Fentanyl (เฟนทานิล)

Fentanyl (เฟนทานิล)

Fentanyl (เฟนทานิล) เป็นยาระงับปวดประสิทธิภาพสูงในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) ใช้รักษาอาการปวดชนิดรุนแรง บรรเทาอาการปวดหลังผ่าตัด ปวดเรื้อรัง หรือปวดจากโรคมะเร็ง ออกฤทธิ์โดยเข้าไปจับกับตัวรับโอปิออยด์ (Opioid Receptors) ในระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมองและไขสันหลัง  

Fentanyl

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยบรรจุให้ยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดอยู่ในหมวดยาเสพติดให้โทษประเภท 2 สถานพยาบาลต้องมีใบอนุญาตในการใช้และจำหน่าย ประชาชนทั่วไปไม่สามารถหาซื้อจากร้านขายยาได้ ผู้ที่ผลิต นำเข้า ส่งออกยาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีใบอนุญาตนำผ่าน ต้องเสียค่าปรับและระวางโทษจำคุก

เกี่ยวกับ Fentanyl

กลุ่มยา โอปิออยด์ (Opioid)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาและป้องกันอาการปวดชนิดรุนแรง
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่และเด็ก
รูปแบบของยา แผ่นแปะผิวหนัง แผ่นฟิล์ม ยาพ่น ยาฉีด ยาอม

คำเตือนในการใช้ยา Fentanyl

  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากกำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ เพราะยังไม่ทราบว่ายาจะส่งผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากกำลังให้นมบุตร เพราะยังไม่ทราบว่ายาจะถูกส่งผ่านทางน้ำนมแล้วเป็นอันตรายต่อเด็กหรือไม่
  • ผู้ที่แพ้ยาหรือส่วนประกอบใด ๆ ในยา Fentanyl รวมถึงยาระงับปวดชนิดเสพติดอื่น ๆ ไม่ควรใช้ยานี้
  • ห้ามนำยาไปใช้ในทางที่ผิด เพราะอาจทำให้เกิดการเสพติด หรือใช้ยาเกินขนาด จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยา วิตามิน และอาหารเสริมที่กำลังใช้อยู่ หรือวางแผนจะใช้
  • หลังใช้ยา หากผู้ป่วยมีผิวหนังหรือปากเป็นสีเขียวคล้ำ มีอาการแน่นหน้าอก กล้ามเนื้อเกร็ง หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นแรง หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หรือหยุดหายใจ ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์ทันที
  • ห้ามขับรถหรือใช้เครื่องจักรระหว่างใช้ยา เพราะยาอาจทำให้เวียนศีรษะหรือง่วงซึมได้
  • หากต้องผ่าตัดหรือศัลยกรรมช่องปาก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยา Fentanyl อยู่
  • ยาอาจทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ลดลง ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงก่อนใช้ยา
  • ยาอาจทำให้ท้องผูก ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับการบริโภคอาหารก่อนใช้ยา
  • ตัวยามีส่วนประกอบของน้ำตาล 2 กรัม ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรศึกษาการใช้ยาอย่างละเอียดก่อนเสมอ

ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา

  • เคยดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก หรือคนในครอบครัวดื่ม
  • เคยใช้หรือกำลังใช้ยาเสพติด หรือคนในครอบครัวมีประวัติการใช้ยาเสพติด
  • เคยป่วยหรือได้รับบาดเจ็บทางสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง
  • เคยป่วยด้วยภาวะที่ทำให้เกิดแรงกดต่อกะโหลกศีรษะ
  • หัวใจเต้นช้า หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เกี่ยวกับหัวใจ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • มีอาการชัก หรือเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท
  • มีอาการประสาทหลอน
  • เป็นโรคตับ หรือโรคไต

ยา Fentanyl อาจเกิดปฏิกิริยาเมื่อใช้ร่วมกับยาบางชนิด ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาที่เคยใช้หรือกำลังใช้อยู่ โดยเฉพาะยาดังต่อไปนี้

