ความหมาย Gastroparesis
Gastroparesis หรือ ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้าเป็นภาวะเรื้อรังที่ใช้เรียกเมื่อกระเพาะอาหารไม่สามารถย่อยอาหารได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก กรดไหลย้อน คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืดได้ โดยสาเหตุของ Gastroparesis นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย
ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้าอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยา การผ่าตัด หรือการติดอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยขึ้นอยู่ความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายตามมาได้
อาการของ Gastroparesis
ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้าอาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด อิ่มเร็ว คลื่นไส้ อาเจียนซึ่งมักอาเจียนเอาอาหารที่ไม่สามารถย่อยได้ออกมา เบื่ออาหาร น้ำหนักลด แสบร้อนกลางอก และกรดไหลย้อน เป็นต้น
สาเหตุของ Gastroparesis
โดยปกติแล้ว กล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหารนั้นถูกควบคุมด้วยเส้นประสาทที่ชื่อ Vagus โดยเส้นประสาทเส้นนี้จะคอยสั่งกล้ามเนื้อให้บีบตัวเพื่อเคลื่อนย้ายอาหารไปยังลำไส้เล็กเพื่อย่อยอาหาร ดังนั้น เมื่อเส้นประสาท Vagus ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตามจึงเป็นเหตุให้กระเพาะอาหารบีบตัวช้า ทำให้อาหารไม่ย่อย และมีอาหารตกค้างอยู่ในกระเพาะจนทำให้เกิดอาการในที่สุด
โดย Gastroparesis มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมาเป็นเวลานาน แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อไวรัส ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเสพติดและยาต้านเศร้า ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ภาวะแทรกซ้อนจากโรคแอมีลอยโดซิส (Amyloidosis) ซึ่งเป็นโรคสารโปรตีนส่วนเกินสะสม โรคหนังแข็ง (Scleroderma) ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรืออาจเกิดจากโรคระบบประสาทชนิดอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ เพศหญิงอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวสูงกว่าเพศชาย
การวินิจฉัย Gastroparesis
ในเบื้องต้นแพทย์อาจซักประวัติการเจ็บป่วย อาการที่พบ และทำการตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติ โดยหลังจากนั้นแพทย์อาจใช้วิธีการต่อไปนี้เพื่อวินิจฉัยโรค
-
ตรวจเลือด
แพทย์อาจทำการตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุของโรค รวมทั้งวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่เป็นอาการของโรคเบาหวาน
-
ตรวจการย่อยของกระเพาะอาหาร
วิธีการนี้แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่ผสมสารกัมมันตรังสีปริมาณต่ำเข้าไปด้วย เมื่อรับประทานเข้าไป แพทย์จะทำการสังเกตการเคลื่อนไหวของสารกัมมันตรังสีด้วยเครื่องแสกน ก่อนการตรวจด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยควรงดการรับประทานยาช่วยย่อยและแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการตรวจหากกำลังใช้ยานี้อยู่
-
ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper Gastrointestinal Endoscopy)
การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นเป็นการสอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กและบางเข้าไปในร่างกาย เพื่อตรวจสอบความผิดปกติภายในกระเพาะอาหารที่ทำให้เกิดภาวะนี้ อย่างแผลในกระเพาะอาหาร และภาวะไพลอรัสตีบ (Pyloric stenosis) ที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อุดตัน นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีบันทึกภาพแบบอื่น อย่างการให้ผู้ป่วยกลืนแคปซูลที่มีกล้องขนาดเล็กเพื่อใช้ในการบันทึกภาพกระเพาะอาหาร
-
แสดงภาพกระเพาะอาหาร
แพทย์อาจใช้คลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์ในการแสดงภาพของไตและถุงน้ำดีที่อาจเป็นสาเหตุของอาการ ในบางกรณีแพทย์อาจใช้การตรวจภาพกระเพาะอาหารด้วยการให้ผู้ป่วยดื่มน้ำที่ผสมแป้งแบเรียมหรือสารทึบแสง และใช้เครื่องเอกซเรย์ในการแสดงภาพภายในกระเพาะ
การรักษา Gastroparesis
ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้าอาจรักษาได้ด้วยหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค ดังนี้
-
เปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมการรับประทาน
ผู้ป่วยจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการรับประทานรวมทั้งเลือกอาหารให้เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย นิ่ม ไม่เหนียว ไม่แข็ง กลืนง่าย และมีประโยชน์ รับประทานผักปรุงสุกและผลไม้สุก เลือกอาหารไขมันต่ำ ดื่มน้ำวันละ 1-1.5 ลิตร เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน แบ่งการรับประทานเป็นมือเล็ก ๆ หลายมื้อ เลี่ยงผักผลไม้เส้นใยสูง เลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หลังรับประทานควรเคลื่อนไหวเบา ๆ อย่างการเดิน ห้ามนอนหลังจากรับประทานเสร็จอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานวิตามินรวม ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับชนิดหรือยี่ห้อของวิตามินว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิดปกติหรือไม่
โดยแพทย์หรือนักโภชนาการอาจแนะนำให้ผู้ป่วยภาวะ Gastroparesis รับประทานอาหารประเภทต่อไปนี้ ข้าว พาสต้า ขนมปังขัดสี มันฝรั่งปอกเปลือก เนื้อสัตว์ไม่ติดมันที่ไม่ปรุงด้วยการทอด ไข่ไก่ เต้าหู้ ปลาทูน่า กุ้ง หอย น้ำผักผลไม้ ซุปผัก กล้วย เห็ดปรุงสุก แครอทปรุงสุก นม และโยเกิร์ต อย่างไรก็ตาม หากทราบว่าตนเองมีโรคอื่น ๆ หรือแพ้อาหารเหล่านี้ ควรหลีกเลี่ยงและปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อขอคำแนะนำ
-
รักษาด้วยยา
ยาที่ใช้รักษาภาวะ Gastroparesis อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาช่วยย่อย อย่างยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือยาดอมเพอริโดน (Domperidone) โดยยาช่วยย่อยเข้าไปกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะให้เกิดการบีบตัว ส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ปกติขึ้น ยากลุ่มที่สองเป็นยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน อย่างยาโปรคลอเปอราซีน (Prochlorperazine) และยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ และปฏิบัติตามฉลากยาอย่างเคร่งครัด
-
ผ่าตัด
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนเข้ารับการผ่าตัดหากอาการไม่ตอบสนองต่อยา โดยการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะ Gastroparesis มี 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้
วิธีแรกเป็นการผ่าตัดเพื่อนำ Gastric stimulator หรือเครื่องกระตุ้นกระเพาะอาหารเข้าไปติดไว้ในช่องท้อง โดยอุปกรณ์ชนิดนี้จะคอยปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนและกระตุ้นการย่อยอาหาร ส่วนวิธีที่สอง คือ Gastric bypass ซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะและเป็นวิธีเดียวกันกับที่ใช้รักษาโรคอ้วน มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมปริมาณอาหารที่ผู้ป่วยได้รับ
-
Per Oral Pyloromyotomy (POP)
POP เป็นวิธีการรักษาภาวะ Gastroparesis ด้วยการส่องกล้องผ่านทางปากเข้าไปยังกระเพาะเพื่อตัดไพลอรัสหรือช่วงรอยต่อของกระเพาะส่วนล่างและลำไส้เล็ก ซึ่งช่วยให้อาหารเคลื่อนไปยังลำไส้เล็กและเข้าสู่กระบวนการย่อยได้ง่ายขึ้น
-
ให้อาหารผ่านสายยาง
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงแพทย์มักทำการให้อาหารทางสายยางเป็นการชั่วคราว โดยวิธีการนี้แพทย์จะต้องเจาะหน้าท้องผู้ป่วยเพื่อสอดท่ออาหารเข้าไปยังลำไส้เล็กโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องผ่านกระเพาะอาหาร
-
ฉีดสารอาหารเข้าหลอดเลือดดำ
แพทย์อาจใช้วิธีนี้เมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเช่นกัน โดยจะทำการฉีดสารอาหารเข้ากระแสเลือดผ่านทางหลอดเลือดดำ
ภาวะแทรกซ้อนของ Gastroparesis
ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้าอาจทำให้ภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารจากการหมักหมมของอาหารที่ยังไม่ย่อย เกิด Bezoar หรือก้อนแข็งอุดตันกระเพาะอาหาร ภาวะขาดน้ำ ภาวะทุพโภชนา และยังส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้ อาการของภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้ายังอาจรบกวนการดำเนินชีวิตอีกด้วย
การป้องกัน Gastroparesis
เนื่องจากยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะนี้ แพทย์จึงไม่สามารถระบุวิธีการป้องกันได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมีปัจจัยบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงของภาวะนี้ขึ้น อย่างโรค ผลข้างเคียงจากการรักษา หรือพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ ดังนั้น จึงควรดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าว รวมถึงความเจ็บป่วยอื่น ๆ