก่อนตรวจจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาระบายเพื่อกำจัดของเสียออกก่อน การตรวจด้วยวิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ค่อยสบาย และอาจต้องใช้ยาแก้ปวดหรือยากล่อมประสาทเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) วิธีนี้ช่วยให้แพทย์เห็นภาพของระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ในบางกรณีอาจทำร่วมกับการส่องกล้อง
การรักษาโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
แนวทางในการรักษา Diverticulitis ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย หากมีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ โดยแพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น หมั่นรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงอย่างผักผลไม้ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้และป้องกันการอักเสบที่อาจเกิดขึ้นอีก แต่ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจให้รับประทานอาหารเหลวจนกว่าอาการจะดีขึ้นแล้วค่อยเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง และหากมีอาการปวดท้อง ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการดังกล่าวด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ใช้ถุงน้ำร้อนประคบบริเวณท้องเพื่อบรรเทาอาหารปวดเกร็ง
- หาวิธีผ่อนคลาย เช่น ฝึกหายใจช้า ๆ ลึก ๆ หรือทำสมาธิ เป็นต้น
- ใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล โดยควรใช้ตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด หากอาการปวดไม่หายไปหรือรุนแรงมากขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์
นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้ผู้ป่วยบางรายเพื่อช่วยรักษาการติดเชื้อ ทว่าหากมีอาการรุนแรงหรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้ยาปฎิชีวนะชนิดฉีดเข้าทางเส้นเลือด ส่วนในกรณีที่การติดเชื้อส่งผลให้เกิดฝีภายในร่างกายอาจต้องมีการใส่ท่อเพื่อระบายหนองออก
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีฝีหรือทางเชื่อมที่ผิดปกติของอวัยวะภายในระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย มีภาวะลำไส้อุดตัน เกิดการอักเสบของถุงผนังลำไส้ซ้ำซ้อน หรือในกรณีที่การรักษาวิธีอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรผ่าตัดด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสมที่สุด และหลังจากได้รับการรักษาและพักฟื้นจนมีอาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันการกำเริบของโรคด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ค่อย ๆ เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น
- ฝึกพฤติกรรมการขับถ่ายที่ดี เช่น รับประทานอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการเบ่งขณะขับถ่าย และดื่มน้ำให้มากขึ้น
- ห้ามสวนอุจจาระหรือใช้ยาถ่ายโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายหรือเกิด Diverticulitis ขึ้นอีกในระหว่างการใช้ยาเหล่านี้ ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงยิ่งขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที โรค Diverticulitis อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยอาการที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ปวดท้องอย่างรุนแรง ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ตามปกติ ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนของ Diverticulitis ที่เกิดขึ้นได้ มีดังนี้
- ฝีภายในทางเดินอาหาร เกิดขึ้นเมื่อเชื้อแพร่กระจายจากบริเวณถุงผนังลำไส้ที่อักเสบไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น บริเวณเชิงกราน หรือเยื่อบุช่องท้อง ฝีขนาดเล็กรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หากฝีมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจต้องใช้การผ่าตัดและใส่ท่อเล็ก ๆ เพื่อระบายของเหลวออกจากฝี
- รูหรือทางเชื่อมที่ผิดปกติระหว่างอวัยวะ หากมีการอักเสบและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ถุงผนังลำไส้อาจปริแตกจนเกิดรูหรือทางเชื่อมระหว่างอวัยวะ ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็ก มดลูก ช่องคลอด ผนังช่องท้อง ต้นขา เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยมากขึ้น
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ภายในถุงผนังลำไส้แพร่กระจายออกมาที่ช่องท้อง มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องอืดผิดปกติ
- เลือดออกที่ทวารหนักหรืออุจจาระเป็นเลือด เมื่อไม่ได้รับการรักษา กระเปาะลำไส้ที่อักเสบอาจส่งผลให้เส้นเลือดแดงขนาดเล็กภายในลำไส้เกิดความเสียหาย เป็นเหตุให้มีเลือดออกภายในลำไส้ และอาจมีเลือดออกที่ทวารหนักหรืออุจจาระเป็นเลือด แต่อาการนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่น ๆ อย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนั้น หากมีเลือดออกหรืออุจจาระเป็นเลือด ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ
- ลำไส้อุดตัน การอักเสบเรื้อรังของผนังลำไส้จะส่งผลให้เกิดพังผืดตามทางเดินอาหาร เป็นเหตุให้เกิดการตีบตันของลำไส้ ร่างกายจึงขับถ่ายของเสียลำบากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นเมื่อภาวะถุงผนังลำไส้อักเสบได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง แต่ในกรณีที่การอักเสบทำให้เกิดแผลเป็นและมีลำไส้อุดตันอย่างถาวรนั้นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพราะเป็นภาวะรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การป้องกันโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
โรค Diverticulitis ไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลตัวเองให้มากขึ้น ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเพื่อช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น หลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันและเนื้อแดง ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยให้ไฟเบอร์ที่รับประทานเข้าไปทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และออกกำลังกายเป็นประจำ เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหารและลดแรงดันภายในลำไส้ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิด Diverticulitis น้อยลง