  • ยาพาราเซตามอล
  • ยาลอราซีแพม (Lorazepam) 
  • ยาโซลพิเดม (Zolpidem)
  • ยาดูล็อกซีทีน (Duloxetine)
  • ยาไฮโดรมอร์โฟน (Hydromorphone)
  • ยาออกซิโคโดน (Oxycodone)
  • ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam)
  • ยาออนดาเซทรอน (Ondasetron)
  • ยาฟูโรซีไมด์ (Furosemide)
  • ยาพรีกาบาลิน (Pregabalin) 
  • ยากาบาเพนติน (Gabapentin)

ปริมาณการใช้ยา Fentanyl

ระงับอาการปวดจากโรคมะเร็ง

ผู้ใหญ่

  • ยาอมใต้กระพุ้งแก้มปริมาณ 200 ไมโครกรัม นาน 15 นาที/ครั้ง และให้ยาซ้ำได้หากยังมีอาการปวดหลังจากให้ยาครั้งแรก 15 นาที โดยปรับปริมาณตามการตอบสนองต่อยาไม่เกินปริมาณสูงสุดที่ 1.6 มิลลิกรัม/ครั้ง และไม่เกิน 4 ครั้ง/วัน
  • ยาเม็ดใต้กระพุ้งแก้มปริมาณ 100 ไมโครกรัม/ครั้ง อาจใช้ซ้ำหลังจากนั้น 30 นาทีถ้าจำเป็น และควรเว้นไว้ 2-4 ชั่วโมง ก่อนใช้ยาครั้งถัดไป
  • แผ่นฟิล์มแปะกระพุ้งแก้มปริมาณ 200 ไมโครกรัม/ครั้ง และควรเว้นไว้ 2 ชั่วโมง ก่อนใช้ยาครั้งถัดไป
  • ยาเม็ดอมใต้ลิ้นปริมาณ 100 ไมโครกรัม/ครั้ง อาจใช้ซ้ำหลังจากนั้น 30 นาทีถ้าจำเป็น และควรเว้นไว้ 2-4 ชั่วโมงก่อนใช้ยาครั้งถัดไป
  • ยาพ่นใต้ลิ้นปริมาณ 100 ไมโครกรัม/ครั้ง อาจใช้ซ้ำหลังจากนั้น 30 นาทีถ้าจำเป็น และควรเว้นไว้ 4 ชั่วโมงก่อนใช้ยาครั้งถัดไป
  • ยาพ่นทางจมูกปริมาณ 50-100 ไมโครกรัม/ครั้ง เลือกพ่นรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง อาจใช้ซ้ำหลังจากนั้น 10 นาทีถ้าจำเป็น และควรเว้นไว้ 2-4 ชั่วโมง ก่อนใช้ยาครั้งถัดไป โดยใช้ยาสูงสุดไม่เกินวันละ 4 ครั้ง

ผู้สูงอายุ

  • อาจลดปริมาณยาลงตามความเหมาะสม

กลุ่มอาการปวดเรื้อรังแบบควบคุมไม่ได้

ผู้ใหญ่

สำหรับผู้ป่วยที่เคยใช้ยากลุ่มโอปิออยด์มาก่อน

  • ให้ยาชนิดแผ่นแปะผิวหนังตามปริมาณการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ในครั้งก่อน โดยปริมาณยาอยู่ที่ 12-100 ไมโครกรัม/ชั่วโมง

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่เคยใช้ยากลุ่มโอปิออยด์มาก่อน

  • ยาชนิดแผ่นแปะผิวหนังปริมาณมากกว่าหรือเท่ากับ 25 ไมโครกรัม/ชั่วโมง

สำหรับผู้ป่วยที่เคยได้รับยาในกลุ่มโอปิออยด์ชนิดรุนแรงมาก่อน

  • ปริมาณยาขึ้นอยู่กับการใช้ยาในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา และให้ค่อย ๆ เลิกใช้ยาตัวเก่าระหว่างที่เริ่มใช้ยาชนิดแผ่นแปะผิวหนัง
  • หากผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยามากกว่า 100 ไมโครกรัม/ชั่วโมง ให้ใช้ยาชนิดแผ่นแปะผิวหนังมากกว่า 1 แผ่น และอาจต้องพิจารณาการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม หากเคยใช้ยามากกว่า 300 ไมโครกรัม/ชั่วโมง

ผู้สูงอายุ

  • อาจลดปริมาณยาลงตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนแผ่นแปะผิวหนังทุก ๆ 72 ชั่วโมง แปะยาแผ่นใหม่บนผิวหนังบริเวณอื่น และหลีกเลี่ยงการแปะซ้ำบริเวณเดิมติดกัน 2-3 วัน

การให้ยาก่อนให้ยาสลบ 

ผู้ใหญ่

  • ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อปริมาณ 50-100 ไมโครกรัม ก่อนให้ยาสลบ 30-60 นาที

ผู้สูงอายุ

  • อาจลดปริมาณยาลงตามความเหมาะสม

การให้ยาเสริมการใช้ยาสลบ

ผู้ใหญ่

สำหรับผู้ป่วยที่หายใจได้เอง

  • ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำปริมาณ 50-200 ไมโครกรัม ตามด้วยการให้ยาปริมาณ 50 ไมโครกรัมในอัตรา 0.05-0.08 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที สูงสุดไม่เกิน 200 ไมโครกรัม

สำหรับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ

  • ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำปริมาณ 300-3,500 ไมโครกรัม สูงสุด 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตามด้วยการให้ยาปริมาณ 100-200 ไมโครกรัมตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ปริมาณยาเริ่มต้นที่ 1 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที ภายใน 10 นาทีแรก หลังจากนั้นจึงให้ยาประมาณ 0.1 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที

เด็กอายุ 2-12 ปี

  • ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำปริมาณ 2-3 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตามด้วยการให้ยาปริมาณ 1 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ผู้สูงอายุ

  • อาจลดปริมาณยาลงตามความเหมาะสม

การใช้ยา Fentanyl

  • ใช้ยาในปริมาณที่ถูกต้องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามใช้ยาเกินปริมาณหรือนานเกินกว่าที่แพทย์กำหนด   
  • ห้ามหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้
  • ห้ามใช้ยาเกินวันละ 4 ครั้ง ควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการปวดมากกว่า 4 ครั้ง/วัน โดยแพทย์อาจปรับปริมาณยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ ให้แทน
  • ห้ามบริโภคเกรปฟรุตหรือดื่มน้ำเกรปฟรุตในระหว่างที่ใช้ยา
  • ห้ามนำยาไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่แพทย์ระบุ
  • หากผู้ป่วยใช้ยารูปแบบยาอม ควรปรึกษาแพทย์ถึงการรักษาสุขภาพฟัน เนื่องจากยาอมมีส่วนประกอบเป็นน้ำตาลที่อาจทำให้ฟันผุ หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับฟันได้
  • ระหว่างใช้ยา ผู้ป่วยอาจเวียนศีรษะหรือรู้สึกหน้ามืดหากลุกขึ้นยืนหลังจากนอนเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นอาการปกติเมื่อเริ่มต้นใช้ยา ควรค่อย ๆ ลุกจากเตียง และวางเท้าไว้ที่พื้น 4-5 นาที ก่อนลุกขึ้นยืน เพื่อช่วยลดอาการดังกล่าว
  • ควรเก็บยาที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส และเก็บยาให้พ้นจากแสง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Fentanyl

โดยทั่วไป ยา Fentanyl อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ เกิดการกดการหายใจ และมีเหงื่อออกมาก ซึ่งบางอาการอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา เพราะเมื่อร่างกายปรับตัวให้ชินกับยาแล้ว อาการดังกล่าวอาจหายไปเอง แต่หากยังมีอาการอย่างต่อเนื่อง จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยใด ๆ ควรไปปรึกษาแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีผลข้างเคียงดังต่อไปนี้ระหว่างใช้ยา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีสัญญาณของการใช้ยาเกินขนาด เช่น หายใจตื้น หายใจช้า
  • ไอ เจ็บคอ
  • ปากแห้ง กระหายน้ำ
  • ไม่อยากอาหาร
  • มีแผลหรือจุดสีขาวในปาก
  • ตาลึกโบ๋
  • ปัสสาวะน้อยลง
  • ปวดกล้ามเนื้อ หรือเป็นตะคริว
  • แน่นหน้าอก
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
  • เลือดออกหรือมีรอยช้ำเกิดขึ้นอย่างผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม อาการข้างต้นไม่ใช่ผลข้างเคียงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมหากมีข้อสงสัย และแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