Endophthalmitis คืออาการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในดวงตาที่มักเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้ออาจเกิดจากการผ่าตัดดวงตา การบาดเจ็บโดยมีสิ่งแปลกปลอมทิ่มหรือเจาะเข้าสู่ดวงตาจนทำให้เกิดบาดแผลขึ้น ในกรณีที่พบได้น้อย การติดเชื้อที่บริเวณอื่นของร่างกายอาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือดและทำให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตาได้เช่นกัน
Endophthalmitis เป็นการอักเสบที่มักเกิดขึ้นบริเวณวุ้นตา (Vitreous) และน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา (Aqueous Humors) ซึ่งมีลักษณะเป็นวุ้นใสอยู่ภายในดวงตา เมื่อเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือปรสิต อาจทำให้เนื้อเยื่อในดวงตาบริเวณใกล้เคียงอักเสบตามมา แม้ Endophthalmitis จะเป็นโรคที่พบได้ยาก แต่เป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรไปพบแพทย์ทันทีเนื่องจากอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็น
อาการของ Endophthalmitis
อาการของผู้ป่วยจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนมากมักจะเกิดอาการภายใน 1–2 วันหลังการติดเชื้อ หรือภายใน 6 วันหลังได้รับการผ่าตัดหรือได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา โดยอาการที่อาจพบได้มีดังนี้
- รู้สึกเจ็บตา ซึ่งอาการแย่ลงหลังจากผ่าตัดหรือได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา
- ตาแดง
- เปลือกตาบวม
- มีหนองสีเหลืองหรือสีขาวไหลออกจากดวงตา
- ความสามารถในการมองเห็นลดลงหรือสูญเสียการมองเห็น
อย่างไรก็ตาม หากพบอาการตามัว เจ็บตาเล็กน้อย และตาไวต่อแสงในช่วง 6 สัปดาห์หลังการฉีดยาหรือผ่าตัดรักษาโรคต้อกระจก มีอุบัติเหตุที่ทำให้สิ่งแปลกปลอมทิ่มแทงเข้าสู่ดวงตา มีอาการติดเชื้อบริเวณอื่นของร่างกายจากการที่เชื้อโรคแพร่เข้าสู่กระแสเลือด อย่างการมองเห็นลดลงเล็กน้อยในช่วงระยะเวลา 2–3 สัปดาห์ หรือมองเห็นเงาดำเป็นจุดหรือเส้นบาง ๆ ลอยอยู่ตามทิศทางของสายตา ควรไปพบแพทย์ทันทีเนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้หากได้รับการรักษาไม่ทันเวลา
สาเหตุของ Endophthalmitis
สาเหตุของการติดเชื้อในลูกตา แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ การติดเชื้อภายในดวงตาจากปัจจัยภายนอก และการติดเชื้อบริเวณดวงตาจากการลุกลามและแพร่กระจายของเชื้อจากบริเวณอื่นในร่างกาย
การติดเชื้อจากปัจจัยภายนอก (Exogenous Endophthalmitis)
การติดเชื้อหลังได้รับการฉีดยาเข้าที่วุ้นตาหรือการผ่าตัดดวงตา เช่น การผ่าตัดรักษาต้อกระจก ต้อหิน และการผ่าตัดเลนส์แก้วตาเทียม รวมถึงการได้รับบาดเจ็บจากสิ่งแปลกปลอมจนเกิดบาดแผลในดวงตา จัดเป็นการติดเชื้ออย่างเฉียบพลันประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด หากดวงตาของผู้ป่วยมีบาดแผลจากการตัดหรือเจาะด้วยวัตถุใด ๆ อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาและเกิดการติดเชื้อในลูกตาได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดการติดเชื้อหากเกิดมีปัจจัยต่อไปนี้
- การสูญเสียของเหลวด้านหลังดวงตา
- การเกิดบาดแผลที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น มีสิ่งแปลกปลอมแหลมคม เศษดินเข้าตา และติดค้างอยู่ภายใน หรือไม่ได้นำออกจากดวงตาภายใน 24 ชั่วโมง เป็นต้น
- ความเสียหายของเลนส์ตา
- การผ่าตัดดวงตาที่ใช้ระยะเวลานาน
การติดเชื้อจากภายในร่างกาย (Endogenous Endophthalmitis)
การติดเชื้อจากภายในร่างกายเป็นสาเหตุของ Endophthalmitis อีกประเภทที่เกิดจากการติดเชื้อในบริเวณอื่นของร่างกายและแพร่กระจายเข้าสู่ดวงตา โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะหรือการติดเชื้อในกระแสเลือด
การวินิจฉัย Endophthalmitis
จักษุแพทย์วินิจฉัย Endophthalmitis จากการสอบถามอาการและประวัติการรักษา เพื่อตรวจดูประวัติการได้รับบาดเจ็บหรือการผ่าตัดดวงตา จากนั้นจะตรวจดวงตาทั้งสองข้างและการมองเห็นของผู้ป่วยด้วยเครื่องออพธัลโมสโคป (Ophthalmoscope) หรือในบางกรณีอาจใช้การอัลตราซาวด์บริเวณดวงตาร่วมด้วย เพื่อตรวจดูสิ่งแปลกปลอมที่อาจเข้าไปในดวงตา
