ความหมาย อีโคไล (E. coli)
E. coli (Escherichia coli) หรืออีโคไล คือแบคทีเรียที่พบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ หลายสายพันธุ์ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทว่าบางสายพันธุ์เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาจก่อให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือมีไข้ ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและอาจหายเป็นปกติได้เอง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น อุจจาระมีเลือดปน มีภาวะขาดน้ำ หรือไตวาย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
อาการของโรคติดเชื้ออีโคไล
ผู้ป่วยอาจเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ E. coli ภายใน 1-10 วัน หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติใน 5-10 วัน อาการโดยทั่วไปของโรคติดเชื้อชนิดนี้ ได้แก่
- ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- เบื่ออาหาร
- อ่อนเพลีย มีไข้
ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีกลุ่มอาการฮีโมไลติกยูเรมิก (Hemolytic Uremic Syndrome: HUS) ซึ่งอาจส่งผลให้มีความดันโลหิตสูง มีภาวะไตวายและเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการบ่งชี้ของภาวะนี้ ได้แก่ อุจจาระหรือปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะน้อยลง ปวดท้อง อาเจียน มีไข้ ผิวซีด มีรอยฟกช้ำตามร่างกาย มีเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล อ่อนเพลีย มึนงง ปวดตามตัว เป็นต้น หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวหรือมีอาการรุนแรงต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ผู้ใหญ่ที่อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 4 วัน หรือเด็กและทารกที่อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือนที่มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน
- อาเจียนอย่างต่อเนื่องและรุนแรง
- กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้
- ท้องเสียร่วมกับมีไข้
- มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ง่วงซึม ปากแห้ง ผิวแห้ง กระหายน้ำอย่างมาก เวียนศีรษะ เป็นต้น
สาเหตุของโรคติดเชื้ออีโคไล
การได้รับเชื้อ E. coli แม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็อาจก่อให้เกิดอาการป่วยได้ โดยสาเหตุทั่วไปที่อาจทำให้ได้รับเชื้อ มีดังนี้
- การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ไม่สะอาด ปรุงไม่สุก หรือเก็บรักษาอย่างไม่เหมาะสม เช่น เนื้อสัตว์ดิบ อาหารทะเลดิบ ผักและผลไม้สด นมที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ เป็นต้น
- การนำนิ้วมือที่สัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก
- การสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อหรือมูลสัตว์ที่มีเชื้อปะปน โดยเฉพาะวัว แพะ และแกะ
- การสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ
- การว่ายน้ำในสระน้ำหรือแหล่งน้ำที่มีเชื้อปะปน
โรคติดเชื้อ E. coli มีโอกาสเกิดขึ้นกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทว่าบุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงติดเชื้อชนิดนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ที่รับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ และผู้ที่มีระดับกรดในกระเพาะอาหารต่ำอย่างผู้ที่กำลังใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
การวินิจฉัยโรคติดเชื้ออีโคไล
การวินิจฉัยในขั้นแรกทำได้โดยการซักประวัติทางการแพทย์ สอบถามอาการผิดปกติ และตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้นแพทย์อาจเก็บตัวอย่างอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วยเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ E. coli และอาจมีการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียที่พบในห้องปฏิบัติการต่อไป เพื่อวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อและยืนยันผลการวินิจฉัยอย่างแน่ชัด นอกจากนั้น ในบางกรณีแพทย์อาจเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจหาสัญญาณของกลุ่มอาการฮีโมไลติกยูเรมิกและความผิดปกติทางโลหิตอื่น ๆ ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อชนิดนี้เพิ่มเติม
การรักษาโรคติดเชื้ออีโคไล
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคติดเชื้อชนิดนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติได้เอง อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยควรประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงขึ้น โดยพักผ่อนให้มาก ดื่มน้ำหรือผงเกลือแร่โออาร์เอสเพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ เนื่องจากการถ่ายอุจจาระหรืออาเจียน และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาแก้ท้องเสีย เพราะอาจทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น หากต้องการรับประทานยาชนิดดังกล่าวให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ ส่วนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะฮีโมไลติกยูเรมิก อาจต้องรับการรักษาอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือด การถ่ายเลือด การฟอกไต เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้ออีโคไล
ผู้ป่วยโรคติดเชื้อ E. coli บางราย โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ อาจเกิดกลุ่มอาการฮีโมไลติกยูเรมิก ซึ่งเป็นภาวะที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลายก่อนอายุขัยและเข้าไปอุดตันระบบกรองของเสียของไต ส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง ความผิดปกติทางลำไส้หรือหัวใจ ภาวะโคม่า และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทว่าภาวะแทรกซ้อนนี้พบในผู้ป่วยเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
การป้องกันโรคติดเชื้ออีโคไล
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่มีสรรพคุณป้องกันการติดเชื้อชนิดนี้ ทว่าการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามคำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ E. coli ได้
- ล้างมือเป็นประจำก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังจากใช้ห้องน้ำ และหลังจากสัมผัสสัตว์
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ถูกสุขลักษณะ
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานสด
- ล้างภาชนะใส่อาหารให้สะอาดก่อนนำมาใช้งาน
- เก็บอาหารที่ต้องการรับประทานสด เช่น ผักและผลไม้ และอาหารที่ปรุงสุกแล้ว แยกส่วนกับเนื้อสัตว์ดิบ
- ไม่นำอุปกรณ์ทำครัวและภาชนะที่สัมผัสเนื้อดิบมาใช้กับผักผลไม้หรืออาหารที่ปรุงสุกแล้ว
- ดื่มนมที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งเป็นกระบวนการกำจัดแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกายด้วยความร้อน
- หลีกเลี่ยงการกลืนน้ำในระหว่างว่ายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำในแม่น้ำ คลอง ทะเล หรือสระว่ายน้ำก็ตาม