EDTA (เอเดเทต ไดโซเดียม)
EDTA (Edetate Disodium) หรือเอเดเทต ไดโซเดียม คือ สารละลายที่ใช้เป็นยาฉีดรักษาพิษจากโลหะหนักอย่างตะกั่ว ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอหลังใช้ยากลุ่มคาร์ดิแอก ไกลโคไซด์ เช่น ยาไดจอกซิน เป็นต้น รวมทั้งอาการผิดปกติอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา EDTA
กลุ่มยา | ยาแก้พิษ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | แก้พิษโลหะหนัก รักษาความผิดปกติของสมองจากพิษตะกั่ว รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูง รักษาภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอหลังใช้ยากลุ่มคาร์ดิแอก ไกลโคไซด์ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาฉีด |
คำเตืิอนในการใช้ยา EDTA
- ห้ามใช้ยา EDTA ในผู้ที่แพ้ยานี้ ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งรายชื่อยาที่ตนเองแพ้ให้แพทย์ทราบก่อนรักษาเสมอ
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะออกน้อย เป็นต้น
- ก่อนใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัว เช่น ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เบาหวาน เคยบาดเจ็บที่ศีรษะ ชัก มีเนื้องอกในสมอง มีความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ หัวใจวาย เป็นต้น ซึ่งอาการป่วยเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยใช้ยา EDTA ไม่ได้
- ก่อนใช้ยา EDTA ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยาหรืออาหารเสริมใด ๆ โดยเฉพาะยากลุ่มดิจิทาลิสอย่างไดจอกซิน
- ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา EDTA เพราะยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ และยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดเกี่ยวกับผลของยานี้ในช่วงที่ให้นมบุตร
- ไม่ควรใช้ยา EDTA ร่วมกับยาวาร์ฟาริน เพราะอาจทำให้ยาวาร์ฟารินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี หากจำเป็นต้องใช้ยานี้ ผู้ป่วยอาจต้องตรวจเลือดหรือปรับปริมาณการใช้ยาวาร์ฟารินด้วย
- ไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ เช่น ฟูโรซีไมด์ หรือไฮโดรโคลโรไธอะไซด์ เป็นต้น เพราะอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในร่างกายลดลงจนเป็นอันตรายได้
- ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยา EDTA ร่วมกับอินซูลิน อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายได้ ผู้ป่วยจึงต้องคอยตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ หรืออาจต้องปรับปริมาณการใช้ยาอินซูลินด้วย
- ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่ฉีดยา
- การใช้ยา EDTA อาจทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะน้อย โดยควรปรับปริมาณยาหากผู้ป่วยมีค่าการทำงานของไตผิดปกติ และควรหยุดใช้ยาหากผู้ป่วยมีภาวะไตวาย
- หากใช้ยานี้เพื่อรักษาความผิดปกติของสมองจากพิษตะกั่วหรือภาวะสมองบวม ผู้ป่วยอาจมีภาวะความดันในศีรษะสูงหากได้รับยาทางหลอดเลือดดำ ซึ่งอาจต้องให้ยาทางกล้ามเนื้อแทน
- ยา EDTA อาจทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยชักหรือเสียชีวิตได้
ปริมาณการใช้ยา EDTA
แก้พิษตะกั่ว
ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำ โดยมีการใช้ยาหลากหลายรูปแบบตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น แพทย์อาจให้ยา EDTA แก่ผู้ป่วยเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ เป็นเวลาประมาณ 8-24 ชั่วโมง 5 วันติดต่อกันแล้วหยุดให้ยา 2 วัน เป็นต้น
การใช้ยา EDTA
- ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี
- แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมึนศีรษะหรือหน้ามืด ซึ่งอาจเป็นเพราะได้รับยาในปริมาณมากเกินไป
- ลุกขึ้นจากท่านอนหรือท่านั่งช้า ๆ หลังได้รับยา และนอนพักหลังจากได้รับยาสักระยะ เพราะผู้ป่วยอาจมึนศีรษะหรือหายใจช้าจากภาวะความดันโลหิตต่ำ
- ผู้ป่วยต้องรับการตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อติดตามผลการรักษาและตรวจดูการทำงานของไต โดยผู้ป่วยอาจต้องฟอกไตด้วยหากเกิดภาวะไตวาย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา EDTA
หลังใช้ยา EDTA ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมีอาการหน้ามืด ผิวหนังลอก มีตุ่มหรือผื่นแดง รวมทั้งมีอาการแพ้ยา เช่น เป็นลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ลิ้น หรือลำคอ เป็นต้น
ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังใช้ยา EDTA ได้แก่
- รู้สึกไม่สบาย อ่อนเพลีย
- มีไข้ หนาวสั่น
- กระหายน้ำมากขึ้น
- รู้สึกชาหรือเป็นเหน็บ โดยเฉพาะบริเวณรอบปาก
- รู้สึกเจ็บปวด มีอาการบวมหรือแดงบริเวณที่ฉีดยา
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- เกิดภาวะขาดแร่สังกะสี
- เลือดแข็งตัวช้า
- โลหิตจาง
- ไขกระดูกทำงานน้อยลง
- มีความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
- ไตเสียหาย ไตวาย