หากพบการติดเชื้อ แพทย์อาจใช้วิธีเก็บน้ำวุ้นตา (Vitreous Tap) โดยใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเข้าไปในตา และดูดเก็บน้ำวุ้นตาเพื่อนำมาทดสอบหาเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคอื่น ๆ ที่อยู่ในดวงตา ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ
การรักษา Endophthalmitis
วิธีการรักษา Endophthalmitis จะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการที่กระทบต่อการมองเห็นของผู้ป่วย โดยจักษุแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้
การใช้ยา
หากสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ แพทย์อาจฉีดยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อราให้แก่ผู้ป่วยเพื่อรักษาอาการ โดยแบ่งออกเป็นการฉีดเข้าสู่ดวงตาที่ติดเชื้อโดยตรง (Intravitreal Antibiotics) และการฉีดเข้าสู่หลอดเลือดดำ (Intravenous Antibiotics) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อรุนแรง
โดยทั่วไปแพทย์มักไม่ให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา มีเพียงบางกรณีที่อาจให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อลดอาการบวมหรืออักเสบจากการติดเชื้อ รวมถึงอาจให้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานหากผู้ป่วยติดเชื้อราในดวงตา และยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอกสำหรับทาเฉพาะบริเวณที่มีบาดแผลติดเชื้อ
การผ่าตัด
แพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) เพื่อนำน้ำวุ้นตาส่วนที่ติดเชื้อออก และทดแทนด้วยสารละลายน้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อ (Saline) หรือสารน้ำอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งจะใช้กรณีที่ผู้ป่วยการมองเห็นลดลงอย่างรุนแรงในระยะที่ใกล้จะสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
ทั้งนี้ แพทย์จะสังเกตอาการและผลการรักษาเป็นระยะ โดยอาจนัดหมายให้ผู้ป่วยมาตรวจตาเพื่อประเมินผลการรักษา โดยทั่วไป อาการจะเริ่มดีขึ้นหลังได้รับการรักษา 2–3 วัน ซึ่งอาการปวดหรือบวมบริเวณดวงตาอาจดีขึ้นก่อน และความสามารถในการมองเห็นจะค่อย ๆ ดีขึ้นในภายหลัง
ภาวะแทรกซ้อนของ Endophthalmitis
ภาวะแทรกซ้อนของ Endophthalmitis อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมหรือปล่อยให้มีอาการโดยไม่เข้ารับการรักษา ซึ่งอาจทำให้การมองเห็นของผู้ป่วยลดลงหรืออาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษา แต่หากปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลดวงตาของแพทย์ อย่างวิธีการหยอดตา วิธีใช้ขี้ผึ้งป้ายตา หรือวิธีใช้ผ้าปิดตาอย่างถูกต้อง และไปพบแพทย์ตามการนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดได้
การป้องกัน Endophthalmitis
การป้องกัน Endophthalmitis ทำได้โดยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อจากปัจจัยภายนอก และการติดเชื้อหลังการผ่าตัด ดังนี้
- สวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาที่เหมาะสม เช่น แว่นครอบตา ฝาครอบตาชนิดใส (Eye Shield) หรือหมวกนิรภัยทุกครั้งเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ และเมื่อเล่นกีฬาที่มีการปะทะ เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาจนทำให้ได้รับบาดเจ็บ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หลังได้รับการฉีดยาหรือผ่าตัดที่ดวงตา เช่น ล้างมือให้สะอาดก่อนหยอดตา ระวังไม่ให้ขวดน้ำยาหยอดตาสัมผัสโดนดวงตาโดยตรงขณะหยอดตา และไปพบแพทย์ตามการนัดหมายเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ
- ในกรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าตาไม่ควรพยายามนำออกด้วยตนเอง แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์เป็นคนเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากดวงตาให้
- หากมีอาการผิดปกติใด ๆ บริเวณดวงตาและมีประวัติเข้ารับการผ่าตัดตา เคยได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา หรือเป็นผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะการได้รับการรักษาเร็วจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนได้