โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis)

ความหมาย โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis)

Gastroenteritis คือ อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต อาการที่พบได้ทั่วไป คือ ท้องเสียและอาเจียน ซึ่งเชื้ออาจแพร่กระจายผ่านอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อน โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจรักษาบรรเทาอาการจนดีขึ้นได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ทุเลาลงหรือทวีความรุนแรงขึ้น อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

Gastroenteritis

อาการของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ

อาการหลักของ Gastroenteritis คือ ท้องเสีย เพราะเมื่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กติดเชื้อจนไม่สามารถกักเก็บของเหลวไว้ได้ ร่างกายจะขับถ่ายอุจจาระออกมาในลักษณะถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ โดยอาการท้องเสียและอาการอื่น ๆ มักปรากฏขึ้นภายใน 1 วันหลังจากติดเชื้อ และอาจหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่อาการอาจยังคงอยู่นานกว่านั้นในบางกรณี

อาการอื่น ๆ ของ Gastroenteritis ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาเจียนพุ่งอย่างรุนแรง
  • ไม่อยากอาหาร
  • ปวดเกร็งท้อง และมีเสียงโกรกกราก
  • รู้สึกป่วย เป็นไข้อ่อน ๆ
  • เหนื่อยล้า อ่อนแรง
  • ปวดหัว หรือปวดกล้ามเนื้อร่วมกับอาการอื่น ๆ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที หากอาการป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือหากพบอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

ผู้ใหญ่

  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะน้อยลงหรือมีสีเข้มกว่าปกติ ผิวแห้ง ปากแห้ง แก้มตอบและตาลึกโบ๋ รวมถึงเวียนศีรษะและไม่รู้สึกตัว เป็นต้น
  • ถ่ายเป็นเลือด
  • อาเจียนอยู่ตลอดเวลา และไม่สามารถรับประทานของเหลวใด ๆ ได้
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต หรือมีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง

เด็ก

  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ กระสับกระส่าย เซื่องซึม ตัวซีด มือและเท้าเย็น
  • มีเลือดปนในอุจจาระ หรือท้องเสียนานเกิน 1 สัปดาห์
  • อาเจียนเป็นสีเขียว อาเจียนต่อเนื่องนานกว่า 3 วัน หรืออาเจียนอยู่ตลอดเวลา
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หายใจตื้นหรือหายใจถี่ คอแข็ง กระหม่อมศีรษะโป่งตึงหรือบุ๋มลง
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง

ทารก

  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา กระหม่อมบุ๋มลง หรือผ้าอ้อมแห้งนานกว่า 6 ชั่วโมง เป็นต้น
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • แสดงอาการไม่สบายตัว ไม่สบาย หรือเจ็บปวด
  • เซื่องซึม ง่วงซึม หรือไม่มีการตอบสนอง
  • ท้องเสีย หรือมีเลือดปนในอุจจาระ
  • อาเจียนบ่อยติดต่อกันหลายชั่วโมง

สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ

สาเหตุของโรค Gastroenteritis มักเกิดจากการรับเชื้อต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายจนเกิดการติดเชื้อในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก เช่น

  • เชื้อไวรัส เช่น โนโรไวรัส (Norovirus) และโรทาไวรัส (Rotavirus)
  • เชื้อแบคทีเรีย เช่น อีโคไล (E. Coli) ซาลโมเนลลา (Salmonella) และชิเกลลา (Shigella)
  • ปรสิต เช่น ไกอาเดีย (Giardia) และคริปโตสปอริเดีย (Cryptosporidia)

ซึ่งการติดเชื้อดังกล่าวอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • บริโภคอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอาหารทะเล ปลาดิบ หรือปลาที่ปรุงไม่สุกดี
  • สัมผัสวัตถุหรือพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ใช้เครื่องครัวหรือของใช้ภายในบ้านที่สกปรก
  • ไม่ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ หรือหลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก
  • ใกล้ชิดหรือได้รับเชื้อจากผู้ป่วย Gastroenteritis เพราะลมหายใจของผู้ป่วยอาจปนเปื้อนเชื้อจากอาเจียนออกมาด้วย ซึ่งเชื้อสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้

โรค Gastroenteritis อาจเกิดได้ในคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก นักเรียนที่อาศัยอยู่ในหอพัก บุคลากรทางทหาร และนักท่องเที่ยว ทารกที่ระบบภูมิคุ้มกันยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงจากอาการป่วยและการใช้ยา

การวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ

ในเบื้องต้น แพทย์อาจสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าอาการที่ปรากฏไม่ได้มีสาเหตุมาจากภาวะหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ของผู้ป่วย แล้วจึงตรวจหาสัญญาณของภาวะขาดน้ำ และพิจารณาความถี่ของอาการท้องเสียหรืออาเจียน

เนื่องจากอาการต่าง ๆ ที่ตรวจพบอาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะเลือดเป็นพิษ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ แพทย์จึงอาจต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การตรวจตัวอย่างอุจจาระ เพื่อระบุเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรค Gastroenteritis เป็นต้น

การรักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับโรค Gastroenteritis ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส เพราะโดยทั่วไปร่างกายของผู้ป่วยมักฟื้นตัวจากอาการต่าง ๆ และหายดีได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากสาเหตุของโรค Gastroenteritis มาจากการติดเชื้อชนิดอื่น ผู้ป่วยอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิต

ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำ ๆ หรือดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุที่สูญเสียจากอาการท้องเสีย และป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ
  • รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น กล้วย มันฝรั่ง ขนมปัง ข้าวต้ม ซุป และโจ๊ก
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และคาเฟอีน จนกว่าร่างกายจะฟื้นตัว
  • ใช้ยารักษา เช่น ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ หรือยาเมโทโคลพราไมด์เพื่อรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

นอกจากนี้ เด็กและทารกอาจต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ดังนี้

  • ดูแลให้เด็กดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยหลีกเลี่ยงน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ เพราะอาจทำให้ท้องเสียมากขึ้นได้ และทารกควรได้รับอาหาร นมแม่ และนมอื่น ๆ ตามปกติ
  • ให้เด็กรับประทานอาหารเมื่อหิว โดยเริ่มจากให้อาหารปริมาณน้อยก่อน

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนใช้ยารักษาทุกครั้ง และหากรักษาอาการด้วยตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ

หากไม่ได้รับการรักษาดูแลอาการอย่างเหมาะสม Gastroenteritis อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ได้

  • ภาวะขาดน้ำและระดับเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล ทำให้มีอาการ เช่น กระหายน้ำรุนแรง อ่อนเพลีย ตาโหลหรือตาลึก ไม่มีเหงื่อ ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม
  • ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนมหรือแพ้น้ำตาลแล็กโทส ทำให้มีอาการ เช่น ท้องอืด ปวดท้อง และถ่ายเหลวหลังจากดื่มนม
  • โรคลำไส้แปรปรวน ทำให้มีอาการ เช่น แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือปวดท้องมากหลังรับประทานอาหาร
  • การติดเชื้อแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก ข้อต่อ หรือเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง
  • กลุ่มอาการไตวายและเม็ดเลือดแดงแตก (Haemolytic Uraemic Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงที่อาจทำให้มีอาการโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ และไตวายได้

นอกจากนี้ โรค Gastroenteritis อาจทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมยาบางชนิดลดลงได้ ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการป่วยของตนก่อนใช้ยาทุกครั้ง

การป้องกันโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ

เนื่องจากโรค Gastroenteritis อาจแพร่กระจายได้ง่าย การป้องกันตนเองและคนใกล้ชิดจากการป่วยติดเชื้อจึงอาจทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งหลังไอ จาม เข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนรับประทานอาหาร
  • หากมีผู้ป่วย Gastroenteritis ในบ้าน ควรทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ ในบ้านเสมอ อาจใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย โดยเฉพาะในห้องน้ำและบริเวณโดยรอบจากการท้องเสียและอาเจียน
  • ซักผ้าบ่อยครั้ง โดยแยกเสื้อผ้าและผ้าเช็ดตัวของผู้ป่วยออกจากผ้าอื่น ๆ
  • ล้างอาหารและผักให้สะอาด ปรุงเนื้อสัตว์และไข่ให้สุกดีก่อนรับประทานทุกครั้ง และหากรับประทานอาหารเหลือ ควรเก็บอาหารใส่ช่องแช่แข็งทันที
  • ห้ามรับประทานปลาหรือเนื้อสัตว์ดิบ และห้ามรับประทานอาหารในภาชนะที่ใช้ใส่เนื้อสัตว์ดิบ
  • หากเดินทางไปสถานที่ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ห้ามดื่มน้ำจากแม่น้ำหรือแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ผ่านการต้มมาก่อน และควรดื่มน้ำบรรจุขวดที่ไม่ใส่น้ำแข็งทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ผ้าเช็ดตัว ช้อนส้อม และเครื่องใช้ในครัวอื่น ๆ ร่วมกับผู้ป่วย
  • สำหรับผู้ป่วย Gastroenteritis ควรหยุดงาน งดไปโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กหลังจากติดเชื้อ 2 วัน และควรหลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมผู้ป่วยอื่น ๆ ที่โรงพยาบาลก่อน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น