กรดโฟลิค (Folic Acid)
กรดโฟลิค (Folic Acid) เป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งที่ร่างกายต้องการ ซึ่งช่วยเสริมสร้างกระบวนการผลิตเซลล์ใหม่ให้มีสุขภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ตั้งครรภ์ กรดโฟลิคอาจช่วยป้องกันการแท้งบุตร ความพิการแต่กำเนิดเกี่ยวกับสมองและกระดูกสันหลังของทารก และอาจช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของ DNA ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นมะเร็งได้
ในบางครั้ง กรดโฟลิคก็ถูกใช้รักษาโรคโลหิตจางชนิดที่เกิดจากการขาดกรดโฟลิคร่วมกับยารักษาตัวอื่น ๆ ด้วย กรดโฟลิคเป็นสารที่สังเคราะห์จากวิตามินบี 9 หรือโฟเลตที่พบในอาหารหลายชนิด เช่น ตับ อาหารทะเล ไข่ ผักใบเขียว ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ แต่หากกำลังตั้งครรภ์ หรือบริโภคกรดโฟลิคไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สามารถบริโภคในรูปของอาหารเสริมได้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
เกี่ยวกับ Folic Acid
กลุ่มยา | อาหารเสริม |
ประเภทยา | ยาตามคำสั่งแพทย์ อาหารเสริม |
สรรพคุณ | เสริมสร้างกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกาย ป้องกันและรักษาอาการเจ็บป่วยจากการขาดกรดโฟลิค |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category A จากการศึกษาในมนุษย์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป โอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์มีน้อย และไม่พบผลข้างเคียงในทารกที่ได้รับนมแม่ของหญิงที่ได้รับกรดโฟลิก หากกำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ เพราะอาจต้องพิจารณาปรับยาให้รับประทานในปริมาณที่เหมาะสม |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาฉีด |
คำเตือนของการใช้กรดโฟลิค
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีประวัติแพ้กรดโฟลิค ไม่ควรใช้อาหารเสริมชนิดนี้
- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังป่วยด้วยปัญหาสุขภาพ เพื่อปรับยาให้รับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและไม่เกิดอันตราย เช่น เป็นโรคตับ โรคเกี่ยวกับไตหรือกำลังฟอกไต โรคลมชัก โรคโลหิตจางชนิดใด ๆ ภาวะการติดเชื้อต่าง ๆ เป็นผู้เสพติดสุรา
- แม้แพทย์จะจ่าย กรดโฟลิค รักษาโรคโลหิตจาง แต่กรดโฟลิคไม่สามารถรักษาทดแทนภาวะขาดวิตามินบี 12 ได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดอย่างถูกต้อง ไม่หยุดใช้ยาตัวใดโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามรับประทานยาเกินขนาด ใช้ยาตามปริมาณที่แพทย์กำหนด หรือตามปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายเท่านั้น
ปริมาณการใช้กรดโฟลิค
กรดโฟลิคมีปริมาณการใช้ที่แตกต่างกันออกไปตามโรคหรือภาวะที่ต้องการรักษา และดุลยพินิจของแพทย์และเภสัชกร ดังนี้
1. การรับประทานเป็นอาหารเสริม
ปริมาณกรดโฟลิคที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
- ผู้ใหญ่ เพศชาย 150–200 ไมโครกรัม/วัน และเพศหญิง 150–180 ไมโครกรัม/วัน
- ทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนด 50 ไมโครกรัม/วัน
- ทารกแรกเกิดอายุ 1–6 เดือน 25–35 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 1–3 ปี 150 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 4–8 ปี 200 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 9–13 ปี 300 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 14 ปี ขึ้นไป 400 ไมโครกรัม/วัน
2. การป้องกันความผิดปกติแต่กำเนิดในผู้ที่ตั้งครรภ์
กระทรวงสาธารณสุขและสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดแห่งประเทศไทยแนะนำการรับประทานโฟลิคในหญิงวัยเจริญพันธุ์ว่าควรเริ่มรับประทานก่อนวางแผนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือนและรับประทานอย่างต่อเนื่องในช่วงตั้งครรภ์ เพราะอาจช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิด รวมทั้งภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural Tube Defect) ซึ่งเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่เกิดกับท่อประสาทที่ไขสันหลังหรือสมองของทารก
- ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนตั้งครรภ์ที่ไม่มีประวัติของภาวะหลอดประสาทไม่ปิด 400 ไมโครกรัม/วัน หรือ 0.4 มิลลิกรัม/วัน ต่อเนื่องจนถึง 10–12 สัปดาห์หลังจากรอบประจำเดือนครั้งสุดท้าย
- ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ที่มีประวัติภาวะหลอดประสาทไม่ปิด 5 มิลลิกรัม/วัน เริ่มก่อนการตั้งครรภ์และต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 1
- ผู้ที่กำลังให้นมบุตร 500 ไมโครกรัม/วัน
3. การรักษาภาวะขาดกรดโฟลิค
การรักษาภาวะขาดกรดโฟลิคด้วยการรับประทานหรือการฉีดกรดโฟลิค มีปริมาณที่แตกต่างกันตามช่วงอายุ และสภาวะร่างกาย ดังนี่
- ผู้ใหญ่ชายและหญิง รับประทานหรือฉีดกรดโฟลิคเข้าเส้นเลือด 400–800 ไมโครกรัม/วัน
- ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร รับประทานหรือฉีดกรดโฟลิคเข้าเส้นเลือด เข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ชั้นผิวหนัง 800 ไมโครกรัม/วัน
- ทารก รับประทานหรือฉีดกรดโฟลิคเข้าเส้นเลือด เข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ชั้นผิวหนัง 0.1 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก รับประทานหรือฉีดกรดโฟลิคเข้าเส้นเลือด เข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ชั้นผิวหนัง 1 มิลลิกรัม/วัน
4. การรักษาภาวะโลหิตจางชนิด Megaloblastic Anemia
ภาวะโลหิตจางชนิด Megaloblastic Anemia เป็นภาวะที่เซลล์ในไขกระดูกไม่สามารถสร้าง DNA ได้ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดและทำให้เลือดจาง สาเหตุหนึ่งมาจากการขาดกรดโฟลิค
ผู้ใหญ่
- รับประทาน 5 มิลลิกรัม/วัน ต่อเนื่องไม่เกิน 4 เดือน กรณีที่มีผู้ป่วยมีภาวะผิดปกติในการดูดซึม อาจเพิ่มปริมาณได้ถึง 15 มิลลิกรัม/วัน
- กรณีที่ต้องรับประทานยาต่อเพื่อประคับประคองอาการ ให้รับประทานปริมาณ 5 มิลลิกรัม ทุก 1–7 วัน หรือรับประทานไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/วัน หากไม่ผู้ป่วยตอบสนองต่อยาอาจเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามดุลพินิจของแพทย์
- ผู้ป่วยที่อาการรุนแรง หรือมีปัญหาการดูดซึมยา ฉีดกรดโฟลิค 1 มิลลิกรัม/วัน เข้าเส้นเลือด เข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ชั้นผิวหนัง กรณีที่ต้องให้ยาต่อเพื่อประคับประคองอาการ ฉีดยาปริมาณ 0.4 มิลลิกรัม/วัน
5. การป้องกันภาวะการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงเรื้อรัง (Chronic Haemolytic States)
ผู้ใหญ่ รับประทาน 1–5 มิลลิกรัม/วัน ทุก 1–7 วัน ขึ้นอยู่กับโรค
ส่วนปริมาณการใช้ยาในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคและภาวะอื่น ๆ แพทย์จะพิจารณารักษาตามความเหมาะสมต่อไป
การใช้กรดโฟลิค
สำหรับผู้ป่วยที่ใช้กรดโฟลิคเพื่อการรักษา ควรใช้ยาให้ถูกต้องตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่รับประทานยาเกินกว่าปริมาณหรือยาวนานเกินกว่าที่แพทย์กำหนด ส่วนผู้ที่รับประทานกรดโฟลิคเป็นอาหารเสริม ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายตามฉลากที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์และคำแนะนำของเภสัชกร ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยประการใด ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเสมอ
การใช้กรดโฟลิคแบบรับประทาน ให้รับประทานพร้อมน้ำเปล่า 1 แก้ว และเก็บบรรจุภัณฑ์ไว้ในอุณหภูมิห้องบริเวณที่พ้นจากความชื้นและความร้อน หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้รอบเวลาถัดไปที่ต้องใช้ยา ให้ข้ามไปรับประทานยารอบถัดไปในปริมาณปกติ
หากรับประทานยาเกินขนาด ควรไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เมื่อพบสัญญาณของอาการที่เกิดจากการรับประทานยาเกินขนาด ดังต่อไปนี้
- รู้สึกชา หรือคันยุบยิบ
- เจ็บปวดบริเวณปากและลิ้น
- อ่อนล้าหมดแรง
- สับสน มึนงง
- กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ
นอกจากการเสริมกรดโฟลิคให้ร่างกายเพื่อสุขภาพที่ดี รักษาภาวะขาดกรดโฟลิค และโรคโลหิตจางแล้ว กรดโฟลิคอาจถูกนำไปใช้เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น อัลไซเมอร์ กระดูกพรุน ภาวะซึมเศร้า ปวดประสาท ปวดกล้ามเนื้อ จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น
ปฏิกิริยาระหว่างกรดโฟลิคกับยาอื่น
กรดโฟลิคอาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิด ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือลดประสิทธิภาพของยาลง
- เมโธเทรกเซท (Methotrexate)
- ไพริเมทามีน (Pyrimethamine)
- ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลีน (Tetracyclines) และไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin)
- ยารักษาอาการชัก เช่น เฟนิโทอิน (Phenytoin) คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) กรดวาลโปรอิก (Valproic Acid) และไพรมิโดน (Primidone)
- กลุ่มยาบาร์บิทูเรต (Barbiturates) เช่น ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) และเซโคบาร์บิทอล(Secobarbital
อย่างไรก็ตาม กรดโฟลิคอาจทำปฏิกิริยากับยาอื่นนอกจากที่ระบุข้างต้น จึงควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนเสมอหากใช้ยาหรืออาหารเสริมชนิดใดอยู่
ผลข้างเคียงจากการใช้กรดโฟลิค
การใช้ยากรดโฟลิคอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น
- เวียนศีรษะ
- ไม่อยากอาหาร
- เรอ ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร
- รู้สึกขมปาก
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
- รู้สึกซึมเศร้า
- รู้สึกตื่นเต้น กระสับกระส่าย
อย่างไรก็ตาม หากอาการป่วยเหล่านี้ไม่หายไป ไม่ดีขึ้น หรือทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
ส่วนผลข้างเคียงที่เป็นอาการแพ้ เช่น มีผดผื่นคัน หายใจลำบาก ลิ้น ปาก ลำคอ หรือใบหน้าบวม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเร่งด่วนเช่นกัน