Ependymoma เป็นเนื้องอกที่เจริญเติบโตบริเวณโพรงสมองและไขสันหลัง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียนในตอนเช้า ชัก มีปัญหาด้านการทรงตัว หากเกิดในเด็กหรือทารกอาจทำให้เกิดภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ส่งผลให้ศีรษะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ
Ependymoma แบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามตำแหน่งและการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอก แต่มักพบได้น้อย ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุในการเกิดได้อย่างชัดเจน และวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้องอกที่เกิดขึ้น
อาการของ Ependymoma
ผู้ป่วย Ependymoma จะมีเนื้องอกในบริเวณสมองและไขสันหลัง ทำให้เกิดความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหัวในช่วงตื่นนอน คลื่นไส้ อาเจียนบ่อยในตอนเช้า ไม่มีแรง ฉุนเฉียว มีปัญหาด้านการเดินและการทรงตัวเนื่องจากการมองเห็นผิดปกติ มีอาการชักในบางราย และหากเกิดกับเด็กหรือทารกจะทำให้ศีรษะมีขนาดใหญ่ผิดปกติเนื่องจากเกิดภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ
นอกจากนี้ ความรวดเร็วในการเติบโตของเนื้องอกจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและชนิดของ Ependymoma แต่ละประเภท ดังนี้
- ประเภท Subependymomas เป็นเนื้องอกที่เกิดในบริเวณโพรงสมอง เจริญเติบโตอย่างช้า ๆ มักพบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเพศชาย
- ประเภท Myxopapillary Ependymomas เป็นเนื้องอกที่มักเกิดขึ้นในบริเวณไขสันหลัง เจริญเติบโตอย่างช้า ๆ พบได้มากในวัยหนุ่มสาว
- ประเภท Ependymomas เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในสมอง สามารถพบได้มากที่สุดจากทุกประเภท
- ประเภท Anaplastic Ependymomas เนื้องอกประเภทนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและเกิดขึ้นในบริเวณสมองและกะโหลก
โดยทั่วไป เนื้องอก Ependymoma มักพบบริเวณสมองในเด็ก และบริเวณกระดูกสันหลังในผู้ที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปและวัยผู้ใหญ่ ซึ่งส่งผลให้มีอาการปวดหลัง มีอาการเจ็บและเหน็บชาที่ขา
สาเหตุของ Ependymoma
การเกิด Ependymoma ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุในโพรงสมองจนพัฒนากลายเป็นเนื้องอกชนิดนี้อาจเกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรม อย่างโรคท้าวแสนปมหรือนิวโรไฟโบรมาโตซิส ชนิดที่ 2 (Neurofibromatosis Type 2) และ Ependymoma มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในวัยทารกและเด็กเล็ก แต่สามารถพบในวัยผู้ใหญ่ได้เช่นกัน
การวินิจฉัย Ependymoma
แพทย์จะเริ่มต้นการวินิจฉัยด้วยการสอบถามประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกายเพื่อสังเกตการตอบสนองของร่างกาย การทำงานประสานกันระหว่างอวัยวะต่าง ๆ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบนใบหน้าและดวงตา ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
- การตรวจด้วยเครื่อง MRI เป็นการสร้างภาพเสมือนจริงของสมองด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า และอาจฉีดสีในบริเวณโดยรอบเซลล์เนื้องอกเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
- การตรวจด้วยเครื่อง CT Scan เป็นการเอกซเรย์ที่ช่วยแสดงภาพตามขวางของสมอง ทำให้แพทย์สามารถเห็นภาพสมองได้ละเอียดกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป
- การเจาะตัดชิ้นเนื้อ โดยแพทย์จะระบุตำแหน่งของเนื้องอกและตัดชิ้นเนื้อเยื่อตัวอย่างไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ
- การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เป็นการใช้เครื่องมือนำตัวอย่างน้ำไขสันหลังออกมาตรวจ โดยจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยอาจมีเซลล์มะเร็งภายในระบบประสาท
การรักษา Ependymoma
การรักษาจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ตำแหน่งและความรุนแรงของเนื้องอกและสุขภาพร่างกายโดยรวม ส่วนใหญ่แล้วการรักษาหลักของ Ependymoma จะเป็นการผ่าตัดนำเนื้องอกออกให้ได้มากที่สุด แต่หากเนื้องอกเกิดบริเวณที่ยากต่อการผ่าตัด อย่างบริเวณสมองส่วนหลังที่ใกล้กับแกนสมอง เนื้องอกกระจายออกไปเป็นวงกว้าง หรือการผ่าตัดไม่สามารถนำเนื้องอกออกได้หมด แพทย์อาจใช้การรักษาวิธีอื่นร่วมด้วยเพื่อช่วยลดขนาดเนื้องอกลง เช่น การฉายแสงและการทำเคมีบำบัด เป็นต้น
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ แพทย์จะทำการใส่สายระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง เพื่อระบายของเหลวจากสมองไปยังช่องท้อง ลดแรงดันในกะโหลกศีรษะ และลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับระบบประสาทและสมองของผู้ป่วย
ภาวะแทรกซ้อนของ Ependymoma
Ependymoma อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่ อาการชาตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แขนและขาอ่อนแรง อัมพาต ชัก เกิดการรั่วซึมของน้ำหล่อเลี้ยงสมอง การเปลี่ยนแปงของอารมณ์และพฤติกรรม เป็นต้น
การป้องกัน Ependymoma
ในปัจจุบันยังมีวิธีป้องกัน Ependymoma หรือเนื้องอกในสมองชนิดอื่น ๆ แต่หากคนในครอบครัวมีประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคนิวโรไฟโบรมาโตซิส ชนิดที่ 2 ควรปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนวางแผนมีบุตร เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิด Ependymoma ของทารกในครรภ์และรับคำแนะนำในการดูแลเบื้องต้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจมีบุตรในอนาคต