Enoxaparin (ยาอีน็อกซาพาริน)

Enoxaparin (ยาอีน็อกซาพาริน)

Enoxaparin (ยาอีน็อกซาพาริน) มีสรรพคุณเจือจางเลือดเพื่อป้องกันการจับตัวเป็นก้อนของเลือดและช่วยละลายลิ่มเลือด แพทย์มักนำมาใช้ป้องกันหรือรักษาภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

Enoxaparin

เกี่ยวกับยา Enoxaparin

กลุ่มยา คยาต้านการแข็งตัวของเลือด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันหรือรักษาภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายชนิด ST Segment Elevation (STEMI) และอาการเจ็บหน้าอกชนิดไม่คงที่
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีดเข้าเส้นเลือด ยาฉีดใต้ผิวหนัง

 

คำเตือนการใช้ยา Enoxaparin

 

  • หากกำลังใช้ยา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใดก็ตาม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาชนิดนี้
  • แจ้งประวัติการเจ็บป่วยให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย หรือเคยมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำหลังจากใช้ยาอีน็อกซาพารินหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่น
  • หากมีประวัติแพ้ยาอีน็อกซาพาริน เบนซิลแอลกอฮอล์ หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ของยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ผู้ที่มีอาการแพ้เนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อหมู เช่น ไส้กรอก แฮม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัด หรือกำลังวางแผนผ่าตัดกระดูกสันหลังหรือผ่าตัดช่องเหนือกระดูกสันหลัง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกรอบกระดูกสันหลัง ส่งผลให้เป็นอัมพาตได้
  • ระหว่างใช้ยานี้ควรระมัดระวังไม่ให้เลือดออก หากได้รับบาดเจ็บควรไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากยาอาจส่งผลให้เลือดออกง่ายและออกมากผิดปกติ
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หรือมีน้ำหนักน้อยกว่า 45 กิโลกรัม ควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงมากกว่าปกติ
  • หญิงที่วางแผนตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยานี้อาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงต่อทารก โดยเฉพาะยาอีน็อกซาพารินชนิดใช้หลายครั้งที่มีเบนซิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม

ปริมาณการใช้ยา Enoxaparin

รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายชนิด ST-Segment Elevation (STEMI)

ผู้ใหญ่

  • ฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำปริมาณ 30 มิลลิกรัม พร้อมกับฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากนั้นให้ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก ๆ 12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 8 วัน หรือตามที่แพทย์กำหนด โดยในการฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนัง 2 ครั้งแรก ไม่ควรใช้ยาเกิน 100 มิลลิกรัมต่อครั้ง
  • ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous Coronary Intervention: PCI) ที่ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังครั้งล่าสุดมานานกว่า 8 ชั่วโมง ให้ฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำปริมาณ 300 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ระหว่างผ่าตัด
  • ผู้ที่มีอายุ 75 ปีขั้นไป ให้ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 750 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก ๆ 12 ชั่วโมง โดยในการฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนัง 2 ครั้งแรก ไม่ควรใช้ยาเกิน 75 มิลลิกรัมต่อครั้ง

รักษาภาวะเจ็บหน้าอกชนิดไม่คงที่

ผู้ใหญ่

  • ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก ๆ 12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 2-8 วัน

รักษาภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน

ผู้ใหญ่

  • ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก ๆ 12 ชั่วโมง หรือฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 5 วันหรือจนกว่าแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานแทน

เด็ก

  • อายุน้อยกว่า 2 เดือน ให้ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก ๆ 12 ชั่วโมง
  • อายุ 2 เดือนขึ้นไป ให้ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก ๆ 12 ชั่วโมง

ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในระบบไหลเวียนโลหิตนอกร่างกายระหว่างฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

ผู้ใหญ่

  • ฉีดยาเข้าหลอดเลือดแดงในระบบไหลเวียนโลหิตนอกร่างกายปริมาณ 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมขณะเริ่มฟอกเลือด แพทย์อาจให้ผู้ป่วยบางรายเพิ่มปริมาณยาอีก 0.5-1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือลดปริมาณยาหากผู้ป่วยเสี่ยงต่อการมีเลือดออก ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตวายควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำงานของไต ณ เวลานั้น ๆ

ป้องกันภาวะหลอดเลือดดำอุดตันระหว่างการผ่าตัด

ผู้ใหญ่

  • หากมีความเสี่ยงน้อยหรือปานกลาง ให้ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 20 มิลลิกรัม ก่อนผ่าตัด 2 ชั่วโมง และหลังผ่าตัดให้ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 7-10 วัน หรือตามที่แพทย์กำหนด
  • หากมีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 40 มิลลิกรัม ก่อนผ่าตัด 12 ชั่วโมง และหลังผ่าตัดให้ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือเริ่มฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 30 มิลลิกรัม 2 ครั้ง หลังผ่าตัด 12-24 ชั่วโมง กรณีผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียม ให้ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังต่ออีกปริมาณ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 21 วัน
  • ผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ให้ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 6 วัน จนกว่าจะกลับมาเคลื่อนไหวได้ และห้ามใช้ยานี้นานติดต่อกันเกิน 14 วัน

เด็ก

  • อายุน้อกว่า 2 เดือน ให้ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 750 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 12 ชั่วโมง
  • อายุ 2 เดือนขึ้นไป ให้ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังปริมาณ 500 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 12 ชั่วโมง

การใช้ยา Enoxaparin

  • หากต้องการฉีดยาด้วยตนเอง ควรให้แพทย์แนะนำวิธีใช้ที่ถูกต้องและปฏิติบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังในส่วนที่เป็นไขมันบริเวณด้านซ้ายหรือด้านขวาของท้อง ห้ามฉีดยาชนิดนี้เข้ากล้ามเนื้อเด็ดขาด
  • หากลืมฉีดยาตามเวลาที่กำหนด ให้ฉีดยาทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้ถึงครั้งต่อไปแล้ว ให้ข้ามไปฉีดยาครั้งต่อไปได้เลย ห้ามเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังฉีดยา
  • โดยปกติยาอีน็อกซาพารินมีลักษณะเป็นของเหลวใสออกสีเหลืองอ่อน ๆ ห้ามใช้ยาที่เปลี่ยนสี มีสีขุ่น มีเศษผงปนเปื้อน หรือยาจากบรรจุภัณฑ์ที่มีรอยรั่ว
  • กรณีที่ใช้กระบอกฉีดยาที่บรรจุยาพร้อมฉีด ไม่จำเป็นต้องไล่อากาศออกจากหลอดฉีดยาก่อนฉีด
  • ระหว่างใช้ยาควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ
  • ห้ามหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • หากอาการป่วยไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลงหลังใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์
  • เก็บรักษายาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ในภาชนะที่ปิดมิดชิด หลีกเลี่ยงความชื้นและห่างไกลจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ยาชนิดใช้หลายครั้งที่เปิดใช้แล้ว ควรทิ้งไปหากใช้ไม่หมดภายใน 28 วัน

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Enoxaparin

ยา Enoxaparin มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกระคายเคืองบริเวณที่ถูกฉีดยา รู้สึกไม่สบายท้อง หรือท้องเสีย อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้น หรือพบผลข้างเคียงรุนแรงต่อไปนี้

  • มีอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน หายใจลำบาก แน่นหน้าอก มีอาการบวมตามใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ เป็นต้น
  • มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด ไอเป็นเลือด ปัสสาวะมีเลือดปน อุจจาระมีสีดำหรือสีแดง เลือดออกทางช่องคลอด ฟกช้ำตามร่างกาย หรือมีไหลออกจากแผลไม่หยุด เป็นต้น
  • ลำตัวข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ทรงตัวลำบาก บังคับใบหน้าครึ่งหนึ่งไม่ได้ มีความผิดปกติทางการพูดและการคิด หรือมองเห็นได้ไม่ชัด
  • รู้สึกอ่อนเพลีย วิงเวียน มึนงง หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง