กาบาเพนติน (Gabapentin)

กาบาเพนติน (Gabapentin)

กาบาเพนติน (Gabapentin) เป็นยารักษาอาการชัก ปลายประสาทอักเสบจากโรคงูสวัด และกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) โดยตัวยาจะเข้าไปจับกับตัวรับที่อยู่ในสารสื่อประสาท ทำให้อาการชักค่อย ๆ ทุเลาลง ซึ่งยานี้ต้องใช้ภายใต้คำสั่งและดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

Test results and medical therapy concept

เกี่ยวกับยา Gabapentin

กลุ่มยา ยากันชัก (Anticonvulsant)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการชัก ปลายประสาทอักเสบจากงูสวัด และกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ปัจจุบันยากาบาเพนตินยังไม่มีการระบุหมวดหมู่สำหรับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและความเสี่ยงในระหว่างตั้งครรภ์ที่เพียงพอ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา เพราะตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์และทารกหลังคลอดได้
รูปแบบของยา ยาชนิดรับประทาน

คำเตือนของการใช้ยา Gabapentin

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Gabapentin รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากป่วยหรือมีประวัติทางสุขภาพ เช่น โรคปอดหรือมีปัญหาในการหายใจ โรคตับ โรคไตหรือต้องฟอกไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า โรคความผิดปกติทางจิต มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย ติดสุราหรือสารเสพติด 
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคซึมเศร้าหรือเคยคิดสั้นหรือทำร้ายตัวเองควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา และญาติผู้ป่วยควรดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยานี้อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพจิต ผู้ป่วยบางรายอาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายได้
  • ผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุอาจไวต่อผลข้างเคียงจากยามากกว่าช่วงวัยอื่น โดยเด็กอาจมีพฤติกรรม จิตใจหรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนผู้สูงอายุอาจมีอาการบวมที่มือ เท้า หรือข้อเท้า หายใจลำบาก เวียนศีรษะ อวัยวะในร่างกายทำงานไม่ประสานกันจนเสี่ยงต่อการหกล้มได้    
  • หากมีความจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจปัสสาวะระหว่างใช้ยา Gabapentin ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน เพราะยาอาจทำให้ตรวจพบระดับโปรตีนในปัสสาวะและผลการตรวจคาดเคลื่อนได้ 
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพราะตัวยาอาจทำให้ง่วงซึม เวียนศีรษะ หรือมองเห็นเป็นภาพเบลอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้
  • สตรีมีครรภ์และผู้ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Gabapentin เพราะตัวยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และทารกหลังคลอด

ปริมาณการใช้ยา Gabapentin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคลมชัก
ตัวอย่างการใช้ยา Gabapentin เพื่อรักษาโรคลมชัก 

เด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไปและผู้ใหญ่ สำหรับการรักษาเดี่ยวหรือการรักษาเสริม ให้เริ่มรับประทานยาความเข้มข้นตามที่แพทย์แนะนำ ในวันที่ 1 ปริมาณ 300 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน วันที่ 2 ปริมาณ 300 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน และวันที่ 3 ปริมาณ 300 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/วัน หรือรับประทานยาในวันที่ 1 ปริมาณ 300 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/วัน จากนั้นเพิ่มปริมาณยาอีก 300 มิลลิกรัม ทุก 2–3 วันตามการตอบสนองและความทนต่อยาของผู้ป่วย  

ปริมาณยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาหรือควบคุมอาการจะอยู่ที่วันละ 900–3,600 มิลลิกรัม โดยระยะห่างของการรับประทานยาแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง

เด็กอายุ 3–11 ปี สำหรับการรักษาเสริม ให้เริ่มรับประทานยาในปริมาณ 10–15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งรับประทาน 3 ครั้ง/วัน โดยปรับความเข้มข้นของยาประมาณ 3 วันจนได้ปริมาณยาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม 

ปริมาณยาต่อเนื่องสำหรับเด็กอายุ 3–4 ปี จะอยู่ที่ 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งรับประทาน 3 ครั้ง/วัน ส่วนเด็กอายุ 5–11 ปี จะอยู่ที่ 25–35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งรับประทาน 3 ครั้งต่อวัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

อาการปวดปลายประสาท
ตัวอย่างการใช้ยา Gabapentin เพื่อรักษาอาการปวดปลายประสาทหลังจากโรคเบาหวาน โรคงูสวัด หรือโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia)

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาความเข้มข้นตามที่แพทย์แนะนำ ในวันที่ 1 ปริมาณ 300 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน วันที่ 2 ปริมาณ 300 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน และวันที่ 3 ปริมาณ 300 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/วัน หรืออาจเริ่มรับประทานยาในปริมาณ 900 มิลลิกรัม แบ่งรับประทาน 3 ครั้ง/วัน จากนั้นเพิ่มปริมาณยาอีก 300 มิลลิกรัม ทุก 2–3 วันตามการตอบสนองและความทนต่อยาของผู้ป่วย ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 3,600 มิลลิกรัม/วัน   

อาการปวดปลายประสาทจากโรคงูสวัด
ตัวอย่างการใช้ยา Gabapentin เพื่อรักษาอาการปวดปลายประสาทจากโรคงูสวัด 

ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาชนิดเพิ่มระยะเวลาคงอยู่ในกระเพาะอาหารความเข้มข้นตามที่แพทย์แนะนำ ในวันที่ 1 ปริมาณ 300 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน วันที่ 2 ปริมาณ 600 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน วันที่ 3–6 ปริมาณ 900 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน วันที่ 7–10 ปริมาณ 1,200 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน วันที่ 11–14 ปริมาณ 1,500 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน และวันที่ 15 ปริมาณ 1,800 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน 

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข
ตัวอย่างการใช้ยา Gabapentin เพื่อรักษากลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข

ผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณ 600 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน

การใช้ยา Gabapentin

ผู้ป่วยควรใช้ยา Gabapentin ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ปรับปริมาณยาหรือระยะเวลาในการใช้ยาด้วยตนเอง และในระหว่างการใช้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้วย เนื่องจากยาดังกล่าวอาจส่งผลต่อสุขภาพจิต ทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง หรือก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้

ห้ามผู้ป่วยโรคลมชักหยุดยาโดยพลการ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะการหยุดยาจะทำให้อาการชักเพิ่มขึ้น และควรพกเอกสารสำคัญเช่นบัตรประชาชนหรือเอกสารที่ระบุหมายเลขติดต่อฉุกเฉินเมื่ออาการกำเริบ ในกรณีที่อาการชักกำเริบ ผู้เข้าช่วยเหลือจะได้รับมืออย่างทันท่วงที

หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติโดยไม่เพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดและเกิดอาการที่รุนแรงตามมา

ปฏิกิริยาระหว่างยา Gabapentin กับยาอื่น

หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาที่แพทย์สั่งจ่าย ยาหาซื้อได้เอง วิตามิน สมุนไพรบางชนิด และผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เนื่องจากยา Gabapentin อาจทำปฏิกิริยากับยาหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จนทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงหรือก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างง่วงซึม เวียนศีรษะ หรือหายใจช้ากว่าปกติ ยกตัวอย่างเช่น

  • ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) อย่างยาโคเดอีน (Codeine) และยาไฮโดรโคโดน (Hydrocodone)
  • ยานอนหลับ ยารักษาอาการวิตกกังวลหรือชักอย่างยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) และยาลอราซีแพม (Lorazepam) 
  • ยาแก้แพ้หรือยาแก้หวัดอย่างยาเซทิริซีน (Cetirizine) และยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) 
  • ยาคลายกล้ามเนื้ออย่างคาริโซโพรดอล (Carisoprodol) และยาไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine)  

นอกจากนี้ควรรับประทานยาลดกรดก่อนยา Gabapentin อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะยาลดกรดอาจขัดขวางการดูดซึมยานี้ ทำให้ดูดซึมยานี้เข้าสู่ร่างกายได้ลดลง   

ผลข้างเคียงของยา Gabapentin

ยา Gabapentin อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยมักเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมและสุขภาพจิต เช่น มึนงง กรอกตาผิดปกติ ตาพร่ามัว มีพฤติกรรมก้าวร้าว วิตกกังวล ซึมเศร้า มีปัญหาเรื่องการควบคุมสมาธิ อารมณ์แปรปรวน ขาดความเชื่อมั่น ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่

โดยอาการเหล่านี้เป็นอาการที่ญาติหรือผู้ดูแลควรสังเกตอย่างใกล้ชิด เพราะหากเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อยหลังการใช้ยา เช่น ไอ หนาวสั่น เจ็บหน้าอก เป็นไข้ แขนและขาบวม สับสน หายใจถี่ เจ็บคอ มีจ้ำเลือดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออ่อนเพลียมากผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วนเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น