Esomeprazole (อีโซเมปราโซล)

Esomeprazole (อีโซเมปราโซล)

Esomeprazole (อีโซเมปราโซล) เป็นยาในกลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ ออกฤทธิ์ช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ใช้รักษาอาการกรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก มีแผลในทางเดินอาหาร หรือกลุ่มอาการโซลลิงเจอร์เอลลิสัน และยังนำมาใช้ร่วมกับยานาพรอกเซน เพื่อบรรเทาอาการอักเสบหรืออาการปวดข้อต่อและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ อาจนำไปใช้รักษาโรคหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

เกี่ยวกับยา Esomeprazole

กลุ่มยา โปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง
สรรพคุณ รักษาอาการที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร และรักษากลุ่มอาการโซลลิงเจอร์เอลลิสัน
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์
แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

1948 Esomeprazole rs

คำเตือนในการใช้ยา Esomeprazole

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากแพ้ยาชนิดนี้ ยาชนิดอื่น ๆ หรือยาลดกรดชนิดที่คล้ายกัน เช่น ยาแลนโซพราโซล ยาโอเมพราโซล ยาแพนโทพราโซล ยาราบีพราโซล ยาเด็กซิแลนท์ ยาพรีวาซิด เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยาชนิดอื่นอยู่ ทั้งยาที่ซื้อรับประทานเอง ยาตามใบสั่งแพทย์ อาหารเสริม วิตามิน ยาสมุนไพร หรือยาที่คิดว่าจะรับประทาน เนื่องจากแพทย์อาจปรับปริมาณยาให้เหมาะสมกับการใช้ยาของผู้ป่วย และเฝ้าดูผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
  • หากต้องรับประทานยาลดกรดชนิดอื่น ๆ ควบคู่กับยา Esomeprazole ควรขอคำแนะนำในการใช้ยาจากแพทย์
  • เข้าพบแพทย์ก่อนใช้ยาหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร
  • ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากเป็นโรคหรือมีภาวะสุขภาพ เช่น โรคตับชนิดรุนแรง โรคแพ้ภูมิตนเองหรือโรคพุ่มพวง โรคกระดูกพรุนหรือกระดูกบาง ไตมีปัญหา มีแมกนีเซียมในเลือดน้อย หรือร่างกายไม่ดูดซึมน้ำตาลแล็กโทส เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากปัสสาวะน้อยกว่าปกติหรือปัสสาวะเป็นเลือดในระหว่างที่ใช้ยา เพราะยานี้อาจทำให้ไตมีปัญหาได้
  • ยาอาจทำให้เกิดอาการติดเชื้ออย่างท้องเสีย โดยหากถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเป็นเลือดก็ควรเข้าพบแพทย์ทันทีก่อนรับประทานยาแก้ท้องเสียด้วยตนเอง  
  • หากรับประทานยานี้มากกว่า 1 ครั้ง/วัน หรือใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้กระดูกบริเวณสะโพก ข้อมือ หรือสันหลังของผู้ป่วยเสี่ยงต่อการแตกหัก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษากระดูกให้แข็งแรงเมื่อต้องรับประทานยานี้

ปริมาณการใช้ยา Esomeprazole

กรดไหลย้อน
ตัวอย่างการใช้ยา Esomeprazole เพื่อรักษาภาวะกรดไหลย้อน

ยารับประทาน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ หรืออาจรับประทานต่ออีก 4 สัปดาห์หากจำเป็น ปริมาณยาที่ใช้รักษาอย่างต่อเนื่อง คือ 20 มิลลิกรัม/วัน หากเป็นกรดไหลย้อนที่หลอดอาหารยังไม่ได้ถูกทำลาย โดยผู้ป่วยสูงอายุไม่ต้องปรับปริมาณยา
เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี หากมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์

ยาฉีด

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำปริมาณ 20 หรือ 40 มิลลิกรัม/วัน อย่างน้อย 3 นาที หรือฉีดสารละลายผสมกับตัวยาประมาณ 10-30 นาที 1ครั้ง/วัน เป็นเวลาไม่เกิน 10 วัน และจึงเปลี่ยนไปรับประทานยาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยผู้ป่วยสูงอายุไม่จำเป็นต้องปรับปริมาณยา

แผลในกระเพาะอาหาร
ตัวอย่างการใช้ยา Esomeprazole เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

ยารับประทาน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ หรือรับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 10 วัน ควบคู่กับยาฆ่าเชื้ออย่างยาอะม็อกซี่ซิลลินและยาคลาริโทรมัยซินในกรณีที่แพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารที่อาจเกิดจากเชื้อ H.pylori โดยผู้ป่วยสูงอายุไม่จำเป็นต้องปรับปริมาณยา  

ยาฉีด

ผู้ใหญ่ ฉีดสารละลายผสมกับตัวยาปริมาณ 80 มิลลิกรัม อย่างน้อย 30 นาที ตามด้วยปริมาณยาต่อเนื่องอีก 8 มิลลิกรัม/ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมงขึ้นไป และจึงเปลี่ยนไปรับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยสูงอายุไม่จำเป็นต้องปรับปริมาณยา

ตัวอย่างการใช้ยา Esomeprazole เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารจากการใช้ยากลุ่ม NSAID

ยารับประทาน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยสูงอายุไม่จำเป็นต้องปรับปริมาณยา

ตัวอย่างการใช้ยา Esomeprazole เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการใช้ยากลุ่ม NSAID

ยารับประทาน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 20 หรือ 40 มิลลิกรัม/วัน โดยผู้ป่วยสูงอายุไม่จำเป็นต้องปรับปริมาณยา

หลอดอาหารอักเสบชนิดเยื่อบุกร่อน
ตัวอย่างการใช้ยา Esomeprazole เพื่อรักษาหลอดอาหารอักเสบชนิดเยื่อบุกร่อน

ยารับประทาน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ หรือรับประทานต่ออีก 4 สัปดาห์หากจำเป็น ปริมาณยาที่ใช้รักษาอย่างต่อเนื่อง คือ 20 มิลลิกรัม/วัน โดยผู้ป่วยสูงอายุไม่จำเป็นต้องปรับปริมาณยา
เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี หากมีน้ำหนักตัวอยู่ในระหว่าง 10-20 กิโลกรัม ให้รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม/วัน และหากมีน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม เป็นต้นไป ให้รับประทานยาปริมาณ 10 หรือ 20 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์

กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์เอลลิสัน
ตัวอย่างการใช้ยา Esomeprazole เพื่อรักษากลุ่มอาการโซลลิงเจอร์เอลลิสัน

ยารับประทาน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 40 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน โดยอาจควบคุมปริมาณยาให้อยู่ระหว่าง 80-160 มิลลิกรัม/วัน หากต้องรับประทานยาปริมาณ 80 มิลลิกรัมขึ้นไป ควรแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง โดยผู้ป่วยสูงอายุไม่จำเป็นต้องปรับปริมาณยา

แผลจากการใช้ยากลุ่ม NSAID
ตัวอย่างการใช้ยา Esomeprazole เพื่อรักษาแผลจากการใช้ยากลุ่ม NSAID

ยาฉีด

ผู้ใหญ่ ให้ยาทางหลอดเลือดดำปริมาณ 20 มิลลิกรัม/วัน อย่างน้อย 3 นาที หรือฉีดสารละลายผสมกับตัวยา ประมาณ 10-30 นาที ละจึงเปลี่ยนไปรับประทานยาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยผู้ป่วยสูงอายุไม่จำเป็นต้องปรับปริมาณยา

การใช้ยา Esomeprazole

  • ใช้ยาตามฉลากยาและตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรที่จ่ายยาให้
  • ไม่ควรรับประทานยาน้อยเกินไป มากเกินไป บ่อยเกินไป หรือนานเกินไปหากแพทย์หรือฉลากยาไม่ได้แนะนำ
  • ควรรับประทานยาทั้งเม็ดพร้อมกับน้ำเปล่า 1 แก้ว โดยไม่ควรเคี้ยวยา ทำให้ยาแตก หรือเปิดแคปซูลยาหากไม่ได้ใช้ หากไม่สามารถกลืนเม็ดยาได้ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยากับซอสแอปเปิ้ลหรือพุดดิ้ง
  • ผู้ป่วยอาจรับประทานยา Esomeprazole ผ่านทางสายให้อาหารทางจมูก โดยควรอ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างเคร่งครัด
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากต้องเข้ารับการตรวจร่างกายระหว่างที่ใช้ยา เนื่องจากยานี้อาจส่งผลต่อการตรวจร่างกายได้
  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาที่ต้องรับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบต่อไป โดยไม่ต้องรับประทานยาทดแทน
  • หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงขณะรับประทานยา ควรรีบติดต่อแพทย์
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้องและให้ห่างจากความร้อนและความชื้น
  • ห้ามรับประทานยาร่วมกับผู้อื่น และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเติมยา ควรสอบถามแพทย์ให้ดีก่อน
  • ควรรับประทานยานี้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง ก่อนรับประทานอาหาร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Esomeprazole

ผลข้างเคียงที่เกิดจากการรับประทานยา Esomeprazole อาจไม่รุนแรงและหายได้เองหลังจากที่หยุดรับประทานยา ซึ่งมีผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ ท้องร่วง ท้องผูก ง่วงซึม รู้สึกไม่สบาย ป่วย ปวดท้องหรือมีอาการท้องบิด ปากแห้ง คลื่นไส้หรืออาเจียน เป็นต้น โดยหากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ป่วย ควรไปปรึกษาแพทย์

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันทีหากได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้

  • เป็นไข้ไม่หาย เสียงแหบ
  • เวียนศีรษะ
  • ปวดข้อต่อ กล้ามเนื้อหดเกร็ง
  • ผิวเหลือง ปัสสาวะเป็นสีเข้ม รู้สึกเหนื่อยล้า ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคไต  
  • ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะน้อย ถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง ท้องร่วงอย่างรุนแรง  
  • มีปัญหาด้านการพูด การหายใจ หรือการกลืนอาหาร
  • แน่นคอหรือหน้าอก หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ หายใจดังวี้ด
  • มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง เช่น มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ตา ปาก ริมฝีปาก ลิ้น คอ มือ ขา เท้า หรือข้อเท้า เป็นต้น
  • มีอาการผื่นกึ่งเฉียบพลัน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีผื่นนูนแดงที่แขน จมูก แก้ม หรือบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่ได้รับแสงแดด รวมถึงอาจรู้สึกคันบริเวณที่มีผื่นขึ้นหรือมีอาการบวมแดงร่วมด้วย
  • ผิวหนังลอก ผิวแดง เป็นตุ่มพองที่ผิวหนัง มีผื่นขึ้นที่ผิวหนังที่รุนแรงจนทำให้มีเลือดออกบริเวณริมฝีปาก ปาก ตา จมูก และอวัยวะเพศ และอาจเป็นสัญญาณของกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน แต่ก็พบได้น้อย
  • มีอาการสั่นตามร่างกายอย่างไม่สามารถควบคุมได้ มีอาการกระตุก หรือมีอาการชัก

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา Esomeprazole แต่หากใช้ยานี้แล้วเกิดผลข้างเคีนงเังข้างต้น ให้รีบไปปรึกษาเพื่อน