Fenofibrate (ฟีโนไฟเบรต)

Fenofibrate (ฟีโนไฟเบรต)

Fenofibrate (ฟีโนไฟเบรต) เป็นยารักษาภาวะไขมันในเลือดสูง มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มสารหรือเอนไซม์ในร่างกายที่ทำหน้าที่ลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งและตับอ่อนอักเสบได้ แต่อาจไม่ช่วยลดความเสี่ยงโรคในการเกิดโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งนี้ ยานี้ควรใช้ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก เลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น

ยา Fenofibrate มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

Fenofibrate

เกี่ยวกับยา Fenofibrate

กลุ่มยา ยาลดไขมันในเลือด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Fenofibrate

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • ผู้ป่วยโรคตับ โรคถุงน้ำดี โรคไตรุนแรง หรืออยู่ในช่วงฟอกไต ไม่ควรใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากเป็นโรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ มีความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ หรือมีประวัติเป็นโรคตับอ่อนอักเสบหรือโรคตับ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา อาหารเสริม และสมุนไพรทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ โดยเฉพาะยาลดไขมันในเลือดชนิดอื่น ๆ ยากดภูมิคุ้มกัน ยาโคลชิซิน และยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยาชนิดนี้หรือยาชนิดใดก็ตาม ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะอาจทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงและเกิดความเสียหายต่อตับ
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้ยานี้ เพราะยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • ห้ามให้นมบุตรในระหว่างที่ใช้ยานี้ เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้

ปริมาณการใช้ยา Fenofibrate

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ภาวะไขมันในเลือดสูง

ผู้ใหญ่ ยารูปแบบ Micronised รับประทานยาปริมาณเริ่มต้นครั้งละ 67 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง อาจลดปริมาณเป็นครั้งละ 67 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือเพิ่มเป็นครั้งละ 67 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หรือครั้งละ 267 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ยารูปแบบ Non-micronised รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 200-300 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน จากนั้นคงปริมาณการใช้ยาที่ 200-400 มิลลิกรัม/วัน สำหรับรูปแบบของยาที่มีอัตราและปริมาณการดูดซึมยามากขึ้น ให้รับประทานยาครั้งละ 40-160 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

การใช้ยา Fenofibrate

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่กำหนด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ยา Fenofibrate บางยี่ห้อต้องรับประทานพร้อมอาหารเพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมยาได้ดี แต่บางยี่ห้ออาจไม่จำเป็นต้องรับประทานพร้อมอาหาร ควรใช้ยาตามคำแนะนำบนฉลาก
  • ควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
  • รับประทานยาโดยกลืนทั้งเม็ด ห้ามหัก บด หรือเคี้ยวยา
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาคอเลสไทรามีน ยาคอเลสทิพอล และยาโคลเซเวแลม ควรใช้ยาเหล่านี้หลังใช้ยา Fenofibrate อย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือก่อนใช้ยา Fenofibrate 4 ชั่วโมง
  • การใช้ยานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการรักษา ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ในด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือการใช้ยาอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจเลือดเป็นประจำ และอาจต้องได้รับการตรวจการทำงานของตับและถุงน้ำดีด้วย
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ห่างจากความร้อน แสงแดด ความชื้น และควรเก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์เดิม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Fenofibrate

การใช้ยา Fenofibrate มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดท้องไม่รุนแรง และปวดหลัง หากอาการแย่ลงหรือพบผลข้างเคียงรุนแรงต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม เป็นต้น
  • ภาวะเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อลายเสียหาย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะไตวาย มีอาการบ่งชี้ ได้แก่ เจ็บกล้ามเนื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการกดเจ็บ อ่อนเพลีย มีไข้ และปัสสาวะสีเข้ม
  • เกิดรอยช้ำง่าย มีเลือดออกผิดปกติ มีจุดสีม่วงหรือสีแดงตามผิวหนัง
  • ปวดท้องอย่างรุนแรงและปวดลามไปถึงหลัง คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว
  • เจ็บหน้าอก ไอ หายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่ ไอเป็นเลือด
  • เจ็บ บวม รู้สึกอุ่น หรือมีรอยแดงที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน